หน้าแรกTrade insightอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัล > ผู้บริโภคอเมริกันทำลายสถิติซื้อของออนไลน์ช่วงมหกรรมลดราคา

ผู้บริโภคอเมริกันทำลายสถิติซื้อของออนไลน์ช่วงมหกรรมลดราคา

เนื้อหาสาระข่าว: Adobe รายงานข้อมูลการใช้จ่ายช่วงเทศกาลวันหยุดปี 2023 ครอบคลุมถึงสัปดาห์ไซเบอร์ ซึ่งเก็บข้อมูลตลอดทั้ง 5 วัน (23 – 27 พฤศจิกายน 2566) ตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า วัน Black Friday รวมสุดสัปดาห์จนถึงวัน Cyber Monday โดยข้อมูลที่ Adobe Analytics ทำการวิเคราะห์ครั้งนี้ครอบคลุมถึงการเข้าใช้เว็บไซต์ค้าปลีกของผู้บริโภคในสหรัฐฯ รวมถึงกว่า 1 ล้านล้านครั้ง รวมสินค้า 100 ล้านชนิด ใน 18 หมวดสินค้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Adobe Experience Cloud ที่ครอบคลุมถึงกว่าร้อยละ 85 ของผู้ค้าปลีกผ่านระบบออนไลน์รายใหญ่ที่สุด 100 รายในสหรัฐฯ ใช้ในการให้บริการ วัดผลและสร้างประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคลผ่านระบบออนไลน์ ประเด็นสำคัญที่สรุปมา ได้แก่

    • สัปดาห์ลดราคานี้ มีการใช้จ่ายรวม 38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 7.8 โดยวันขอบคุณพระเจ้า ใช้จ่าย 5.6 พันล้าน เพิ่มขึ้น 5.5% วัน Black Friday ใช้จ่าย 9.8 พันล้าน เพิ่มขึ้น 7.5% และตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้ใช้จ่าย 10.3 พันล้าน เพิ่มขึ้น 7.7%

