ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในฝรั่งเศสยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 ในขณะที่ราคาสินค้าได้ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปี 2023 นี้ ซึ่งเป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยทั้งภาครัฐและเอกชนยังคงคาดหวังให้ระดับเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นก็ตามราคาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จาก 73.9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคมเป็น 85.79 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลต่อราคาน้ำมันในฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน โดยราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1.67 ยูโรต่อลิตรในเดือนกรกฎาคม เป็น 1.81 ยูโรต่อลิตรเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายของคนฝรั่งเศสที่อยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวหน้าร้อน นอกเหนือจากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไปรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศปรับขึ้นราคาพลังงานไฟฟ้าร้อยละ 10 ตามแผนการที่วางไว้ก่อนหน้านี้
นักเศรษฐศาสตร์แสดงความกังวลว่าการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้าในประเทศครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ ดังเช่นที่นาย Gilbert Cette อาจารย์จากสถาบันการศึกษาระดับสูง Neoma Business School แสดงความเห็นว่าการปรับขึ้นราคาพลังงานในครั้งอาจสร้างความกังวลต่อการบริโภคในประเทศ และอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
สถาบันสถิติแห่งชาติฝรั่งเศส INSEE ระบุว่าระดับราคาพลังงาน (แก๊ส,น้ำมันและไฟฟ้า) ส่งผลต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในฝรั่งเศสร้อยละ 8.6 นาย Maxime Darmet นักเศรษฐศาสตร์จาก Allianz Trade (บริษัทในเครือบริษัทประกันภัย Allianz) กล่าวว่าการปรับราคาเพิ่มขึ้นทั้งราคาน้ำมันและไฟฟ้าสามารถส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5 จุดได้อีก หลังจากที่ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเป็นไปได้น้อยมากที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะเข้าควบคุมราคาพลังงานดังเช่นในปี 2022 เนื่องจากติดปัญหาด้านงบประมาณ
นอกเหนือจากความเปลี่ยนแปลงด้านราคาพลังงานที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ นโยบายปรับขึ้นค่าแรงของรัฐบาลในปีนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ กระทรวงแรงงานฝรั่งเศสคำนวนว่าในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาระดับเงินเดือนขั้นต่ำ (นอกเหนือจากเงินโบนัส) ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี ในขณะที่ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ธนาคารแห่งชาติฝรั่งเศสประเมินว่าการปรับขึ้นค่าจ้างและเงินเดือนขึ้นต่ำจะขึ้นจนถึงระดับสูงสุดในไตรมาสที่สองของปี 2023 นี้ ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอื่นๆ เชื่อว่าระดับค่าจ้างจะมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องและหยุดที่ระดับสูงสุดในปี 2024 โดยราคาสินค้าและบริการจะยังมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นใช้ช่วงเวลาเดียวกัน
การปรับระดับเงินเดือนขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือประชากรฝรั่งเศสในภาวะเงินเฟ้อในครั้งนี้ส่งผลให้ ผู้ที่ได้รับค่าแรงที่มีระดับต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ความต่างระหว่างอัตราเงินเดือนในตำแหน่งพนักงานเงินเดือนระดับล่างและระดับสูงกว่าลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานเงินเดือนในตำแหน่งที่สูงกว่าเรียกร้องขอขึ้นเงินเดือนเช่นเดียวกัน นาย Gilbert Cette กล่าวว่าหากการปรับขึ้นเงินเดือนรักษาระดับอย่างต่อเนื่องอย่างที่เป็นอยู่จะส่งผลให้ระดับอัตราเงินเดือนเพิ่มขึ้นจนสูงกว่าระดับอัตราเงินเฟ้อเมื่อถึงปี 2024 นอกเหนือจากว่าในระหว่างนี้มีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจอย่างฉับพลันส่งผลให้ระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศกลับขึ้นสูงอีกครั้งหนึ่ง
นาย Maxime Darmet แสดงความเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากการประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาสามารถยืนยันได้ว่าอัตราเงินเฟ้อในฝรั่งเศสได้ปรับลดลงเป็นที่แน่นอนในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 นี้ ซึ่งเร็วกว่าในระดับที่คาดการณ์ไว้
ความเห็น สคต.
อัตราเงินเฟ้อประเทศฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.3 เป็นลำดับที่ 10 จากประเทศสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 6.4 โดยประเทศที่อัตราเงินเฟ้อต่ำที่สุดในสหภาพยุโรป ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก(ร้อยละ 1) และประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงที่สุดได้แก่ ฮังการี่ (ร้อยละ 19.9) ดังนั้นเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะเงินเฟ้อ (ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด) รัฐบาลฝรั่งเศสออกนโยบายปรับขึ้นค่าแรงและเงินเดือนขั้นต่ำเป็นกรณีพิเศษเป็นครั้งที่สองของปีในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ในเดือนมกราคมที่ผ่านมามีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากปี 2022 โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมอัตราเงินเดือนขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ให้เป็น 1747.20 ยูโรต่อเดือน (1383.08 ยูโรหลังหักภาษี) และค่าแรงรายชั่วโมงปรับขึ้นเป็น 11.52 ยูโร (9.11 ยูโรหลังหักภาษี) ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายรับให้กับประชากรที่มีรายได้น้อยโดยประมาณเดือนละ 30 ยูโรต่อเดือน อย่างไรก็ตามการปรับขึ้นราคาพลังงานอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสถานการณ์เศรษฐกิจฝรั่งเศสในช่วงครึ่งปีหลัง ทางสคต.ปารีสจะติดตามความคืบหน้าและนำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป
Nathalie Silbert
ข่าวออนไลน์ หนังสือพิมพ์ Les Echos
https://www.lesechos.fr/economie-france/conjoncture/inflation-la-remontee-des-prix-de-lenergie-nouveau-facteur-de-risque-1969204
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)