หน้าแรกTrade insight > พฤติกรรมชาวแคนาดาบริโภคไอศกรีมลดลง ท่ามกลางทางเลือกของหวานอื่นๆ

พฤติกรรมชาวแคนาดาบริโภคไอศกรีมลดลง ท่ามกลางทางเลือกของหวานอื่นๆ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566

สินค้าไอศกรีมที่ทำจากนม (Dairy Ice Cream) เคยเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในแคนาดาในอดีต แต่เริ่มเสื่อมความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปริมาณการบริโภคไอศกรีมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากตัวเลขสถิติพบว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้วในช่วงทศวรรษ 1970 ชาวแคนาดามีการบริโภคไอศกรีมเฉลี่ย 12.71 ลิตร/คน/ปี แต่ปัจจุบันการบริโภคลดลงเหลือเพียง 4.5 ลิตร/คน/ปี ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงในแคนาดาแต่ยังรวมถึงสหรัฐฯ และประเทศโลกตะวันตกอีกด้วย

นักวิเคราะห์มีความเห็นว่าสาเหตุที่ปริมาณการบริโภคไอศกรีมลดลงส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ลดการบริโภคน้ำตาล (ไอศกรีมส่วนใหญ่มีส่วนประกอบของน้ำตาลในระดับสูง) ผู้บริโภคระมัดระวังเรื่องการแพ้อาหาร (Allergy Concern) มากขึ้น อาทิ ผู้ที่มีอาการแพ้นม (Lactose Intolerance) ไอศกรีมถูกมองว่าเป็นสินค้าที่ไม่ดีต่อสุขภาพเนื่องจากมีระดับน้ำตาลและไขมันที่สูง นอกจากนี้ ในปี 2562 กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาเคยออกประกาศ Canada Food Guide ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อมูลโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดี โดยแนะนำให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้านมเนย (Dairy Product) ที่รวมถึงสินค้าไอศกรีมอีกด้วย

ถึงแม้ว่าในช่วงวิกฤตโควิด สินค้าไอศกรีมมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมากในแคนาดา เนื่องจากคนส่วนใหญ่กักตัวอยู่บ้าน การทำงานหรือเรียนหนังสือทางไกลจากบ้านมากขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาบริโภคของทานเล่นที่รวมถึงกลุ่มสินค้าไอศกรีมมากขึ้น แต่เมื่อวิกฤตจบลง ยอดจำหน่ายและการบริโภคสินค้าไอศกรีมก็เริ่มลดลง

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างประชากร (Demographic) ในแคนาดาก็มีผลต่อการบริโภคไอศกรีมเนื่องจาก ขนาดครอบครัวที่เล็กลง จำนวนประชากรเด็กที่ลดลง ส่งผลต่อการบริโภคไอศกรีม นอกจากนี้ การแข่งขันของกลุ่มสินค้าไอศกรีมก็เพิ่มมากขึ้น ที่มาจากของหวานแช่แข็ง แช่เย็น อาทิ Non-Dairy Frozen Yogurt, Sorbet หรือสินค้าของหวานอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบ Non-Dairy Product

หลักฐานที่ยืนยันว่าสินค้าไอศกรีมเริ่มเสื่อมความนิยมในแคนาดามาจากยอดจำหน่ายที่ลดลง ถึงแม้ว่าผลกระทบของเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาสินค้าอาหารเกือบทุกชนิดปรับขึ้นอย่างมาก แต่ราคาสินค้าไอศกรีมโดยเฉลี่ยกลับลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และยอดจำหน่ายก็ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง

ความเห็นของ สคต.

สินค้าผลิตภัณฑ์นม (Dairy Product) ในอดีต เคยเป็นสินค้าที่นิยมในตลาดโลกชาวตะวันตกซึ่งมีความเชื่อว่าผลิตภัณฑ์นมวัวนั้น มีสารอาหารโภชนาการที่ดีต่อร่างกาย แต่ความนิยมและรสนิยมของผู้บริโภคได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เนื่องจากทุกวันนี้มีสินค้าอาหารใหม่ นวัตกรรมใหม่มาทดแทนหรือมีสารอาหารที่เทียบเท่าหรือดีกว่านมวัว อาทิ Plant Based Product ทำให้การบริโภคสินค้าผลิตภัณฑ์นมที่รวมถึงสินค้าไอศกรีมลดลงอย่างต่อเนื่องในแคนาดา นอกจากนี้ สินค้าไอศกรีมนมถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีแคลอรี่สูง (จากน้ำตาล) และไขมันในระดับสูง (จากนม) รวมถึงโครงสร้างรูปแบบครอบครัวประชากรในแคนาดา ที่ทุกวันนี้ มีขนาดและจำนวนลูกน้อยลง ทำให้ความต้องการของสินค้ากลุ่มนี้หดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคหันไปบริโภคสินค้าของหวานทางเลือกอย่างอื่นแทน อาทิ Non- Dairy Frozen Yogurt (โยเกิร์ตแช่แข็งที่ไม่มีส่วนผสมของนม)  หรือเชอร์เบท (รูปแบบไอศกรีมที่ทำจากผลไม้ที่ไม่ใช่นม)

แคนาดามีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์นม โดยมีข้อจำกัดด้วยโควตา ซึ่งแนวทางในการเจาะตลาดนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจใช้สินค้าไอศกรีมที่ไม่ใช้นม (Non-Dairy Ice Cream) อาทิ ไอศกรีมกะทิ ไอศกรีมผลไม้ ที่เน้นความสำคัญของเรื่องสุขภาพ ใช้ปริมาณน้ำตาลต่ำ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่มองหาของหวานแช่แข็งที่  ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นม และเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าในการขยายตลาดสินค้า Frozen Dessert ของไทย

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. ๑๑๖๙ (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +๖๖ ๒๗๙๒ ๖๙๐๐)


ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login