ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในกฎหมายเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (The Inflation Reduction Act) ในปี 2565 เพื่อสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงการลงทุนการผลิตแบตเตอรี่มูลค่ากว่าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในพื้นที่ทางใต้ และสายการผลิตใหม่ในพื้นที่ใกล้ Great lakes อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นไปได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูงในการที่จะบรรลุผลลัพธ์ และยังต้องอาศัยอำนาจของภาครัฐในการขยายอุตสาหกรรมใหม่ให้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
อีกตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต คือ การจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นั่นเป็นเพราะกฎหมายที่ออกมาส่งผลโดยตรงกับความสามารถในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคไปจนถึงความร่วมมือในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของผู้ผลิตในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อแนวโน้มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก ชาวอเมริกันได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าครบหนึ่งล้านคันในปีนี้ ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง
กฎหมายได้ส่งผลต่อตลาดผู้บริโภคอย่างไม่ตั้งใจ โดยการที่ผู้บริโภคหันมาเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแทนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้หลีกเลี่ยงกฎระเบียบที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ กำหนดในการเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ดังนั้น ตัวแทนจำหน่ายจึงเป็นผู้ซื้อรถยนต์และปล่อยเช่าซื้อแก่ผู้บริโภคแทนเพื่อช่วยให้ผู้เช่าซื้อรถได้รับประโยชน์จากมาตรการเครดิตภาษีสำหรับรถยนต์ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ายอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม โดยผู้ผลิตรถยนต์จะต้องลงทุนในโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานประกอบรถยนต์ รวมทั้งภาครัฐจะต้องมีการติดตั้งสถานีชาร์จอย่างรวดเร็วเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ซื้อและผู้ขับรถยนต์ไฟฟ้า
ประธานาธิบดีไบเดนพยายามที่จะผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดรวดเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งรวมถึงการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมขนส่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด หากภาครัฐมีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดอาจทำให้การเติบโตตลาดรถยนต์ไฟฟ้าชะลอตัวหรือหยุดชะงักได้
นโยบายของรัฐในการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้มีการจ้างงานของชาวอเมริกันชนชั้นกลางในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วยหากทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกัน หากผู้ผลิตรถยนต์สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ “Made in America” อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อครองตลาดยานยนต์ของสหรัฐฯ
หากรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีการผลิตในประเทศ ผู้ซื้อก็จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากไม่มีการเครดิตภาษี รถยนต์ไฟฟ้าก็จะแพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะสามารถเป็นเจ้าของได้เมื่อเทียบกับรถยนต์แบบทั่วไป อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ใช้บังคับกับตลาดเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งส่งผลกับพฤติกรรมของผู้บริโภค
เครดิตภาษีช่วยกระตุ้นการลงทุนในสหรัฐฯ
กฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้กระตุ้นการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ หลังจากที่มีการประท้วงของสหภาพแรงงานมาอย่างยาวนาน โดยสหภาพแรงงานยานยนต์สหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงสำหรับพนักงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าและพนักงานผลิตแบตเตอรี่ในโรงงานที่ผู้ผลิตรถยนต์ 3 รายใหญ่ของสหรัฐฯ ดำเนินกิจการอยู่
ผู้นำพรรครีพับลิกันและนักวิเคราะห์วอลล์สตรีทได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตรถยนต์ละทิ้งแผนการและหันมามุ่งเน้นการผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ที่ใช้น้ำมันแทน เพราะการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นการอุดหนุนประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนเป็นผู้นำของโลกในด้านเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า และเป็นประเทศที่มีทรัพยากรสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่และส่วนประกอบอื่น ๆ
ผู้ที่สนับสนุนกฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกล่าวว่า สิ่งนี้จะเป็นการตอบโต้จีน โดยการดึงเหมืองแร่และการผลิตรถยนต์มาที่สหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงวุฒิสมาชิก Joe Manchin III จากพรรคเดโมแครต ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้
