1. ภาพรวมปัญหาฝุ่นละอองของไทย
ในปี 2562 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 34 เป็น 59 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 พื้นที่หลักที่การกระจายตัวของฝุ่นละอองสะสมหนาแน่น ได้แก่ กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ สาเหตุหลักมาจากสภาพอากาศแห้งแล้ง และมีเชื้อไฟสะสมมากจากการเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากทั้งภาครัฐ ที่มาจากการเร่งการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามเส้นทางสำคัญพร้อมกันหลายจุดทั่วกรุงเทพฯ ที่ยืดเยื้อ และคาดว่าจะเกิดความล่าช้าไปอีก 1 – 2 ปี รวมถึงการกองเศษวัสดุก่อสร้างตามเส้นทางก่อสร้าง และภาคเอกชนและภาคประชาชน แบ่งแยกตามที่มาของปัญหา ได้แก่ ภาคการเกษตร เกิดจาการเผาพื้นที่ปลูกอ้อย ภาคการขนส่งคมนาคมขนส่ง เกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป รถยนต์เก่า ภาคการผลิต เกิดจากโรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาทิ โรงงานที่ใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันเตา น้ำมันดีเซล น้ำมันก๊าด ก๊าซธรรมชาติ แอลพีจี ชีวมวล และถ่านหิน
2. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
(2.1) ผลกระทบด้านสุขภาพ ปัญหาค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานหรือ PM 2.5 มีผลต่อคุณภาพชีวิตและกิจกรรมของประชาชน คนไทยมีค่าใช้จ่ายในการปกป้องและรักษาสุขภาพเพิ่มขึ้น คิดเป็นเงิน 3,200 – 6,000 ล้านบาท/ปี โดยเฉพาะการจัดหาหน้ากากอนามัยและเครื่องป้องกันที่จำเป็นอื่นๆ
(2.2) ผลกระทบด้านการผลิต อุตสาหกรรมอ้อยต้องเปลี่ยนมาใช้แรงงานและรถตัดอ้อยแทนการเผา ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น การก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีปัญหาความล่าช้า เนื่องจากมีระเบียบงดก่อสร้างในชั่วโมงเร่งด่วน ต้องฉีดพ่นน้ำเป็นระยะ รวมทั้ง การกองเศษวัสดุ
(2.3) ผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จากการจัดอันดับมลภาวะทางอากาศในช่วงปีที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่อื่นๆ ต่างติดอันดับต้นๆ ของพื้นที่ที่มีสภาพอากาศอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากไม่มีการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ก็จะทำให้ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3. การรับมือปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบัน
(3.1) สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร สั่งการให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเส้นทางไฟฟ้าปรับเปลี่ยนเวลาก่อสร้างไม่ให้ตรงกับชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อป้องกันฝุ่นละอองสะสมหนาแน่นในพื้นที่ รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถส่วนตัวหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าสาธารณะมากขึ้น ควบคุมการเผาในที่โล่ง และตรวจจับรถควันดำ
(3.2) กรมการขนส่งทางบก มีมาตรการควบคุมจำนวนชั่วโมงที่รถบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ และปรับเปลี่ยนเวลาในการวิ่งของรถบรรทุก โดยห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาเดินรถในพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันคี่เด็ดขาด แต่อนุญาตให้เดินรถเข้ามาในวันคู่ ช่วงเวลา 10.00 – 15.00 น. แต่ยกเว้นให้รถบรรทุกขนส่งอาหารสดที่สามารถวิ่งได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม อาจส่งผลให้สินค้าบางชนิดจะมีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากต้องขนถ่ายอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่จำกัด และบางครั้งจำเป็นต้องใช้รถขนส่ง ขนาดเล็กแทนรถบรรทุกเพื่อหลีกเลี่ยงระเบียบควบคุม ทำให้ต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ซึ่งอาจผลักให้ราคาสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างสูงขึ้นตามไปด้วย
(3.3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2564-2567) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน”
(3.4) กระทรวงพลังงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะสั้น ช่วงปี 2562-2563 คือการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM 2.5 จากการควันจากท่อไอเสียรถยนต์ (2) ระยะกลาง ช่วงปี 2563-2565 คือ สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อลดการเผาทิ้งวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และ (3) ระยะยาว ช่วงปี 2565-2567 คือ การปรับเปลี่ยนมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 และการส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV
(3.5) กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล มีนโยบายเพิ่มจำนวนรถตัดอ้อยเพื่อการเก็บเกี่ยว สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อซื้อรถตัดอ้อย นอกจากนี้ ยังกำหนดราคาอ้อยไฟไหม้ให้มีราคารับซื้อต่ำกว่าอ้อยสด เพื่อจูงใจเกษตรกรให้ลดการเผาอ้อย นอกจากนี้ ยังเสนอให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถตัดอ้อย เนื่องจากการประกอบรถตัดอ้อยในประเทศมีต้นทุนต่ำกว่ามาก แต่มีอุปสรรคที่ชิ้นส่วนรถตัดอ้อยที่จำเป็นต้องนำเข้ามีการเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูง ขณะที่การนำเข้าทั้งคันมีภาษีนำเข้าร้อยละ 0
(3.6) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็ก ระดับยูโร 5 และยูโร 6 จำนวน 4 มาตรฐาน เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 เป็นต้นไป