    • ผู้บริโภคใช้จ่ายในวัน Cyber Monday รวม 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 9.6 (สูงกว่าที่ Adobe ได้ประเมินไว้)
    • ช่วงที่มีการใช้จ่ายสูงสุด (22:00-23:00 น. ตามเวลาของนิวยอร์ค) มีการใช้จ่ายสูงถึงนาทีละ 15.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
    • การลดราคา ในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (ลดราคาสูงสุดถึงร้อยละ 31) ของเล่น (27%) เสื้อผ้าแฟชั่น (23%) เฟอร์นิเจอร์ (21%) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (18%)
    • ยอดขายเทียบกับค่าเฉลี่ยของวันทั่วๆ ไปในเดือนตุลาคม เสื้อผ้าแฟชั่นขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 189 เครื่องใช้ไฟฟ้า (166%) ของเล่น (140%) เฟอร์นิเจอร์ (129%) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (103%) เครื่องประดับ (99%) และเครื่องกีฬา (95%)
    • สินค้ายอดนิยมวัน Cyber Monday มีหมวดของเล่น ได้แก่ Hot Wheels (รถเด็กเล่นวิ่งบนทางโค้ง), รถเด็กเล่น Mario, รถเด็กเล่น Disney Pixar, ชุดเครื่องเล่นและของเล่น Disney Junior Minnie Mouse และตัวต่อ LEGO – ในหมวดเครื่องเล่นเกมดิจิตอล ได้แก่ Xbox Series X, PlayStation 5, Nintendo Switch รวมถึงเกม Spiderman 2 และ Call of Duty: Modern Warfare III, NBA 2k24 และ Super Mario Bros. Wonder. ในหมวดอื่น ได้แก่ ชุดของขวัญผลิตภัณฑ์บำรุงผิว, เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวขนาดเล็ก (เครื่องปั่น เครื่องผสมอาหาร หม้อกาแฟ) โทรทัศน์ นาฬิกาอัจฉริยะ อุปกรณ์ตรวจวัดการทำกิจกรรม และ หูฟัง Bluetooth
    • โปรโมชั่น “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” ดันยอดการใช้จ่ายในวัน Cyber Monday พุ่งสูงถึง 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 42.5 โดยจำนวนชิ้นต่อคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 11 หากดูข้อมูลย้อนหลังในเดือนพฤศจิกายนถึงวันนี้ (1 – 27 พ.ย.) โปรโมชั่นนี้ช่วยผลักยอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึงร้อยละ 17 รวมแล้วถึง 8.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
    • ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงวันนี้ (1 – 27 พ.ย.) มีการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์ไปแล้ว 109.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 7.3 กว่าครึ่งหนึ่ง (60%) ของยอดดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยสินค้าใน 5 หมวดหลักๆ ได้แก่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (21.7 พันล้าน) เสื้อผ้าแฟชั่น (19.2 พันล้าน) เฟอร์นิเจอร์ (14.7 พันล้าน) อาหาร/ของชำ (6.8 พันล้าน) และของเล่น (3.1 พันล้าน)
    • Adobe คาดว่ายอดการใช้จ่ายรวมตลอดช่วงเทศกาลวันหยุด (1 พ.ย. – 31 ธ.ค.) จะสูงถึง 221.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 4.8 พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กำลังแซงการใช้จ่ายตามร้านอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทุกๆ 5 ดอลลาร์ที่ใช้จ่ายจะมี 1 ดอลลาร์ที่ใช้จ่ายออนไลน์ในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้
    • การใช้จ่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 59 ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมด โดยในปีก่อนนี้ยังอยู่ที่ร้อยละ 55) แซงคอมพิวเตอร์ ตลอดช่วงสัปดาห์ลดราคานี้ การใช้จ่ายผ่านมือถือครองส่วนแบ่งร้อยละ 51.8 (49.9% ในปี 2022) กลายเป็นตัวเร่งยอดขายที่สำคัญมาก
    • ส่วนลดสูงมากทำลายสถิติ โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีส่วนลดจากราคาตั้งสูงสุดถึงร้อยละ 31 (สูงสุดร้อยละ 25 ในปีก่อน) คอมพิวเตอร์ส่วนลด 24% (ปีก่อน 20%) โทรทัศน์ส่วนลด 19% (ปีก่อน 17%) เสื้อผ้าแฟชั่นส่วนลด 23% (ปีก่อน 18%) เครื่องกีฬาส่วนลด 15% (ปีก่อน 10%) เฟอร์นิเจอร์ส่วนลด 21% (ปีก่อน 8%) เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนลด 18% (ปีก่อน 16%) เว้นแต่ของเล่นเด็กส่วนลดน้อยลง โดยปีนี้มีส่วนลด 27% (ปีก่อน 34%)
    • หลังจบสัปดาห์ลดราคาลงแล้วสินค้าก็จะยังไม่หยุดลดราคา แม้ส่วนลดจะไม่ถึงขีดสุดแต่ก็ยังคาดหวังส่วนลดดีๆ ได้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนลดสูงสุดที่ร้อยละ 20 ของเล่นเด็ก (15%) คอมพิวเตอร์ (16%) เสื้อผ้าแฟชั่น (14%) เฟอร์นิเจอร์ (11%) โดยวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคมจะเป็นวันที่น่าใช้จ่ายที่สุดสำหรับสินค้าเครื่องกีฬาที่จะมีส่วนลดสูงสุดถึงร้อยละ 21 จากราคาปกติ
    • บริการรับสินค้าหน้าร้านมีน้อยลง มีเพียงร้อยละ 7 ของจำนวนการสั่งซื้อทั้งหมดที่เลือกใช้บริการนี้ (ปีก่อน 14.8%) โดยการสั่งซื้อออนไลน์ผู้บริโภคเลือกใช้การส่งของตามปกติถึงร้อยละ 80
    • ช่องทางที่สามารถดึงดูดยอดขายได้ดีที่สุดตลอดช่วงสัปดาห์ลดราคานี้ ได้แก่ โฆษณาบนหน้าเว็บที่ใช้ค้นหา (Paid Search on Search Engine) โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 27 รองลงมาคือผู้บริโภคที่เจาะจงเข้าไปที่ร้านค้าออนไลน์โดยตรง (Direct Traffic) มีสัดส่วนร้อยละ 21 การค้นหาแบบธรรมชาติ (Organic Search) ร้อยละ 17 การโฆษณาผ่านอีเมลร้อยละ 15 และการโฆษณาผ่านเว็บไซต์หรือผู้ผลิตรายการที่เป็นพันธมิตรกัน (Afiliates/Partners) ร้อยละ 12
    • มูลค่าเฉลี่ยต่อคำสั่งซื้อ (Average Order Value ­– AOV) มีการขยายตัวกว่าปีก่อนเล็กน้อยในช่วง 1 – 27 พ.ย. เพียงร้อยละ 2.7 สำหรับในช่วงสุดสัปดาห์ลดราคา (25 – 26 พ.ย.) ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าตลาดที่ขยายตัวขึ้นมาจากการที่ผู้บริโภคหันมาซื้อของผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นแต่ไม่ได้ซื้อมากขึ้น
    • การใช้จ่ายที่ขยายตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของผู้บริโภคนั้นมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะราคาสินค้าสูงขึ้นเท่านั้น โดย Adobe นั้นได้จัดทำ ดัชนีราคาดิจิตอล (Adobe Digital Price Index) ซึ่งทำการเก็บข้อมูลราคาของสินค้าใน 18 หมวดสินค้า และพบว่าราคาสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเดือนตุลาคมนั้นลดลงกว่าปีก่อนร้อยละ 6 ซึ่งตัวเลขราคาดังกล่าวที่ Adobe เก็บข้อมูลมานี้ไม่ได้มีการปรับตามอัตราเงินเฟ้อด้วย ดังนั้น หากนำอัตราเงินเฟ้อมาคำนวณด้วย ยอดการใช้จ่ายโดยรวมของผู้บริโภคก็จะยิ่งขยายตัวสูงขึ้นไปกว่านี้อีก
    • ราคาที่ลดลงในเดือนตุลาคมนี้ มาจากราคาสินค้าที่ลดต่ำลงในบางหมวดสินค้า อาทิ คอมพิวเตอร์ (ราคาลดลงกว่าปีก่อนร้อยละ 15 และลดลงกว่าเดือนก่อนร้อยละ 5.8) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ลดลงกว่าปีก่อน 12.3% / ลดลงกว่าเดือนก่อน 2.8%) เสื้อผ้าแฟชั่น (ลดลงกว่าปีก่อน 8.5% / ลดลงกว่าเดือนก่อน 1.2%) ในหมวดสินค้าอื่นที่ซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ อาทิ อาหาร/ของชำราคาสูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 3.8% และสูงขึ้นกว่าเดือนก่อนร้อยละ 0.1 และอาหารสัตว์เลี้ยงมีราสคาสูงขึ้นกว่าปีก่อนร้อยละ 5.4 แต่เทียบเดือนก่อนมีราคาเท่าเดิม สินค้าในหมวดเหล่านี้ยังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้ออยู่บ้าง แต่ราคาที่สูงขึ้นเทียบกับปีก่อนแล้วชะลอตัวลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนมานี้

