- ภาวะตลาดทั่วไป
การซื้อแฟรนไชส์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจทางเลือกสำหรับผู้ที่มีเงินทุนและสามารถสร้างรายได้เร็วกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง การเปิดร้านค้าขนาดเล็กซึ่งไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากนี้ อาจสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างคาดไม่ถึง อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างงานให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดีทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ในไต้หวัน มีอยู่เป็นจำนวนมากในหลายธุรกิจ ทั้ง ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านชานมไข่มุก ร้านขายยา ร้านซักผ้าแบบไร้พนักงาน หรือร้านทำผม เป็นต้น
ในหลายปีที่ผ่านมา การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก ทำให้แนวโน้มของธุรกิจส่วนใหญ่จึงค่อนข้างอิ่มตัว อย่างไรก็ดี ธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทร้านอาหารและเครื่องดื่มยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 4-5 มาโดยตลอด ยกเว้นในช่วงปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้ว่าในไต้หวันจะไม่มีการสั่งล็อคดาวน์ แต่รัฐบาลก็มีคำสั่งห้ามรับประทานอาหารภายในร้าน ประกอบกับชาวไต้หวันส่วนใหญ่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาด ทำให้มูลค่าการค้าของร้านอาหารและเครื่องดื่มของไต้หวันมีการหดตัวร้อยละ 4.19 และ 6.37 ตามลำดับ ในปี 2565 สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้การบริโภคภายในประเทศมีการขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าการค้าปลีกและค้าส่งของไต้หวันกลับมาอยู่ในภาวะคึกคักอีกครั้ง มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.43 และ 4.42 ตามลำดับ และยังมีการขยายตัวมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ปี 2561) มากถึงร้อยละ 17.10 และ 27.24 ในขณะที่มูลค่าการค้าของร้านอาหารและเครื่องดื่มในปี 2565 มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 18.86 จากปี 2564 และขยายตัวร้อยละ 17.35 เมื่อเทียบกับปี 2561 ด้วย (ตารางที่ 1)
ตารางที่ 1 : มูลค่าการค้าปลีกและส่งของไต้หวันในช่วงปี 2561-2565
มูลค่า : ล้านบาท
2561 | 2562 | 2563 | 2564 | 2565 | ||||||
มูลค่า | +/-(%) | มูลค่า | +/-(%) | มูลค่า | +/-(%) | มูลค่า | +/-(%) | มูลค่า | +/-(%) | |
มูลค่ารวม | 16,658,236 | 4.27 | 16,404,731 | -0.51 | 16,658,236 | 1.55 | 18,565,451 | 11.45 | 19,633,001 | 5.75 |
ค้าส่ง | 11,522,124 | 4.93 | 11,274,490 | -2.15 | 11,557,287 | 2.51 | 13,380,549 | 15.78 | 13,971,444 | 4.42 |
ค้าปลีก | 4,110,803 | 2.21 | 4,237,508 | 3.08 | 4,245,631 | 0.19 | 4,384,096 | 3.26 | 4,709,699 | 7.43 |
ร้านอาหารและเครื่องดื่ม | 855,213 | 5.43 | 892,733 | 4.38 | 855,318 | -4.19 | 800,806 | -6.37 | 951,858 | 18.86 |
ที่มา : สำนักสถิติ กระทรวงเศรษฐกิจไต้หวัน
ตารางที่ 2 : จำนวนบริษัท/ร้านเชนสโตร์และแฟรนไชส์ในไต้หวันในช่วงปี 2558-2565
หน่วย : แห่ง
2558 | 2559 | 2560 | 2561 | 2562 | 2563 | 2564 | 2565 | 65:64 | ||
*General | บริษัท | 101 | 111 | 116 | 121 | 117 | 124 | 127 | 129 | 1.6% |
