หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานที่สุดในรอบ 120 ปี ของเอกวาดอร์

ปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานที่สุดในรอบ 120 ปี ของเอกวาดอร์

ลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออก (บริเวณฝั่งเอกวาดอร์ เปรู และชิลีตอนเหนือ) มีค่าต่ำกว่าปกติ ผนวกกับการเกิดกระแสลมพัดจากฝากตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ไปยังฟากตะวันตก (บริเวณชายฝั่งอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย) มีกำลังรุนแรงกว่าปกติ ส่งผลให้กระแสน้ำอุ่นไหลมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ทำให้ภูมิภาคดังกล่าวรวมถึงออสเตรเลีย มีระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและฝนตกหนักมากกว่าปกติ และในทางกลับกันก็เกิดภัยแล้งตามแนวชายฝั่งภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งโดยปกติระยะเวลาของการเกิดลานีญาจะให้เวลาประมาณ 9 เดือน – 3 ปี ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563 – 2566 ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใช้เวลายาวนานที่สุดในรอบ 66 ปี โดยมีระยะเวลา 34 เดือน และหากปรากฏการณ์ลานีญายังคงดำเนินอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2566 นี้ จะถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ยาวที่สุดใน 120 ปี จากการคาดการณ์ของหอการค้าประมง (National Chamber of Fisheries: CEIPA) ของเอกวาดอร์ ปรากฏการณ์ลานีญาจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม – ต้นเดือนเมษายน 2566 และจะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 3 เดือนก่อนเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักในภูมิภาคลาตินอเมริกา และความแห้งแล้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากกระแสลมพัดกลับในทิศทางตรงกันข้าม

ปรากฏการณ์ลานีญาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคลาตินอเมริกาส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรม โดยเฉพาะการประมง ที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตจากการประมงมีปริมาณลดลง ซึ่งประเทศเอกวาดอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งสินค้าประมงมากที่สุดในโลก และได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ จากผลของอุณภูมิผิวน้ำทะเลที่มีค่าต่ำลง (1°C – 2°C) ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลบางชนิด โดยเฉพาะทูน่า ซึ่งเป็นสัตว์น้ำจากน่านน้ำเขตร้อน จำเป็นต้องอพยพไปยังน่านน้ำที่มีอุณภูมิอุ่นกว่า ซึ่งที่ผ่านมาช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมต่อการจับทูน่าของเอกวาดอร์คือ ช่วงเดือนธันวาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 และช่วงเดือนธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 จากข้อมูลของธนาคารกลางเอกวาดอร์ (BCE) การส่งออกสินค้าประมงของเอกวาดอร์ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11 ในปี 2565 โดยปริมาณทูน่าลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.8

จากการอพยพของสัตว์น้ำไปยังน่านน้ำที่มีอุณภูมิอุ่นกว่า ทำให้เรือประมงจำเป็นต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำประมง จากเดิมใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน เป็น 60-70 วัน ส่งผลให้ต้นทุนการทำประมงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนพลังงานและเชื้อเพลิง รวมถึงต้นทุนอื่น ๆ การจับปลาขนาดเล็กสำหรับเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาป่น เพื่อเป็นอาหารกุ้งได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้เอกวาดอร์จำเป็นต้องนำเข้าปลาป่นจากเปรูเพิ่มขึ้น

บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.

          เอกวาดอร์เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าทูน่าแปรรูปรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากไทย สินค้าหลัก ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง เนื้อทูน่า  โดยอุตสาหกรรมทูน่าเป็นส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของเอกวาดอร์ มีการจ้างงานกว่า 24,000 ตำแหน่ง และมีงานที่เกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 120,000 ตำแหน่ง[1] มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป  สหรัฐอเมริกา และลาตินอเมริกา ผู้ส่งออกสินค้าทูน่ารายสำคัญของเอกวาดอร์ สามารถส่งออกทูน่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศ และในปี 2565 เอกวาดอร์มีการส่งออกสินค้าปลาแปรรูปคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้สินค้าทูน่ากระป๋องและเนื้อทูน่ามีมูลค่าประมาณ 1,270 ล้านเหรียญสหรัฐ[2]