บทวิเคราะห์/ข้อเสนอแนะ: หากได้อ่านข่าวเรื่องมหกรรมเทศกาลลดราคาจากหลายๆ สื่อแล้ว จะเริ่มคุ้นชินกับชื่อ Adobe Analytics เพราะแทบจะทุกสื่อได้ดึงเอาผลรายงานจากสำนักนี้มาใช้วิเคราะห์แนวโน้มและโอกาสของตลาดกันเกือบทั้งสิ้น ซึ่งบทความสัปดาห์นี้ เสมือนเป็นตอนต่อเนื่องจากรายงานของสำนักงานฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่นักวิเคราะห์จับเอาตัวเลขความเคลื่อนไหวมาเทียบแบบเดือนต่อเดือน แล้ววิเคราะห์กันว่า ในช่วงเทศกาลสัปดาห์ลดราคาหรือที่มักเรียกกันว่า Cyber Week (นับรวม 5 วันนับจากวันขอบคุณพระเจ้า ต่อด้วยวันศุกร์ Black Friday รวมวันเสาร์และอาทิตย์ถัดมา แล้วมาจบที่วันจันทร์ Cyber Monday) ปีนี้จะซบเซาลง ซึ่งขณะที่เขียนบทความในสัปดาห์ก่อนเป็นวันศุกร์ Black Friday พอดี ผลการเก็บข้อมูลจึงยังไม่มีรายงานออกมา แต่ด้วยพฤติกรรมการตอบสนองต่อเทศกาลของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และปรากฎการณ์ทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัว  จึงยังเชื่อว่าผู้คนต่างต้องการให้การใช้จ่ายของตนมีคุณค่าสูงสุด โดยจะรอใช้จ่ายกันในช่วงมหกรรมการลดราคาครั้งนี้อยู่ที่หน้าจอ     มือถือหรือคอมพิวเตอร์ที่บ้านกันเป็นหลัก และยังอดใจไว้ไม่หลงกลผู้ค้าปลีกที่เสนอส่วนลดที่น่าตื่นใจล่วงหน้า       ด้วยเชื่อว่าบรรดาผู้ค้าปลีกน่าจะต้องมาลดราคาต่ำลงไปอีกในช่วงวันพิเศษเหล่านี้