Merchandise | จำนวนร้าน | 12,610 | 12,860 | 13,256 | 13,817 | 14,413 | 15,198 | 15,825 | 17,735 | 12.1% |
บริหารเอง | 3,779 | 7,893 | 4,175 | 4,224 | 4,249 | 4,482 | 4,320 | 5,863 | 35.7% | |
ซื้อแฟรนไชส์ | 8,831 | 7,967 | 9,087 | 9,593 | 9,593 | 10,716 | 11,505 | 11,872 | 3.2% | |
**General | บริษัท | 963 | 998 | 1,039 | 1,109 | 1,112 | 1,130 | 1,118 | 1,129 | 1.0% |
Retails | จำนวนร้าน | 29,556 | 29,904 | 30,365 | 32,114 | 30,758 | 33,682 | 34,097 | 35,291 | 3.5% |
บริหารเอง | 24,100 | 24,632 | 24,964 | 26,396 | 25,229 | 26,304 | 25,629 | 26,380 | 2.9% | |
ซื้อแฟรนไชส์ | 5,456 | 5,272 | 5,401 | 5,718 | 5,529 | 7,378 | 8,464 | 8,911 | 5.3% | |
ร้านอาหาร | บริษัท | 905 | 973 | 970 | 998 | 104 | 980 | 980 | 1,001 | 2.1% |
และเครื่องดื่ม | จำนวนร้าน | 31,038 | 30,820 | 32,810 | 34,158 | 34,552 | 35,340 | 36,324 | 36,562 | 0.7% |
บริหารเอง | 7,811 | 8,218 | 7,998 | 8,454 | 8,883 | 9,063 | 9,403 | 9,681 | 3.0% | |
ซื้อแฟรนไชส์ | 23,227 | 22,602 | 24,812 | 25,704 | 25,669 | 26,277 | 26,921 | 26,881 | -0.1% | |
ธุรกิจบริการ | บริษัท | 630 | 657 | 656 | 652 | 650 | 654 | 647 | 661 | 2.2% |
จำนวนร้าน | 29,543 | 28,824 | 28,528 | 29,712 | 28,237 | 28,938 | 30,169 | 31,574 | 4.7% | |
บริหารเอง | 8,428 | 9,578 | 9,592 | 10,643 | 10,305 | 12,158 | 12,339 | 13,303 | 7.8% | |
ซื้อแฟรนไชส์ | 21,115 | 19,246 | 18,936 | 19,069 | 17,932 | 16,780 | 17,830 | 18,271 | 2.5% | |
รวม | บริษัท | 2,599 | 2,739 | 2,781 | 2,880 | 2,923 | 2,888 | 2,872 | 2,920 | 1.7% |
จำนวนร้าน | 102,747 | 102,408 | 104,959 | 109,801 | 107,943 | 113,158 | 116,415 | 121,162 | 4.1% | |
บริหารเอง | 44,118 | 47,321 | 46,730 | 49,717 | 48,649 | 52,007 | 51,691 | 55,227 | 6.8% | |
ซื้อแฟรนไชส์ | 58,629 | 55,087 | 58,230 | 60,084 | 59,294 | 61,151 | 64,724 | 65,935 | 1.9% |
ที่มา: Taiwan Chain Stores and Franchise Association
* ห้าง/ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่การจำหน่ายมีสินค้าทุกประเภท เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
** ร้านค้าปลีกทั่วไปที่เน้นการจำหน่ายสินค้าเฉพาะบางประเภท
จากข้อมูลใน Taiwan Chain Store Almanac 2023 ที่จัดทำโดย Taiwan Chain Stores and Franchise Association ชี้ว่า ในปี 2565 ธุรกิจที่มีจำนวนร้านแฟรนไชส์มากที่สุดในไต้หวัน คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือร้านค้าปลีกและธุรกิจบริการ โดยมีจำนวนร้านและสาขาแฟรนไชส์รวมทั้งสิ้น 121,162 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.1 ในจำนวนนี้ เป็นร้านซึ่งถือครองโดยเจ้าของแบรนด์เองทางเจ้าของแบรนด์เป็นผู้บริหารโดยตรง 55,227 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.6 ของร้าน/สาขาแฟรนไชส์ทั้งหมด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากปี 2565 ในขณะที่ร้านที่มาจากการซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร มีจำนวน 65,935 แห่ง (สัดส่วนร้อยละ 54.4 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 จากปีก่อน) การที่จำนวนร้านและสาขาของแฟรนไชส์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่สูงกว่าจำนวนบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์แสดงให้เห็นว่า แบรนด์ส่วนใหญ่ของไต้หวัน ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลในการเปิดร้าน ทั้งในส่วนของคุณภาพและปริมาณ เพื่อการเติบโตของแบรนด์อย่างมีคุณภาพ โดยมิได้เน้นเพียงการขยายสาขาให้มากๆ เพื่อเพิ่มรายได้จากค่าแฟรนไชส์เท่านั้น