(3.7) กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2563 เรื่อง การกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติม ใช้บังคับเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ให้สินค้าดังต่อไปนี้เป็นสินค้าควบคุม (1) หน้ากากอนามัย (2) ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย (3) ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และ (4) เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก ทั้งนี้ เพื่อควบคุมราคาสินค้าไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดการกักตุนเพื่อเก็งกำไรทั้งช่องทางปกติและช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังขอให้ผู้ประกอบการงดการส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วงดังกล่าว สำหรับผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ นำออกไปได้ไม่เกิน 30 ชิ้นต่อคน และสำหรับผู้มีใบรับรองแพทย์ สามารถนำออกไปได้ไม่เกิน 50 ชิ้นต่อคน
(3.8) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดรับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ คาดว่าในปี 2563 การส่งออกรถยนต์ของไทย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นในอากาศจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนหน้า อีกทางหนึ่งเพื่อตอบรับกระแสความต้องการ EV จากทั่วโลก
4. การดำเนินการเพื่อลดปัญหาฝุ่นของต่างประเทศ: กรณีศึกษาประเทศจีน
(4.1) โมเดลการแก้ปัญหาฝุ่นที่ประสบความสำเร็จแล้วในจีน หนึ่งในนั้น คือการเลิกใช้เลิกรถประจำทางแบบเก่า และหันมาใช้รถไฟฟ้าแทน นอกจากนี้ ยังมีรถแท็กซี่ที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าวิ่งให้บริการเป็นจำนวนมาก รถสาธารณะรุ่นใหม่บางรุ่นในจีนสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ง่าย เพื่อที่รถดังกล่าวจะได้ไม่ต้องจอดรอขณะชาร์จไฟ
(4.2) ลดปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนท้องถนน จีนใช้นโยบายนำเลขตัวสุดท้ายของทะเบียนรถ เลขคู่ – เลขคี่ มาใช้จำกัดปริมาณรถยนต์ พร้อมๆ กับส่งเสริมให้มีการใช้รถสาธารณะควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้ปริมาณฝุ่นควันสะสมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
(4.3) สนับสนุนเทคโนโลยีสำหรับรถยนต์รับจ้างให้มีความทันสมัย เพื่อป้องกันปัญหารถรับจ้าง หรือรถแท็กซี่ขับวนเพื่อหาลูกค้า ซึ่งจะเป็นการสูญเสียพลังงานและก่อให้เกิดมลพิษในเขตเมือง ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการดังกล่าว ได้แก่ จีน (DiDi Chuxing) สิงคโปร์ (Grab) และอินโดนีเซีย (Go-Jek) ซึ่งต่างก็มีผู้ลงทุนรายใหญ่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
5. แผนปฏิบัติการเพื่อรับมือผลกระทบของรัฐบาลไทย
ปัญหาฝุ่นฯ ถูกยกระดับการรับมือจากรัฐบาล ให้เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2562-2567 ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) การแบ่งกลไกการปฏิบัติตามปริมาณของ PM 2.5 เป็น 4 ระดับ (2) การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางหรือแหล่งกำเนิด และ (3) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ
6. ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับกระทรวงพาณิชย์
(6.1) ผลักดันการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยส่งเสริมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของไทยให้ปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า หาพันธมิตรทางการค้าการลงทุนเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี องค์ความรู้ ที่จะทำให้สามารถผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและขยายผลไปสู่การผลิตรถยนต์เองได้ในระยะยาว
(6.2) การเฝ้าระวังขยะอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของจีนและทั่วโลก ทำให้อาจคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีขยะจากแบตเตอรี่ใช้แล้วจำนวนมาก ดังนั้น ต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบการนำเข้าแบตเตอรี่มือสองที่ผ่านการใช้งานแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งทิ้งขยะวัตถุอันตรายในอนาคต
(6.3) สนับสนุนผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่บรรเทาผลกระทบของ PM 2.5 เช่น สินค้าเครื่องฟอกอากาศ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ และหน้ากากอนามัย เนื่องจากกลายเป็นสินค้าจำเป็นที่มีความต้องการอย่างมาก ทั้งในประเทศและเพื่อการส่งออก
(6.4) ส่งเสริมร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่มีการดำเนินการลด PM 2.5 เช่น ให้รางวัลหรือติดตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองว่าผู้ประกอบการมีการดำเนินการเพื่อลด PM 2.5 เช่น สถานีเติมน้ำมันที่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันการเกิด PM 2.5 หรือร้านค้าที่ใช้เตาปิ้ง-ย่าง ที่ไม่ก่อให้เกิด PM 2.5 เป็นต้น
(6.5) ผ่อนคลายข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าและบริการที่บรรเทาผลกระทบจาก PM 2.5 เช่น สนับสนุนการลดภาษีสินค้าจำพวกเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เพื่อให้ราคาไม่สูงเกินไป และผู้บริโภคทั้งภาคประชาชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อหาได้ ตลอดจนการผ่อนคลายข้อจำกัดเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น