หน้าแรกTrade insightเคมีภัณฑ์และพลาสติก > ผู้ผลิตเครื่องดื่มในเยอรมันกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนพลาสติก PET รีไซเคิล

ผู้ผลิตเครื่องดื่มในเยอรมันกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนพลาสติก PET รีไซเคิล

ก่อนที่ขวด PET จะถูกเป่าเป็นขวดได้นั้น ก็จะมีหน้าตาเหมือนหลอดทดลองที่มีเกลียวขวด ซึ่งจะใช้เวลาไม่กี่วินาทีในการขึ้นรูป แล้วก็เสร็จจนเป็นขวด PET ที่นำไปบรรจุเครื่องดื่มได้ในทันทีที่มีการเย็นลงแล้ว ที่ผ่านมามีการบรรจุเครื่องดื่มในเมือง Gerolstein ในจังหวัด Vulkaneifel มากถึง 800 ล้านขวดต่อปี 1 ซึ่งนาย Roel Annega ผู้บริหารของบริษัทที่มียอดจำหน่ายน้ำแร่สูงสุดในประเทศ Gerolsteiner กล่าวว่า “โดยปกติแล้วเราใช้พลาสติก PET ชนิดรีไซเคิล ถึง 75% ในการผลิตขวดน้ำแบบใช้ครั้งเดียว แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เราต้องลดสัดส่วนดังกล่าวลงเหลือ 30% เพราะขาดแคลนพลาสติก PET ชนิดรีไซเคิล ทำให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นมาก จึงส่งผลกับสายการผลิตของเรา” ด้านนาง Isabell Schmidt ผู้บริหารสมาคมอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก (IK – Industrievereinigung Kunststoffverpackungen) ได้ออกมายืนยันถึงปัญหาดังกล่าวว่า “การแข่งขันแย่งชิงวัตถุดิบจากการรีไซเคิลเริ่มหนักขึ้น” ทำให้พลาสติก PET ชนิดรีไซเคิลมีราคาสูงกว่าพลาสติกแบบใหม่มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งนาย Annega กล่าวว่า “ช่วงเวลาหนึ่งราคาพลาสติก PET รีไซเคิลสูงกว่าราคาพลาสติกใหม่ถึง 2 เท่า ซึ่งปัจจุบันราคาของพลาสติก PET รีไซเคิลปรับตัวสูงขึ้น 40% โดยประมาณ” เขาจึงออกมาเรียกร้องให้ “มอบสิทธิ์ตามกฎหมายให้กับผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่างเราในการซื้อพลาสติก PET รีไซเคิลก่อนอุตสาหกรรมอื่น” ซึ่งนี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มสามารถมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ โดยภายในปี 2040 การผลิตขวด PET ในสหภาพยุโรป (EU) จะต้องมีสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตอย่างน้อย 65%

จากรายงานของ IK เปิดเผยว่า มีเพียง 45% ของขวด PET ทั้งหมดจะถูกนำกลับมารีไซเคิลเพื่อใช้เป็นขวดได้อีก โดยหลาย ๆ อุตสาหกรรมใช้พลาสติก PET มาผลิตฟิล์มห่อของ ผ้า หรือแผงหน้าปัดรถยนต์ เพื่อปรับปรุง Carbon Footprint ของตนให้ดีขึ้น นาย Annega กล่าวว่า “เมื่อนำพลาสติกรีไซเคิลมาทำเป็นกระเป๋าไปแล้ว ก็ไม่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นขวดน้ำได้อีก” เขายังเห็นอีกว่า กฎหมายการรับคืนขวดปี 2003 นั้นรัฐบาลได้สร้างข้อผิดพลาดเป็นอย่างมากขึ้นมา และเห็นว่า “ทันทีที่ขวด PET ชนิดที่ใช้ครั้งเดียวออกจากโรงงานของเราไปแล้ว ขวดเหล่านั้นก็ไม่ใช่ของของเราอีกต่อไป ซึ่งแตกต่างกับขวดและลังที่ใช้หลายครั้ง” เพราะขวดและลังเหล่านี้จะถูกนำกลับมารีไซเคิลได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นการรีไซเคิลแบบปิด ในทางตรงกันข้ามขวดพลาสติกรีไซเคิล PET จะถูกนำไปจำหน่ายให้กับผู้ที่ประมูลสูงสุด ซึ่ง Gerolsteiner ไม่ใช่บริษัทเดียวที่ออกมาขอสิทธิ์ในการซื้อพลาสติก PET รีไซเคิล ด้านนาย John Galvin ผู้บริหารบริษัทผู้ได้รับสิทธิ์ในการบรรจุเครื่องดื่มของ Coca-Cola ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ว่า “ผู้ผลิตเครื่องดื่มอย่างเราต้องการสิทธิ์ในการเข้าถึงขวดพลาสติก PET รีไซเคิลก่อน เพื่อที่จะสามารถนำวัสดุที่เคยเป็นขวดกลับมาทำขวดได้อีกครั้ง”

สำหรับ Gerolsteiner แล้ว ปัญหาการขาดแคลนพลาสติก PET รีไซเคิล ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เป็นอุปสรรคในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้ระบุว่า ภายในปี 2030 บริษัทฯ สามารถลดการสร้างค่า CO2 ลง 60% เมื่อเทียบกับปี 2016 โดยการสร้างค่า CO2 ของบริษัทฯ ส่วนใหญ่นั้นอยู่ที่บรรจุภัณฑ์และระบบการขนส่ง นาย Annega กล่าวว่า “กว่า 60% ของสินค้าเราสามารถขนส่งได้ทางรถไฟ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดค่าการสร้างค่า CO2 ลงได้” แต่ความต้องการของนาย Annega ยังทำให้เป็นจริงไม่ได้จนถึงตอนนี้ เพราะหัวรถจักรดีเซลในภูมิภาค Eifel (ที่ตั้งเมือง Gerolstein) แบบรางเดี่ยวไม่สามารถลากตู้รถไฟที่บรรทุกสินค้ามีน้ำหนักได้ อีกทั้งรางรถไฟที่ถูกน้ำท่วมใหญ่ในปี 2021 ทำลายซึ่งเป็นเส้นทางไปเมือง Köln ก็ยังซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จดี นาย Annega ออกมาร้องขอภาคการเมืองว่า “แน่นอนเป็นสิ่งที่ดีที่เส้นทางนี้จะถูกพัฒนาให้ใช้ไฟฟ้าแทนรถหัวจักรดีเซล แต่เราต้องการเส้นทางเดินรถแบบรางคู่จึงจะสามารถขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เราเป็นผู้ผลิตน้ำแร่ เป็นไปไม่ได้ที่เราจะย้ายฐานการผลิตไปตั้งไว้ในพื้นที่ที่ระบบขนส่งดีกว่านี้ได้”

 

Handelsblatt 31 กรกฎาคม 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login