- แนวโน้มตลาด
แม้ธุรกิจแฟรนไชส์ โดยเฉพาะในส่วนของร้านอาหารจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตามตารางที่ 2 แล้ว กลับพบว่า จำนวนร้านแฟรนไชส์ในไต้หวันยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 โดยในปี 2565 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากปี 2564 และเป็นการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 40.6 เมื่อเทียบกับปี 2558 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดแฟรนไชส์ไต้หวัน โดยมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญและน่าสนใจของตลาดเชนสโตร์และแฟรนไชส์ไต้หวันในปี 2565 ดังนี้
- เชนโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ใช้ระบบ Electronic Payment มาสร้างระบบนิเวศทางการตลาด
เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ PXMart และ Family Mart ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ในตลาดได้ประกาศจับมือร่วมกันในการนำระบบ E-Payment ของตนเอง คือ PXPay และ +Pay ของทั้งสองฝ่ายให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ทำให้ในปี 2565 เหล่าโมเดิร์นเทรดรายอื่นในไต้หวันต่างแสวงหาความร่วมมือกับ Partner เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย 7-11 ก็ได้จับมือกับ Simple Mart และ Cathy Life Insurance ในการเปิดให้ OPEN POINT ที่เป็นระบบเก็บสะสมคะแนนของ 7-11 ให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่สามารถใช้งานได้มากกว่า 50 ช่องทางการตลาดที่ครอบคลุมถึงร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านขายยา สายการบิน การท่องเที่ยว ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น จนกลายเป็นระบบนิเวศทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าและขยายฐานลูกค้าของกันและกัน
- การปรับเปลี่ยนกลยุทธในการบริหารธุรกิจของเหล่าอี-คอมเมิร์ซ
ในช่วงการที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรง แพลตฟอร์มขายสินค้าของสดในไต้หวันต่างก็มียอดขายที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่หลังจากการที่โรคโควิด-19 กลายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ยอดขายของแพลตฟอร์มเหล่านี้ก็ลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้เหล่าแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซของไต้หวันต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธในการบริหารธุรกิจอีกครั้ง เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด เห็นได้จากการที่กลุ่ม Eastern Group ได้ประกาศการหยุดให้บริการของแพลตฟอร์ม Mama Bear Buying Fresh แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าของสด ซึ่งมีผลประกอบการที่ดีในช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของโรคโควิด-19 