ท่านที่รู้จักธรรมเนียมของสหรัฐฯ ดีอยู่แล้วคงรู้จักมหกรรมวันลดราคาประจำปีนี้กันดีอยู่แล้ว จึงขอให้ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับเทศกาลนี้ ว่าเป็นช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ที่องค์กรและบริษัทหลายแห่ง หยุดงานกันตั้งแต่วันขอบคุณพระเจ้า (วันพฤหัสบดี) วันศุกร์ Black Friday และต่อเนื่องด้วยวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วกลับมาทำงานกันวันจันทร์ Cyber Monday ซึ่งในอดีต เชื่อว่ามีหลายๆ ท่านคงได้เคยเห็นภาพผู้บริโภคชาวอเมริกันมายืนออกันแน่นตามห้างร้านยอดนิยมต่างๆ เพื่อจะแย่งกันวิ่งเข้าไปจับจองสินค้าที่ตนแอบมองไว้ล่วงหน้า พอร้านเปิดก็กรูกันเข้าไป จึงมีคำเรียกผู้บริโภคเหล่านี้ว่า Doorbuster ซึ่งภาพเหล่านี้เคยเป็นบรรยากาศที่คุ้นเคยกันในวันศุกร์ Black Friday ในอดีต แต่ในปีนี้ คงหาชมได้ยากเพราะผู้บริโภคไปเบียดเสียดแย่งกันใช้จ่ายในโลกออนไลน์กันแทน จากเดิมที่วันศุกร์ Black Friday จะเป็นวันลดราคาตามห้างร้าน แล้วรอวันจันทร์ Cyber Monday ที่จะมาซื้อของลดราคากันในโลกออนไลน์ ความนิยมในการจับจ่ายผ่านระบบออนไลน์และพฤติกรรมที่ผู้บริโภคที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือทำทุกอย่างรวมไปถึงการจับจ่ายที่ถูกกระตุ้นจากช่วงมีโรคระบาด ก็เข้าครอบงำทั้งสัปดาห์ไปแล้วจนสื่อต่างๆ พากันเรียกรวมว่าเป็น Cyber Week

รายงานของ Adobe ฉบับนี้ เป็นรายงานเชิงวิเคราะห์สถิติเชิงสรุปผลอยู่แล้ว จึงขอจับเฉพาะบางประเด็นที่น่าสนใจขึ้นมาแค่พอสังเขป รวมถึงความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้จากสื่ออื่นๆ เท่าที่พอหาได้ ดังนี้

    • นักวิเคราะห์ชี้การใช้จ่ายฟื้นตัวดีและปัจจัยอื่นหลายอย่างชี้ว่าเศรษฐกิจปี 2024 จะขยายตัวดี
    • การใช้จ่ายของผู้บริโภคอเมริกันในปัจจุบัน มีการวางแผน หาข้อมูลล่วงหน้า ช่างเลือก ใส่ใจในรายละเอียดและระมัดระวังมากขึ้น มีการซื้อตามอารมณ์ (Impulse Purchase) น้อยลง ความยืดหยุ่นในการจับจ่ายเป็นแรงกระตุ้นที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ (รายการโปรโมชั่น ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ได้รับการตอบรับสูงมาก เฉพาะในวันศุกร์ Black Friday ยอดขายขยายตัวถึงร้อยละ 422 และมูลค่าการซื้อสูงขึ้นร้อยละ 438 เทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2019)
    • NerdWallet รายงานว่า ในปีที่แล้ว มีผู้บริโภคชาวอเมริกันถึงร้อยละ 52 ก่อหนี้ผ่านบัตรเครดิตในช่วงเทศกาลวันหยุดนี้ และมีถึงร้อยละ 31 ที่ยังผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวไม่หมด ปีนี้ยอดหนี้บัตรเครดิตสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และจำนวนครัวเรือนที่เป็นหนี้เสียรายใหม่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 12 ปี
    • ผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมต่างๆ รวมถึงการจับจ่ายทั่วๆ ไปผ่านมือถือเป็นหลักมากขึ้น ผ่านคอมพิวเตอร์น้อยลง สำหรับผู้ค้าปลีกแล้ว ช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบออนไลน์ไม่ใช่แค่ทางเลือกที่มีไว้เสริมภาพลักษณ์เท่านั้นเช่นในอดีต แต่จะกลายเป็นช่องทางหลักที่ขาดไม่ได้ไปในที่สุด การลดราคาจะยังมีอยู่ไปจนสิ้นปี
    • ปริมาณคนเดินตามห้างร้านขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 4.6 (นับว่าขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญแต่ยังขยายตัวน้อยกว่าระดับการขยายตัวในปี 2019 ถึงร้อยละ 20) แต่ Doorbusters หรือ ผู้บริโภคที่ไปรอเข้าร้านคนแรกตั้งแต่เวลาตีห้ากำลังจะหมดไป เพราะผู้บริโภคหันไปใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น ถึงร้อยละ 79 ของปริมาณการใช้งานระบบออนไลน์ทั้งหมด (ปี 2017 ใช้ 61% และปี 2020 ใช้ 75%)
    • ยอดขายออนไลน์ในวันศุกร์ Black Friday สูงถึง 9.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 7.5 เฉพาะยอดขายของโทรศัพท์มือถือก็สูงถึง 5.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวกว่าปีก่อนร้อยละ 10.4 ครองสัดส่วนถึงร้อยละ 54 ของยอดการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด
    • จำนวนผู้บริโภคที่ไปตามร้านค้าในวันศุกร์ Black Friday ปีนี้ลดลงร้อยละ 90.4 เทียบกับปี 2021 (ข้อมูลโดย Sonsormatic Solutions) โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ (65%) เข้าไปตามร้านค้าปลีกเพื่อหาดูว่ามีสินค้าใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะซื้อเป็นของขวัญดี หรืออยากไปชมหรือสัมผัสสินค้าที่ต้องการก่อน และบางรายก็ไปร้านเพราะกลัวว่าสั่งซื้อออนไลน์อาจส่งล่าช้า
    • วันอังคารหลังวัน Cyber Monday มีหลายๆ สื่อเรียกว่าเป็นวัน “Travel Tuesday” เพราะมีสายการบินและโรงแรมต่างพากันทำโปรโมชั่นกันยกใหญ่ และเนื่องจากวันคริสต์มาสปีนี้จะตรงกับวันจันทร์ เชื่อว่าในวันเสาร์ที่ 23 ธันวาคมปีนี้จะเป็นวันลดราคาครั้งใหญ่อีกวันหนึ่ง
    • Amazon ประกาศสินค้าขายดีสูงสุดในช่วง Cyber Week ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากเมือกหอยทาก COSRX, อุปกรณ์ Fire TV Stick, กริ่งประตู, เครื่องดูดฝุ่น Bissell
    • นักวิเคราะห์สินค้าแฟชั่นจาก Circana ชี้ว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่เติบโตขึ้นมาในโลกเสมือนจริง กลับหันมานิยมถือถ้วยกาแฟ เดินชมสินค้าตามห้างร้านแต่เช้า ในวัน Black Friday และชี้อีกว่ามีร้อยละ 41 ของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าโดยรวมในการเลือกว่าจะไปเดินจับจ่ายสินค้าในห้างร้านใด แม้ราคาที่ดึงดูดใจจะสำคัญ แต่ผู้บริโภคใช้วิจารณญาณมากขึ้นในหลายๆ ประเด็นไปพร้อมๆ กัน อาทิ ความทันสมัย แบรนด์ที่ถูกใจ ราคาที่ดี ตัวอย่างเช่นแบรนด์ Aritzia, Lululemon และ Aerie ที่โดดเด่นเพราะนวัตกรรมของแบรนด์ การจัดแบ่งหมวดสินค้าที่ตรงตามพัฒนาการในการเลือกสรรของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้ดี สินค้าแฟชั่นแบบโหลๆ ที่ไม่มีจุดขายของตนเอง อย่างเช่น สินค้าแฟชั่นที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า อาจต้องใช้ความหลากหลาย และราคาจึงจะสามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ดี

*********************************************************

ที่มา: Adobe
เรื่อง: “Cyber Monday Surges to $12.4 Billion in Online Spending, Breaking E-Commerce Record”
โดย: Adobe Analytics News Release
สคต. ไมอามี /วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผู้บริโภคอเมริกันทำลายสถิติซื้อของออนไลน์ช่วงมหกรรมลดราคา

Login