ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 เวียดนามปรับปรุงกฎหมายสําหรับการเข้า-ออกของพลเมืองเวียดนาม รวมถึงการเข้า-ออก และพำนักอาศัยของชาวต่างชาติ ให้มีความผ่อนปรนมากขึ้น และนักท่องเที่ยวสามารถพำนักในเวียดนามได้นานขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดสําหรับฤดูกาลท่องเที่ยวในเวียดนามที่กำลังจะมาถึง
การเปลี่ยนแปลงที่สําคัญ คือนักท่องเที่ยวที่มีวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (e-visa) จะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 90 วัน จากเดิมที่อยู่ได้เพียง 30 วัน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้า-ออกเวียดนามได้หลายครั้งภายใน 90 วันดังกล่าว โดยไม่จําเป็นต้องยื่นขอวีซ่าใหม่ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ พลเมืองจากประเทศที่เวียดนามอนุญาตให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า จะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 45 วัน เพิ่มขึ้นจากเดิม ที่ให้อยู่ได้เพียง 15 วัน รวมทั้งได้วางระเบียบสําหรับการออกวีซ่าและขยายเวลาพำนักอาศัยให้เป็นไปตามแนวทางที่กําหนดไว้
สํานักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศเวียดนาม สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเหล่านี้ จะช่วยให้การท่องเที่ยวของเวียดนามเติบโตอย่างมาก คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้น ซึ่งสามารถนําไปสู่โอกาสทางการลงทุนในเวียดนามได้อีกด้วย
ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเกือบ 6.6 ล้านคนมาท่องเที่ยวในเวียดนาม ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายทั้งปี ที่จำนวน 8 ล้านคน และคาดได้ว่าตลาดการท่องเที่ยวเวียดนามจะเติบโตมากขึ้นกว่านั้นในช่วงฤดูการท่องเที่ยวปลายปี
ตัวแทนของบริษัท Agoda ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวออนไลน์ กล่าวว่า การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการต่ออายุวีซ่าของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 ในช่วงสองสัปดาห์หลังจากสภาแห่งชาติอนุมัติกฎระเบียบใหม่ดังกล่าว
นาย Nguyen Trung Khanh ผู้อํานวยการสํานักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศเวียดนาม กล่าวว่า ในขณะที่นโยบายวีซ่าที่ผ่อนปรนมากขึ้นเป็นสิ่งสําคัญ แต่ต้องเพิ่มความดึงดูดของเวียดนามให้กับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดตลาดต่างประเทศ ควบคู่กันด้วย
เมื่อพิจารณาถึงอัตราการเติบโตในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีการเพิ่มกำลังคนถึงจำนวน 40,000 คนต่อปี นอกเหนือไปจากการจัดฝึกอบรมพนักงานจำนวน 25,000 คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถาบันการศึกษามีนักศึกษาจบการศึกษาเพียง 20,000 คนต่อปี สัดส่วนของบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเชี่ยวชาญในภาคการท่องเที่ยวยังคงไม่เพียงพอ โดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 43 ของกำลังแรงงานทั้งหมด โดยเกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานในภาคการท่องเที่ยวยังขาดทักษะด้านภาษาต่างประเทศ
ระดับทักษะของแรงงานด้านการท่องเที่ยวในเวียดนามยังช้ากว่าของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมในเวียดนามมีผลผลิตต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโรงแรมในประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่นและมาเลเซีย ความแตกต่างนี้อาจขัดขวางความสามารถในการแข่งขันของแรงงานในท้องถิ่น เมื่อเทียบกับแรงงานด้านการท่องเที่ยวที่มีทักษะจากฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ที่แสวงหาโอกาสในเวียดนาม
วิเคราะห์ผลกระทบ
นโยบายวีซ่าใหม่ได้รับการอนุมัติจากสภาแห่งชาติและมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566
โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญคือนักท่องเที่ยวที่มีวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์ (e-visa) จะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 90 วัน จากเดิมอยู่ได้เพียง 30 วัน และนักท่องเที่ยวสามารถเข้า-ออกเวียดนามได้หลายครั้งภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องยื่นขอวีซ่าใหม่ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ พลเมืองจากประเทศที่เวียดนามอนุญาตให้เข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า รวมถึงประเทศไทย จะได้รับอนุญาตให้อยู่ได้นานถึง 45 วัน เพิ่มขึ้นจากแต่เดิมที่อยู่ได้เพียง 15 วัน ซึ่งนอกเหนือจากกลุ่มนักท่องเที่ยว นโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์กับผู้ที่เดินทางมาติดต่อธุรกิจ/สำรวจตลาดสินค้าในเวียดนาม และมีความจำเป็นการพักอาศัยในเวียดนามนานกว่า 1 เดือน
นำเสนอโอกาส/แนวทาง
การกำหนดนโยบายวีซ่าใหม่ของเวียดนาม ไม่เพียงช่วยกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ การบิน และการโรงแรมอีกด้วยซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มากขึ้นในเวียดนาม จะส่งผลให้มีความต้องการสินค้ารองรับในอุตสาหกรรมโรงแรม ร้านค้าสินค้าและบริการตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร หรือกลุ่มธุรกิจ HORECA เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องปรุงอาหาร ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับโรงแรม ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ในการขยายตลาดสินค้าและบริการไทยไปยังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเวียดนาม อาทิ นครดานัง เมืองญาจาง นอกเหนือจากตลาดเมืองหลักอย่างนครโฮจิมินห์ และกรุงฮานอย
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)