หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ผลกระทบของฤดูร้อนต่อการผลิตอาหารในสหราชอาณาจักร

ผลกระทบของฤดูร้อนต่อการผลิตอาหารในสหราชอาณาจักร

ทวีปยุโรปได้เข้าสู่ฤดูร้อนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคลื่นความร้อนจากแอฟริกาได้แผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วทวีปยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรหลักหลายชนิด เช่น มะกอก มะเขือเทศ เป็นต้น ในขณะที่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรกลับประสบกับปัญหาอุณหภูมิที่ลดลงผิดจากฤดูร้อนตามปกติที่ส่งผลให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร เช่น ธัญพืช และพืชหัวต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก

การเก็บเกี่ยวผลผลิตสินค้าเกษตรของประเทศในแถบทวีปยุโรป เช่น สเปน อิตาลี และโปรตุเกต ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากคลื่นความร้อนที่สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ส่งผลให้พืชผักผลไม้บางชนิดไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามปริมาณที่คาดไว้ อาทิ การเก็บเกี่ยวผลมะกอกสำหรับทำน้ำมันมะกอกที่เมื่อเกิดคลื่นความร้อนต้นมะกอกจะสลิดผลมะกอกออกจากต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้น ซึ่งส่งผลให้การเก็บเกี่ยวมะกอกลดลง และส่งผลกระทบต่อผลผลิตน้ำมันมะกอกที่เป็นส่วนผสมอาหารหลักของชาวตะวันตก ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าการเก็บเกี่ยวธัญพืชในกลุ่มประเทศยุโรปทางใต้จะลดลงจากปี 2022 มากถึง 60% หรือ 256 ล้านตันในปี 2023 ซึ่งจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์อีกด้วย

นอกจากนี้ สภาพอากาศในสหราชอาณาจักรที่แปรปรวนในช่วงฤดูร้อน โดยอุณหภูมิที่ต่ำและความชื้นที่สูงกว่าฤดูร้อนที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ปริมาณผลผลิต ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว และการจัดเก็บผลผลิตของเกษตรกร ซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากค่าพลังงานและต้นทุนอื่นๆ ที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ และปริมาณน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรขาดทุนถึง 15 ปอนด์ต่อตัน ในขณะที่เกษตรกรที่ใช้เรือนกระจกบางรายต้องเปิดเครื่องทำความร้อนในฤดูร้อนเพื่อควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสมกับพืชผัก

ที่มา: The Grocer

 

ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความเห็น สคต.

ทวีปยุโรปได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากคลื่นความร้อน โดยในช่วงเดือนที่ผ่านมาอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 44 องศาเซลเซียส ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปทางใต้ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งกับการท่องเที่ยว และการเกษตร ในขณะที่ในฝั่ง สหราชอาณาจักรกลับเผชิญหน้ากับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงจนส่งผลต่อปฏิทินการเกษตร โดยความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศนี้ส่งผลให้เกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับความแห้งแล้ง และไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่มีคุณภาพได้ จึงมีการคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของฤดูร้อนจะส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ผลผลิตน้อยลง และจะส่งผลต่อราคาผลผลิตให้สูงขึ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากเกิดการขาดแคลนผลผลิตการเกษตร หรือผลผลิตการเกษตรมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคอาจหันมาหาทางเลือกในการบริโภคอื่นๆ เช่น ผักผลไม้แช่แข็ง หรือเนื้อสัตว์แช่แข็ง เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนและค่าครองชีพ ที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาโอกาสในการนำเสนอสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการรักษาคุณภาพที่มีมาตรฐาน ให้ผู้นำเข้าพิจารณาเป็นทางเลือกในการเตรียมสินค้าสำหรับฤดูหนาวนี้

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login