หน้าแรกTrade insight > บทบาทเทคโนโลยี AI ในธุรกิจค้าปลีกอาหารในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

บทบาทเทคโนโลยี AI ในธุรกิจค้าปลีกอาหารในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์   ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2566

บทบาทเทคโนโลยี AI ในธุรกิจค้าปลีกอาหารในแคนาดา

ในวงการธุรกิจค้าปลีก เทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ เพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจท่ามกลางต้นทุนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ ค่าแรงงาน ค่าเช่า ค่าบริหารจัดการ ฯลฯ ซึ่งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้มีตั้งแต่ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หุ่นยนต์ (Robotics) และเทคโนโลยี Blockchain โดยบทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต อาทิ การใช้ AI ควบคู่กับ Machine Learning ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Supply Chain การบริหารจัดการสินค้าของเน่าเสียง่าย (Perishable Product) ผักผลไม้ ลดความเสียหายที่มาจากการเน่าเสีย การคาดการณ์อุปสงค์และอุปทานของสินค้า ซึ่งในแต่ละปี แคนาดามีสินค้าอาหารที่เน่าเสียต้องทิ้งเป็นขยะ (Food Waste) มูลค่ากว่า 49.5 พันล้านเหรียญต่อปี (1.33 ล้านล้านบาท) ซึ่งนโยบายการลดปัญหาขยะอาหารเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงผู้บริโภคเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น

เทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจค้าปลีกอาหาร ในการคาดการณ์กระแสหรือแนวโน้มของสินค้า รวมถึงปริมาณของสต็อกสินค้าที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีปริมาณที่มากไปหรือน้อยเกินไป ในแต่ละช่วงเทศกาล เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการของห้างค้าปลีก โดยบริษัท Fresh Del Monte ใช้เทคโนโลยี Tastewise (tastewise.io) ที่เป็น AI ช่วยประมวลข้อมูลเทรนด์สินค้าอาหารหรือเครื่องดื่ม เป็นเครื่องมือในการช่วยออกแบบ Digital Marketing Content ให้กับเจ้าของสินค้า ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานลูกค้าของห้างค้าปลีก รวมถึงข้อมูลจากโซเซียลมีเดียที่ลูกค้าใช้ ในการช่วยออกแบบแผนการตลาด ซึ่งในอดีตจะใช้เจ้าหน้าที่การตลาดในการรวบรวมข้อมูลและนำมาประมวลผล สังเคราะห์ข้อมูล แต่ปัจจุบันสามารถจัดการด้วยระบบ AI ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แรงงานคน

บริษัท Afresh (afresh.com) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ Supply Chain สินค้าผักผลไม้ มีการใช้ AI มาช่วยห้างค้าปลีกในการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินความต้องการของสินค้าผักผลไม้ ช่วยการพิจารณาจำนวนปริมาณสินค้าที่เหมาะสมใน
แต่ละสาขา โดยคำนวณจากข้อมูลยอดจำหน่ายในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงคำนวณปริมาณของเสีย (Spoiled Inventory) ที่เกิดขึ้น ระยะเวลาขนส่ง ต้นทุนการจัดเก็บ ช่วยเพิ่มผลกำไรและประสิทธิภาพให้กับห้างค้าปลีก โดยเทคโนโลยีของ Afresh อ้างว่าสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายร้อยละ 3 ในขณะที่ลดจำนวนปริมาณของเสียถึงร้อยละ 25 ลูกค้าของบริษัทสามารถเพิ่มอัตราผลกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 โดยเฉพาะในธุรกิจสินค้าผักผลไม้ที่มีอัตราการเน่าเสียของสินค้าสูง ซึ่งทางบริษัทมีแผนการขยายการใช้ AI ไปกับสินค้าในแผนกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และสินค้า Deli Food  อาหารที่ปรุงสําเร็จพร้อมรับประทาน

บริษัท Invafresh ตั้งอยู่รัฐออนแทริโอ แคนาดา มีระบบคล้ายกับ Afresh ที่มีการใช้ AI ควบคู่กับ Cloud Computing โดยเก็บข้อมูลและคำนวณข้อมูลในระบบ Realtime ช่วยลูกค้า ได้แก่ ห้างค้าปลีกในการบริหารจัดการสินค้าผักผลไม้สด บริษัทที่เป็นลูกค้า อาทิ Sobeys, Loblaws, Federated Co-operatives Limited และ The North West Company ลดปัญหาสินค้าเน่าเสียร้อยละ 40 ยืดอายุของสินค้าผักผลไม้ได้ถึง 2 วัน เพิ่มยอดจำหน่ายร้อยละ 15 โดยแต่ละปีจะช่วยให้แต่ละห้างสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 100,000 เหรียญแคนาดาต่อปี (2.7 ล้านบาท) เทคโนโลยีของบริษัท Invafresh ช่วยห้างค้าปลีกตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิ ลูกค้าส่วนใหญ่ที่เลือกซื้อผลไม้จะมีความคิดว่า “Buy Now, Eat Now” คือเลือกซื้อสินค้าและจะบริโภคทันที ในขณะที่ห้างค้าปลีกส่วนใหญ่ในอดีตจะสั่งสินค้าผลไม้มาเตรียมวางจำหน่ายในสภาพที่ยังไม่สุกงอมพอ อาทิ กล้วยที่เปลือกสีเขียว (ไม่สุก) ซึ่งลูกค้าจะไม่สามารถรับประทานได้ทันที แต่ด้วยเทคโนโลยีของ Invafresh จะช่วยห้างบริหารจัดการสต็อกสินค้าให้วางจำหน่ายสินค้าที่พร้อมรับประทานได้ทันที ที่เป็น Win-Win ทั้งห้างและผู้บริโภคโดยใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยตัดสินใจและบริหารจัดการสินค้า

ความเห็นของ สคต.         

ปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจแคนาดาเผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อเป็นประวัติการณ์ในหลายทศวรรษ ที่ส่งผลกระทบถึงราคาสินค้า ค่าครองชีพ ต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ภาคเอกชนต้องปรับตัวเริ่มมองหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น โดยในช่วงปีทีผ่านมา เทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) รวมถึง Machine Learning มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและหลายธุรกิจได้เริ่มประยุกต์นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาช่วยในดำเนินธุรกิจ อาทิ การคาดการณ์การสั่งซื้อ การบริหารจัดการสต็อกสินค้า โลจิสติกส์ การคิดออกแบบ Marketing Program เพิ่มประสิทธิภาพทำให้บริษัทมีอัตรากำไรที่สูงขึ้น ยอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งบทบาทของเทคโนโลยีจะมีส่วนสำคัญมากขึ้นในการช่วยตัดสินใจ (การสั่งซื้อสินค้า) การวางแผนการตลาด ผู้ประกอบการไทยควรตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต

โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)


อ่านข่าวฉบับเต็ม : บทบาทเทคโนโลยี AI ในธุรกิจค้าปลีกอาหารในแคนาดา (สคต.โทรอนโต)

Login