อย่างไรก็ดี ความสามารถในการแข่งขันด้านผลิตสินค้าทูน่าของเอกวาดอร์ลดลงตั้งแต่ปี 2564 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา และความไม่สงบทางการเมืองในปี 2565 โดยการส่งออกสินค้าทูน่าในปี 2564 มีปริมาณรวม 276,856 ตัน และในปี 2565 มีปริมาณการส่งออกรวม 267,485 ตัน ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.4

ตารางที่ 1: การส่งออกทูน่า (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทยและเอกวาดอร์ในช่วงปี 2564 – 2565  (หน่วย: เหรียญสหรัฐ)

ประเทศ/ปี 2564 2565
เอกวาดอร์ 1,135,871,161 1,213,281,566
ไทย 1,886,412,198 2,262,843,770

จากข้อมูลในตารางที่ 1 พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าทูน่า (พิกัดศุลกากร 160414) ในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 2,262,843,770 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19.95 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,886,412,198 เหรียญสหรัฐ  ในขณะที่เอกวาดอร์มีการส่งออกทูน่าในปี 2565 คิอเป็นมูลค่า 1,213,281,566 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.82 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 1,135,871,161 เหรียญสหรัฐ

ตารางที่ 2: การส่งออกทูน่า (พิกัดศุลกากร 160414) ของไทยและเอกวาดอร์ไปยังเปรูในช่วงปี 2564 – 2565  (หน่วย: เหรียญสหรัฐ)

ประเทศ/ปี 2564 2565
ไทย 50,479,758 32,532,613
เอกวาดอร์ 15,913,248 15,788,252

จากข้อมูลในตารางที่ 2 พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าทูน่า (พิกัดศุลกากร 160414) ในปี 2565 ไปยังเปรูคิดเป็นมูลค่า 32,532,613 เหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 50,479,758 เหรียญสหรัฐ  ในขณะที่เอกวาดอร์มีการส่งออกทูน่าในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 15,788,252 เหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.78 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 15,913,248 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเปรูถือเป็นตลาดส่งออกทูน่าที่สำคัญของเอกวาดอร์ และปัจจุบันเอกวาดอร์อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญาไปสู่เอลนีโญ ซึ่งเอกวาดอร์มีความพยายามในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้านการเป็นผู้ส่งออกทูน่ารายสำคัญของโลก รวมถึงพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาดทูน่าในเปรู รวมทั้งมีการกำหนดกลยุทธ์เพิ่มเติมในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในสหรัฐอเมริกา[3] ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทูน่าหลักของไทยด้วย

ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่จะส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งในระดับที่รุนแรงมากขึ้น[4] และจะส่งผลกระทบทางลบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมของไทยโดยรวม ในขณะที่ผลผลิตด้านประมงของไทยอาจได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องโดยรวมของโลกและในภูมิภาคลาตินอเมริกามีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลง ซึ่ง สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การสำรองอาหารเพื่อการบริโภคในอนาคตยังคงมีความจำเป็น ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตสินค้าทูน่าของไทยยังคงสามารถขยายตัวได้ เนื่องจากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ (1) ความต้องการจากประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอุปสงค์เพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยังมีเป็นระยะ (2) ผู้ประกอบการไทยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อดึงดูดตลาดอย่างต่อเนื่อง และ (3) อุตสาหกรรมปลากระป๋องไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง-ใหญ่มีความได้เปรียบทางชีวอนามัยสูง ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยท้าทาย ได้แก่ (1) ราคาต้นทุนวัตถุดิบ เหล็ก พลังงาน และปลา ที่คาดว่ายังคงทรงตัวสูง (2) การแข่งขันกับ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกลุ่มประเทศ ACP (Africa Caribbean and Pacific) ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย (3) การขาดแคลนแรงงานต่างชาติหลังจากสถานการณ์โควิด-19 (4) การกีดกันทางการค้าที่เข้มงวดขึ้น และ (5) กระแสนิยมบริโภคอาหารสดใหม่เพื่อสุขภาพ อาจลดทอนความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

______________________________

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login