แต่เมื่อโควิดกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป ทำให้ผลประกอบการของเว็บไซต์ที่ขายของสดลดลงอย่างมาก Eastern Group จึงตัดสินใจประกาศหยุดให้บริการในที่สุด นอกจากนี้ foodpanda ก็ได้ลดจำนวนสาขาของร้าน pandamart ที่เป็นหน้าร้านที่เป็นเสมือนศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งเหล่าผู้ขับขี่มารับสินค้าของสดเพื่อไปส่งให้แก่ลูกค้า โดยลดจาก 30 สาขา เหลือเพียง 20 สาขาเท่านั้น ในขณะที่ momo และ Uber ก็ปรับลดจำนวนสาขาที่ทำหน้าที่กระจายสินค้าของสดลงเช่นกัน ด้าน Coupang ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซเกาหลีใต้ที่มาเปิดให้บริการในไต้หวันในปี 2564 ก็ยกเลิกบริการส่งด่วนสำหรับสินค้าของสด โดยหันไปให้บริการในแบบอี-คอมเมิร์ซข้ามพรมแดนแทน โดยจากข้อมูลของสำนักสถิติ กระทรวงเศรษฐกิจชี้ว่า การค้าปลีกออนไลน์ของไต้หวันในปี 2565 มีมูลค่ารวม 542,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จากปี 2564 แม้อัตราการขยายตัวจะยังคงมีสัดส่วนเป็นตัวเลข 2 หลัก แต่เป็นการขยายตัวน้อยกว่าในปี 2564 มาก (24.5%) เช่นกัน
- การควบกิจการเพื่อขยาย Economies of Scale ทำให้ธุรกิจ Retail ในไต้หวันครอบครองโดยกลุ่มทุนเพียงไม่กี่ราย
Economies of Scale เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการตลาดของแต่ละธุรกิจ แต่ก็ทำให้ตลาดสูญเสียความเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์ ครอบงำโดยผู้เล่นน้อยรายและส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้น ซึ่งในช่วงหลายปีมานี้ PXMart ซุปเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ใช้กลยุทธในการขยายธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการของเชน Retail ที่มีขนาดเล็ก เช่น Yang Mart, SUNMAKE, Taipei Agriculture Products, Matsui เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเข้าซื้อกิจการของ RT-mart ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีจำนวนสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากคาร์ฟูในไต้หวัน ในขณะที่คาร์ฟู ไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขามากที่สุดในไต้หวัน ซึ่งเพิ่งซื้อกิจการในไต้หวันของ Wellcome ที่ถือเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีสาขามากเป็นอันดับ 2 ในตลาดรองจาก PXMart ในปี 2564 จากนั้นในปี 2565 บริษัทแม่ของคาร์ฟูก็ได้ขายหุ้นให้กับ Uni-President ซึ่งเป็นผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ 7-11 และ Cosmed เชนร้านขายยาและผลิตภัณฑ์เสริมความงามชื่อดัง จนทำให้ Uni-President กลายเป็นเครือข่ายธุรกิจที่มีธุรกิจด้านโมเดิร์นเทรดในมือที่ครอบคลุมตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ชอปปิงมอลล์ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ รวมไปจนถึงธุรกิจที่เป็นส่วนเสริมต่างๆ รวมกว่า 50 แบรนด์ และกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถครองความได้เปรียบในตลาดไต้หวัน
- Economies of Scale และ Economies of Scope ถือเป็นตัวกระตุ้นการขยายตลาดชั้นดี
