ภาคอุตสาหกรรมเหล็กของอินเดียได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดในปี 2568 ที่มีการนำมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น (Safeguard: SG) มาปรับใช้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมในประเทศ รวมทั้งรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะเร่งผลักดันการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Steel) หรือเหล็กสีเขียว โดยภาคส่วนนี้ยังเผชิญกับความท้าทายกับการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีไปใช้กระบวนการผลิตที่ภาวะของต้นทุนนั้นยังมีราคาที่ผันผวน
ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2025 (เดือนเมษายน-กันยายน) อินเดียกลายเป็นผู้นําเข้าเหล็กสุทธิ ซึ่งนําเข้ามากกว่าส่งออกอย่างมีนัยสําคัญ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ที่สามารถผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ทําให้เกิดแรงกดดันต่อราคาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตอินเดีย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความท้าทายต่อระดับความสามารถในการแข่งขันของผู้เล่นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุการเพิ่มกําลังการผลิตเหล็กเป็น 300 ล้านตันต่อปี (MnTPA) ภายในปี 2030 การบรรลุเป้าหมายนี้จําเป็นต้องเพิ่มกําลังการผลิตขึ้นถึง 120 ล้านตันต่อปี และต้องเพิ่มการลงทุนอีกประมาณ 121,951.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่ง หากพิจารณาแล้ว เป็นการดําเนินการทางการเงินที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
นอกเหนือจากแรงกดดันดังกล่าว รัฐบาลยังเน้นย้ำถึงการนําวิธีการผลิตเหล็กที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิต”เหล็กสีเขียว” แผนปฎิบัติราชการในครั้งนี้ของรัฐบาลอินเดียสอดคล้องกับเป้าหมายการลดปริมาณการผลิตคาร์บอนในระดับสากล แต่ประเทศต้องพร้อมรับมือและหาแนวทางทั้งด้านการลงทุนด้านเทคโนโลยีและมาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่สําคัญเพื่อลดความกังวลของภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น โดยภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็ก กําลังเรียกร้องให้รัฐบาลนำมาตรการป้องกันการนําเข้าที่เพิ่มขึ้นมาใช้ เช่น มาตรการด้านภาษีศุลกากรหรือการปรับโควต้า เพื่อเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตในประเทศภายใต้ตลาดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกที่ผันผวน นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณาการออกมาตรการจูงใจทางการเงินเพื่ออํานวยความสะดวกต่อการเปลี่ยนผ่านไปใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กระทรวงเหล็กอินเดียมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการทางภาษีต่อประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีนและเวียดนาม เพื่อควบคุมผลกระทบของการนําเข้า ทั้งปริมาณและราคาที่ส่งผลต่อความผันผวนของการแข่งขันภายในประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม
1. จีนเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดในโลก ในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2567 จีนส่งออกเหล็กสําเร็จรูปปริมาณ 1.7 ล้านเมตริกตันไปยังอินเดีย เพิ่มขึ้น 35.4 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตเหล็กอินเดีย ต้องเผชิญกับการนําเข้าราคาถูกและราคาสินค้าที่ลดลงในประเทศ แม้ว่าอุปสงค์ของตลาดจะเติบโต คู่ขนานไปกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ภาคการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มขยายตัว ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าสแตนเลส ขดลวดรีดร้อน แผ่นสังกะสี และแผ่นไฟฟ้า
2. ทั้งนี้ ตลาดนำเข้าสำคัญอย่างจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น คิดรวมเป็นส่วนแบ่งของตลาดถึง 79% ของการนำเข้าเหล็กสำเร็จรูประหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม 2567 อนึ่ง กระทรวงเหล็กอินเดียได้ดำเนินตามมาตรการปกป้องทางการค้าด้วยการเพิ่มภาษีถึง 25% และมีการปรับนโยบายภาษีเป็นการชั่วคราวเป็นระยะเวลาสองปีสำหรับสินค้าเหล็กรีดเพื่อรับมือกับสินค้านำเข้าของจีนที่มีราคาต่ำกว่าตลาดภายในประเทศ
ผลกระทบทางเศรษฐกิจและความท้าทาย
1. การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่: แม้ว่าอินเดียจะพิจารณานำ มาตรการปกป้องทางภาษี มาใช้ แต่ก็ยังเป็นมีโอกาสสำหรับสินค้าเหล็กที่มีมูลค่าสูงหรือเหล็กตกแต่งที่มีความจำเพาะเฉพาะ ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรที่น้อยกว่า
2. การแข่งขันที่เข็มข้นขึ้น: จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ครองสัดส่วนการนําเข้าเหล็กเป็นลำดับต้นของตลาดอินเดีย ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยอาจเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรง
3. ภาวะทางการตลาดที่ผันผวน: ราคาวัตถุดิบที่ผันผวนและราคาเหล็กที่ลดลงในตลาดอินเดียอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของผู้ส่งออก
ข้อคิดเห็น
1. อุตสาหกรรมเหล็กอินเดียกําลังเผชิญกับความท้าทายจากการนําเข้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม โดยการนําเข้าแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ 5.7 ล้านเมตริกตันในช่วงเดือนเมษายน-ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้าจากประเทศจีนเพียงอย่างเดียวคิดเป็น 1.7 ล้านเมตริกตัน เพิ่มขึ้น 35.4% เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตเหล็กขนาดเล็กของอินเดีย ซึ่งพยายามดิ้นรนเพื่อแข่งขันกับการนําเข้าจากต่างประเทศที่ขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าและราคาเหล็กในประเทศ จำเป็นที่จะต้องปรับลดลง แม้ ภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะมีความต้องการที่แข็งแกร่งซึ่งขับเคลื่อนโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลอินเดีย โดยกระทรวงเหล็กของอินเดียได้รับมือผ่านการเสนอขึ้นภาษีปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ 25% สําหรับผลิตภัณฑ์เหล็กแบนเพื่อลดผลกระทบของการนําเข้าเหล่านี้
2. สำหรับประเทศไทย มูลค่าการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า (พิกัด 72) ระหว่างเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2567 ไทยส่งออกไปยังโลกด้วยปริมาณ 1,577,876,337 กิโลกรัม มูลค่า 1,519.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ ไทยส่งออกไปอินเดียเป็นลำดับที่หนึ่ง ด้วยปริมาณ 208,843,312 กิโลกรัม มูลค่า 238.17 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนสูงถึง 15.67 % โดยส่งออกไปที่ตลาดสำคัญอื่นๆได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี เมื่ออุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า มีความจำเป็น ต้องปรับตัวและมองหาแนวทางการผลิตแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในรูปแบบ เหล็ก Green Steel ผู้ผลิตเหล็กไทยก็ควรใช้โอกาสในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ในหลายประเทศต่างก็เริ่มดำเนินมาตรการในการปกป้องสิ่งแวดล้อม เร่งวางแผนการดำเนินธุรกิจลดการใช้พลังงาน และ ลดการก่อคาร์บอนรวมทั้งก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเหล็กไทย
ที่มา: 1. https://www.constructionworld.in/steel-news/steel-industry-urges-policy-changes-to-counter-rising-imports/66929
2. https://www.business-standard.com/industry/news/india-s-steel-imports-from-china-hit-record-high-latest-data-shows-124120500858_1.html
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ภาคอุตสาหกรรมเหล็กอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อรองรับปัญหาการนําเข้าที่เพิ่มขึ้น