ภายใต้กฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บริษัทผู้ผลิตจะได้รับเครดิตภาษีจากการลงทุนในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ขั้นสูง (Advanced Battery) เป็นต้น สำหรับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านหลักเกณฑ์จะได้รับเครดิตภาษีสูงสุดถึง 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลักเกณฑ์ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศหรือในประเทศพันธมิตร และหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีความเข้มงวดขึ้นทุกปี
ล็อบบี้ยิสต์ของผู้ผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ได้เตือนว่า หลักเกณฑ์เข้มงวดมากขึ้นจนรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ ยกเว้น เทสล่า หรือแม้แต่เทสล่าก็อาจจะหลุดออกจากเกณฑ์ในไม่ช้า
เพื่อไม่ให้หลุดออกจากเกณฑ์ ผู้ผลิตรถยนต์ได้ประกาศโครงการลงทุนในแบตเตอรี่ใหม่ทั่วสหรัฐฯ โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ดีทรอยต์ไปถึงโซนตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแผนของผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศ เช่น ฮุนได เป็นต้น ที่หลุดออกจากเกณฑ์เครดิตภาษีในตอนแรก ก็ยังประกาศโครงการลงทุนเพื่อต้องการให้รถยนต์เข้าหลักเกณฑ์ในอนาคต
นาย Wally Adeyemo รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า การตอบสนองเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผู้ผลิตมีการลงทุนมากขึ้น จากการคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการจากผู้บริโภคมากขึ้นในระยะยาว เครดิตภาษีจึงเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจของผู้บริโภค
อย่างไรก็ดี การลงทุนในเรื่องของวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับแบตเตอรี่ในสหรัฐฯ เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งรวมถึงการทำเหมืองแร่เพื่อผลิตโคบอลต์ และการผลิตสารเคมีที่ใช้สำหรับการผลิตแบตเตอรี่จากโรงงาน โดยในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า คาดว่าฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนจะออกกฎเพิ่มเติมเกี่ยวกับชิ้นส่วนที่มาจากประเทศจีนหรือประเทศอื่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ผลิตอาจไปลงทุนโครงการใหม่ ๆ
อีกกฎระเบียบที่ประธานาธิบดีไบเดนเสนอตามสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency: EPA) ในการสนับสนุนให้ผู้ผลิตรถยนต์ลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า คือ การผลักดันให้รถส่วนบุคคลใหม่ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า 2 ใน 3 ของรถส่วนบุคคลทั้งหมด ภายใน 10 ปี
หลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังทำให้มีการเช่าซื้อรถยนต์มากขึ้น
มีหลักฐานเล็กน้อยที่แสดงว่า กฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค จากการคาดการณ์ของ Kelley Blue Book ชาวอเมริกันได้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 873,000 คันในช่วง 9 เดือนแรกของปี ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าถึง 1 ล้านคันเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้ายังคงมีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 10 ของรถยนต์และรถบรรทุกใหม่ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตอย่างเชื่องช้า โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 Kelley Blue Book ประเมินว่า ยอดขายจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
นาย Mike Stanton ประธานสมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์แห่งชาติ (National Automobile Dealers Association) กล่าวว่า กฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลต่อยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ยังต้องการมาตรการเพื่อสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่านี้
กฎหมายได้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตรถยนต์ โดยก่อนหน้านี้ภาครัฐได้มีมาตรการเครดิตภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า แต่จำกัดยอดขายของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละราย ทำให้เทสล่าและเจนเนอรัล มอเตอร์ส ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากมียอดขายเกินกว่าที่กำหนด ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถขอเครดิตภาษีได้
ต่อมา กฎหมายเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้คืนเครดิตภาษีให้แก่บริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าทั้ง 2 ราย และยังได้ยกเลิกเครดิตภาษีกับคู่แข่งหลายรายที่มีการประกอบรถยนต์ในต่างประเทศ เช่น ฮุนได เกีย เป็นต้น และข้อมูล ณ เมษายน 2566 จำนวนรุ่นรถยนต์ที่มีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีเต็มจำนวนลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่กฎหมายใหม่จะบังคับใช้ โดยเจนเนอรัล มอเตอร์สและเทสล่ายังคงเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีรุ่นรถยนต์ส่วนใหญ่ที่มีสิทธิ์ได้รับเครดิตภาษีแบบเต็มจำนวนอยู่