นอกจากกลุ่มเชนยักษ์ใหญ่จะทำการขยาย Economies of Scale ของตัวเองแล้ว ยังมีการขยายการลงทุนจนเกิดเป็น Economies of Scope ซึ่งสามารถช่วยประหยัดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยการดำเนินธุรกิจหลายชนิดในเวลาเดียวกัน เช่น ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ สามารถดำเนินธุรกิจได้หลายประเภท ทั้งด้าน อาหาร เครื่องดื่ม สิ่งพิมพ์ การรับจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ เป็นต้น ดังเช่นการเข้าซื้อกิจการของโมเดิร์นเทรดรายอื่นของ PXMart จนทำให้ผลประกอบการขยายตัวเพิ่มจากประมาณ 174,900 ล้านบาทในปี 2564 เป็นประมาณ 209,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยที่กลุ่ม PXMart ยังมีธุรกิจด้านอื่น ทั้ง YUANLIH Construction และธนาคาร HWATAI Bank จึงทำให้สามารถเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันจนกลายเป็น Economies of Scope ขึ้น ในขณะที่กลุ่ม Uni-President ก็ถือเป็นกรณีตัวอย่างในทั้งสองด้านนี้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วน Family Mart ก็พยายามเพิ่ม Economies of Scale ด้วยการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ไปพร้อมกับการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอื่นทั้งในด้านโลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซและร้านอาหาร เช่น bb.q CHICKEN, Let’s Café PLUS, IKIGAI Yakitori เพื่อสร้างตัวเองให้เป็น Economies of Scope เช่นเดียวกับแบรนด์ขนาดกลางอื่นๆ ที่หันมาสร้างความร่วมมือแบบข้ามธุรกิจกับแบรนด์อื่น เช่น Fitness Factory ที่จับมือกับ PXMart และ POYA (เชนร้านขายยาและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม) เพื่อขยายสาขาร่วมกัน การที่ POYA เริ่มหันมาขยายสาขาเข้าสู่ Shopping Mall การเปิดร้านแบบคอมเพล็กซ์ของ ET Pets ร่วมกับ Family Mart การที่ Great Tree เชนร้านขายยายักษ์ใหญ่หันมาขยายสาขาร่วมกับ Family Mart และเปิดร้านขายสินค้าสัตว์เลี้ยงของตัวเอง โดยที่ E-life Mall เชนร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าก็มีการสร้างความร่วมมือกับ Korea Ginseng Corp., Sapporo Drug Store และ SANRIO ในการขยายสาขาด้วยการเปิดร้านแบบคอมเพล็กซ์ร่วมกัน ตัวอย่างต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เหล่าผู้ประกอบการต่างก็มีเป้าหมายในการสร้าง Economies of Scope ให้กับธุรกิจตน
- การสร้างความแปลกใหม่ของไลฟ์สไตล์แบบ Food Fashion
ร้านอาหารถือเป็นจุดที่สามารถนัดพบกับญาติสนิทมิตรสหายที่นิยมในไต้หวัน โดยผู้บริโภคมักเช็คอินถ่ายภาพเพื่อโพสต์ลงบนโซเชียบมีเดียของตัวเอง ผู้ประกอบการ Shopping Mall และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในไต้หวันจึงพยายามดึงแบรนด์ร้านอาหารให้เข้ามาเปิดบริการเพื่อดึงดูดลูกค้าและเพิ่มสัดส่วนของรายได้จากส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อทั้งหลายก็เน้นการผลักดันสินค้าอาหารมังสวิรัติ จนทำให้เกิดการออกเมนูมังสวิรัติที่เป็นอาหารต่างประเทศ เช่น อาหารไทย หรืออาหารอิตาลี เพิ่มมากขึ้น รวมไปจนถึงการสร้างความร่วมมือกับร้านอาหารระดับมิชิลินสตาร์ ร้านอาหารที่มีชื่อเสียง และเชฟชื่อดังในการออกเมนูอาหารสำเร็จรูป ส่งผลให้เกิดเป็นกระแสการบริโภคในแบบ Food Fashion ซึ่งอาหารไม่ใช่เป็นเพียงอาหารสำหรับรับประทาน แต่เป็นความดื่มด่ำในประสบการณ์ที่ได้รับประทาน และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ต่อผู้อื่น จนเกิดเป็นกระแสนิยมในรูปแบบของแฟชั่นตามมาด้วยเช่นกัน
- กรณีศึกษา 1 : ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มบรรจุแก้ว
ธุรกิจแฟรนไชส์ร้านเครื่องดื่มบรรจุแก้วของไต้หวันถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไต้หวันที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก โดยเฉพาะในส่วนของร้านชานมไข่มุก โดยมีต้นทุนในการเข้าสู่ธุรกิจไม่สูงมาก ทำให้มีผู้ประกอบการในตลาดหลายแบรนด์มาก จากการสำรวจของ Taiwan Chain Stores and Franchise Association ในปี 2565 พบว่า มีจำนวนแบรนด์มากถึง 204 แบรนด์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่
(1) ร้านเครื่องดื่มที่เน้นการขายชาเป็นหลัก เช่น ร้าน Ching-Shin Fu-Chuan ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2530 จนถึงสิ้นปี 2565 มี 950 สาขา (ร้านแฟรนไชส์ 948 สาขา บริษัทเปิดเอง 2 สาขา) ร้าน TEA & MAGIC HAND ที่ก่อตั้งในปี 2536 จนถึงสิ้นปี 2565 มี 485 สาขา เป็นร้านแฟรนไชส์ทั้งหมด ซึ่งการขายชาเขียว ชาดำ เป็นหลัก โดยเน้นในส่วนของคุณภาพชาและมีราคาที่ไม่สูงมาก ตลาดหลักของร้านชาแบบนี้จะอยู่ในภาคกลางและใต้ของไต้หวัน
ตารางที่ 3 : 15 แบรนด์ร้านเครื่องดื่มบรรจุแก้วที่มีสาขามากที่สุดของไต้หวัน
หน่วย: แห่ง
ลำดับ | แบรนด์ | ปีที่ก่อตั้ง | สาขารวม | แฟรนไชส์ | บริหารเอง |
1 | Ching-Shin Fu-Chuan | 2530 | 950 | 948 | 2 |
2 | TEA & MAGIC HAND | 2536 | 485 | 485 | 0 |
3 | COMEBUY | 2550 | 180 | 164 | 16 |
4 | Presotea | 2548 | 280 | 255 | 25 |
5 | TEA’S | 2548 | 212 | 207 | 5 |
6 | BigBig Black Tea | 2561 | 175 | 174 | 1 |
7 | Dayungs | 2544 | 142 | 112 | 30 |
8 | Milksha | 2547 | 257 | 235 | 22 |
9 | MACU TEA | 2551 | 360 | 306 | 54 |
10 | Tea-Top | 2549 | 155 | 125 | 30 |
11 | TEA PRO TEA SHOP | 2540 | 200 | 196 | 4 |
12 | KEBUKE Tea | 2551 | 292 | 272 | 20 |
13 | COCO | 2540 | 300 | 270 | 30 |
14 | okla-tea | N/A | 700 | 699 | 1 |
15 | 50Lan | 2537 | 600 | 487 | 113 |
ที่มา: Taiwan Chain Stores and Franchise Association
(2) ร้านเครื่องดื่มที่เน้นการขายชานม เช่น ร้าน 50Lan ซึ่งก่อตั้งในปี 2537 มี 600 สาขา เป็นร้านแฟรนไชส์ 487 สาขา และร้านที่บริษัทเปิดเอง 113 สาขา โดยร้านเครื่องดื่มในกลุ่มนี้จะเน้นการขายชานมไข่มุก และเครื่องดื่มที่ใช้นมเป็นส่วนผสมในการปรุงรส รวมไปจนถึงในช่วงหลายปีก่อน ก็มีกระแสนิยมการใช้ Brown Sugar มาเป็นส่วนผสมเช่นกัน
(3) ร้านเครื่องดื่มที่เน้นการขายชาและน้ำผลไม้ เช่น ร้าน Dayungs (ก่อตั้ง 2544 มี 142 สาขา โดยเป็นแฟรสไชส์ 112 สาขา และบริษัทบริหารเอง 30 สาขา) และร้าน Le Phare (ก่อตั้ง 2557 มี 21 สาขา โดยเป็นแฟรสไชส์ 16 สาขา และบริษัทบริหารเอง 5 สาขา) ซึ่งเมนูส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของผลไม้ และการที่แนวคิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ทั้งลูกค้าและร้านเครื่องดื่มใน Section นี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดเครื่องดื่มทำให้การสร้างความแตกต่างกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมก โดยสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการมิใช่เพียงแค่เป็นเครื่องดื่มที่อร่อยหรือดับกระหายคลายร้อน ดังเช่นสิ่งที่ Eliz.B.T.Books แบรนด์น้องใหม่ในตลาด (ก่อตั้ง 2563 มี 13 สาขา โดยเป็นแฟรสไชส์ 6 สาขา และบริษัทบริหารเอง 7 สาขา) โฆษณาว่า ร้านใช้เป็นใบชาหายากระดับ Royal Black Tea ที่หาดื่มไม่ได้ทั่วไป จนทำให้สามารถสร้างยอดขายในวันแรกได้มากถึง 1,800 แก้ว และจัดบรรยากาศร้านให้เป็นแบบห้องหนังสือของราชวงศ์ในยุโรป โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ดูหรูหราในแบบตะวันตก เพื่อให้ลูกค้าสามารถถ่ายภาพอัพโหลดไว้บนโซเชียลมีเดียของตัวเอง อันถือเป็นการช่วยโฆษณาให้กับทางร้านไปในตัว โดยความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ร้านเครื่องดื่มบรรจุแก้วทำให้เหล่าคนดังของไต้หวัน พากันลงทุนเปิดแบรนด์ของตัวเองไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น เซียวจิ้งเถิง นักร้องชื่อดัง Lulu พิธีกรชื่อดัง หรือแม้แต่ ตี้เม่ย ที่เป็น Youtuber ชื่อดัง ต่างก็ออกแบรนด์แฟรนไชส์ของตัวเองด้วย ซึ่งความมีชื่อเสียงของคนดังเหล่านี้ ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจได้จากทั้ง FC และสื่อมวลชน
นอกจากนี้ เครื่องดื่มชาไทยได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคไต้หวัน ทำให้เกิดกระแสความนิยมชาไทยผุดขึ้นมาตามไปด้วย ส่งผลให้ร้านเครื่องดื่มบรรจุแก้วแทบทุกแบรนด์ ต่างก็พากันออกเมนูชาไทยมาวางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก และมีการนำชาไทยไปประยุกต์กับเมนูต่างๆ มากมาย เช่น ชาไทยใส่ไข่มุก ชาไทยพุดดิ้ง ชาไทยเฉาก๊วย เป็นต้น
- กรณีศึกษา 2 : ข้อควรระวังในการซื้อแฟรนไชส์
จากการที่ธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมในไต้หวันเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดเป็นกรณีที่บริษัทเจ้าของแบรนด์หาทางเอาเปรียบผู้ซื้อแฟรนไชส์ ด้วยการให้เซ็นสัญญาที่ผู้ขายแฟรนไชส์อาศัยความไม่คุ้นเคยในการประกอบธุรกิจของผู้ที่อยากซื้อแฟรนไชส์ ทำให้ไม่เข้าใจข้อความในสัญญาได้อย่างชัดเจน ดังตัวอย่างของร้านขายเครื่องดื่มบรรจุแก้วแบรนด์หนึ่ง ซึ่งทางบริษัทได้สร้างหน้าร้านขึ้นมา 1 แห่งในย่านการค้าที่คึกคักมากกลางไทเป พร้อมทั้งตกแต่งร้านให้มีความโดดเด่นสะดุดตาจนมีผู้ไปถ่ายภาพเช็คอินกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังทำการโปรโมทอย่างเต็มที่ จนสามารถดึงดูดให้มีผู้มาซื้อแฟรนไชส์เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งบริษัทได้มานำเสนอแพคเกจในแบบที่ทางแบรนด์จะช่วยดูแลให้ในทุกขั้นตอน อย่างไรก็ดี จากการที่ทางบริษัทดังกล่าวเน้นคอนเซ็ปป์ในการแต่งร้านทุกสาขาให้ไม่เหมือนกันเพื่อสร้างจุดเช็คอิน ทำให้ในการเปิดร้านต้องมีค่าใช้จ่ายในการตกแต่งร้านค่อนข้างสูง แน่นอนว่าบริษัทคิดกำไรในส่วนนี้จากผู้ซื้อแฟรนไชส์เพิ่มจากค่าซื้อแฟรนไชส์ที่ต้องจ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่ไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ หลังจากเซ็นสัญญาแล้ว บริษัทจะอาศัยข้อบังคับตามสัญญา มาบังคับให้ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบจากบริษัทไปตลอด และยังมีการขึ้นราคาโดยไม่เปิดโอกาสให้ต่อรองราคา อีกทั้ง บริษัทยังใช้ข้ออ้างในการทำการตลาดด้วยการออกเมนูใหม่แทบจะทุก 2-3 เดือน โดยเป็นเมนูที่ไม่สามารถใช้วัตถุดิบเดิมได้ ทำให้ต้องมีการซื้อวัตถุดิบเพิ่มอีก ส่งผลให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์แทบไม่มีกำไร และหากต้องการออกจากแฟรนไชส์จะต้องจ่ายเงินค่าละเมิดสัญญาอีกก้อนใหญ่ ซึ่งแม้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น แต่เนื่องจากทุกอย่างเป็นไปตามสัญญาที่ลงนามไว้ตั้งแต่ช่วงที่ซื้อขายแฟรนไชส์กันแล้ว ทำให้ไม่สามารถเอาผิดบริษัทได้ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร จึงควรที่จะทำความเข้าใจกับสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์อย่างละเอียด เพื่อมิให้ตนเองต้องติดกับดักของเหล่าผู้ขาย
แฟรนไชส์ที่มีความคิดฉ้อฉลเหล่านี้
- ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ
จุดแข็งอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไต้หวันประสบความสำเร็จในการขยายแฟรนไชส์ไปยังตลาดต่างประเทศ คือ การบริหารจัดการที่เป็นระบบ ทำให้ง่ายสำหรับนักลงทุนทั่วไปทั้งในและต่างประเทศในการเป็นเจ้าของธุรกิจ การศึกษาการบริหารจัดการร้านของไต้หวัน จะช่วยให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากอาหารไทย ซึ่งเป็น Soft Power ที่สำคัญและมีชื่อเสียงของไทย มาสร้างเป็นเชนร้านอาหารขนาดใหญ่ได้ ดังเช่นตัวอย่างความสำเร็จของร้านอาหารไทยที่มีชื่อว่า Thai Town ซึ่งแม้เจ้าของจะเป็นชาวไต้หวัน แต่สามารถประสบความสำเร็จในการวางระบบการบริหารงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบรมเชฟที่ประจำในแต่ละร้าน ซึ่งแม้บริษัทฯ จะมีพนักงานที่เป็นผู้ปรุงอาหารมากกว่า 1,000 คน แต่สามารถทำให้อาหารที่ปรุงออกมาของแต่ละสาขามีรสชาติที่เหมือนกันทั้งหมด จนทำให้ร้าน Thai Town กลายเป็นร้านอาหารไทยอันดับ 1 ในไต้หวัน ที่มีสาขามากถึง 67 แห่ง และสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันในชื่อ TTFB Group ด้วย โดยในปีนี้ ทาง TTFB มีแผนที่จะขยายสาขาไปยังสหรัฐฯ ซึ่ง TTFB เห็นว่า จากประสบการณ์แห่งความสำเร็จที่ผ่านมา ทำให้บริษัทฯ สามารถจัดการบริหารร้านสาขาต่างๆ ให้มีความเป็นระบบทุกอย่าง ตั้งแต่ด้านวัตถุดิบ การบริหารครัว และการฝึกอบรมเชฟประจำร้าน จึงทำให้สามารถนำระบบการบริหารงานแบบนี้ไปปรับปรุงใช้กับการเปิดร้านอาหารไทยในต่างประเทศได้ ซึ่ง TTFB ได้เตรียมขยายตลาดไปยังสหรัฐฯ โดยจะเปิดร้าน Thai Town สาขาแรกที่นครลอส แองเจลิส และมีเป้าหมายจะเปิดร้านให้ได้ 100 สาขาทั่วสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ด้วย
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
– Department of Commerce, Ministry of Economic Affairs
Web-site: https://gcis.nat.gov.tw/mainNew/
– Taiwan Chain Stores and Franchise Association
Web-Site: http://www.tcfa.org.tw/
– Association of Chain and Franchise Promotion, Taiwan
Web-Site: https://www.franchise.org.tw/
- งานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
- Taipei International Chain & Franchise Exhibition
Web-site: https://www.taiwanfranchise.org/
จัดปีละ 3 ครั้ง ทุกเดือนกุมภาพันธ์, มิถุนายน และกันยายน ของทุกปี
———————————————————————————————-
E-Mail :
Tel : Fax : |
thaicom.taipei@msa.hinet.net
(886 2) 2723-1800 (886 2) 2723-1821 |
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) มิถุนายน 2566 |
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)