นาง Elaine Buckberg อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจนเนอรัล มอเตอร์ส ได้เขียนรายงานไว้ว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีและความต้องการหลีกเลี่ยงราคาน้ำมันที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นก่อนที่กฎหมายจะมีผลใช้บังคับ โดยตอนที่ประธานาธิบดีไบเดนได้ลงนามในกฎหมาย แนวโน้มของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าก็อยู่ในขาขึ้น โดยยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นาง Elaine Buckberg จากนักวิจัยคนอื่น เช่น นาย Chad Bown จาก Peterson Institute for International Economics ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายได้กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันไปเช่าซื้อแทนการซื้อ นั่นเป็นเพราะกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กำหนดให้การเช่าซื้ออยู่ภายใต้ข้อกำหนดอื่น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์อย่างฮุนได และเกีย ยังสามารถรับเครดิตภาษี 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ เต็มจำนวน และจะส่งต่อให้กับผู้บริโภคที่ทำการเช่าซื้อ
สมาคมผู้แทนจำหน่ายรถยนต์คาดการณ์ว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่ไม่รวมเทสล่ามาจากการเช่าซื้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีที่แล้ว
ยังไม่ชัดเจนว่ามาตรการเครดิตภาษีส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามากน้อยเพียงใด แต่ยอดขายของเทสล่าในปี 2566 ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ส่วนหนึ่งอาจมาจากมาตรการเครดิตภาษี อีกส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่เทสล่าปรับลดราคาลงอย่างมาก
ตัวแทนจำหน่ายรถและภาครัฐคาดว่า มาตรการจากกฎหมายดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดยให้ผู้ซื้อที่ผ่านหลักเกณฑ์สามารถส่งต่อเครดิตภาษีให้กับตัวแทนจำหน่ายได้ทันทีผ่านการชำระเงินดาวน์ แทนที่จะไปรอในช่วงการยื่นขอคืนภาษีในปีถัดไป ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนสำคัญในสมการ
สองปีหลังจากที่สภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายที่จัดสรรงบประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการติดตั้งสถานีชาร์จแบบเร็วทุก ๆ 50 ไมล์ตามทางหลวงสายหลัก แต่มีเพียงไม่กี่รัฐเท่านั้นที่ได้รับสัญญาก่อสร้างสถานี ทำให้สถานีชาร์จยังไม่เพียงพอในทางหลวงสายหลัก
สถานีชาร์จแบบเร็วที่กระจัดกระจายทำให้ผู้คนลังเลที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยผู้ใช้รถส่วนใหญ่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน แต่สำหรับผู้ที่เดินทางระยะไกลต้องการสถานีชาร์จที่สามารถชาร์จรถยนต์ภายใน 30 – 45 นาที
นาง Womack รองประธานบริษัท ParkMobile ที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ให้บริการที่จอดรถเกี่ยวกับการติดตั้งสถานีชาร์จ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อมีรถยนต์ไฟฟ้าแต่ไม่สามารถใช้เพื่อเดินทางระยะไกลได้ เพราะความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จ
เมื่อเดือนที่ผ่านมา Congressional Budget Office ได้คาดการณ์ว่า รถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์สำหรับเครดิตภาษีและการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จภายใต้กฎหมายโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้มีรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42 ของยานพาหนะทั้งหมดที่ขายในสหรัฐฯ ภายใน 10 ปี ซึ่งจะมากกว่า 4 เท่าของส่วนแบ่งการตลาดในปัจจุบัน
การลงทุนจากภาคเอกชนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจะช่วยเร่งการขยายของสถานีชาร์จได้ โดยผู้ให้บริการศูนย์บริการริมถนน เช่น Circle K, Pilot Flying J, Sheetz เป็นต้น กำลังติดตั้งสถานีชาร์จข้างสถานีบริการน้ำมัน รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์อย่างเจนเนอรัล มอเตอร์ส และเมอร์เซเดส-เบนซ์กำลังติดตั้งสถานีชาร์จอยู่เช่นกัน โดยในปีหน้าเครือข่ายสถานีชาร์จของเทสล่าที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ จะเปิดให้บริการสำหรับรถยนต์ยี่ห้ออื่นด้วย เช่น ฟอร์ด เจนเนอรัล มอเตอร์ส เป็นต้น
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจกับการหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รถยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สหรัฐฯ นำมาใช้ในการดำเนินนโยบาย และได้ใช้มาตรการเครดิตภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น อย่างไรก็ดี รถยนต์ไฟฟ้าที่ผ่านหลักเกณฑ์ในการเครดิตภาษีจะต้องมีการผลิตหรือใช้ส่วนประกอบที่ผลิตในประเทศ อาจทำให้ผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนแบตเตอรี่ในไทยได้รับผลกระทบ ดังนั้น ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงควรติดตามข่าวสารและนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลอ้างอิง: NY times, สคต. นิวยอร์ก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : นโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐอเมริกา