หน้าแรกTrade insight > นักวิจัยเตือนภัยหลอดรักษ์โลก สาร PFAS ทำเสี่ยงหลายโรค

นักวิจัยเตือนภัยหลอดรักษ์โลก สาร PFAS ทำเสี่ยงหลายโรค

นักวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยมได้ทำการสุ่มตรวจหลอดดูดน้ำที่ทำจากวัสดุชนิดต่างๆ ได้แก่ หลอดกระดาษ หลอดไม้ไผ่ หลอดแก้ว หลอดสแตนเลส และหลอดพลาสติก รวม 39 ตัวอย่าง เพื่อพิสูจน์หาสารเคมีปนเปื้อนจำพวก PFAS (Per- and Polyfluorinated Substances) ซึ่งสามารถก่ออันตรายต่อสุขภาพได้  และพบว่าตัวอย่างที่ถูกตรวจสอบถึงร้อยละ 69  มีสารเคมีกลุ่มนี้ปะปนอยู่  โดยเฉพาะหลอดกระดาษ  (ร้อยละ 90) หลอดไม้ไผ่ (ร้อยละ 80) หลอดพลาสติก (ร้อยละ 75) และหลอดแก้ว (ร้อยละ 40) โดยมีเพียงหลอดสแตนเลสที่ตรวจไม่พบสารเคมี PFAS ทั้งนี้ สารเคมีปนเปื้อนชนิดที่พบสูงสุด ได้แก่ กรดเปอร์ฟลูออโรออคตาโนอิค (perfluorooctanoic acid) ซึ่งถูกห้ามใช้งานในสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยคาดว่ามีการปนเปื้อนสารชนิดนี้มาจากวัสดุที่ใช้ในการผลิต

 

หน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหารของออสเตรีย (AGES) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารปนเปื้อนกลุ่ม PFAS โดยระบุว่าอาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ อาทิ การลดอัตราการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน การทำให้ค่าคอเลสเตอรอลสูงขึ้น การเป็นพิษต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การขัดขวางพัฒนาการของต่อมน้ำนม การทำให้น้ำหนักแรกเกิดลดลง และการก่อมะเร็งไตและมะเร็งอัณฑะในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ สาร PFAS ยังเป็นสารเคมีที่ย่อยสลายได้ยาก และส่งผลให้หลอดดูดน้ำที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามคำกล่าวอ้างอีกต่อไป สารเคมีกลุ่มนี้ยังสามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ สารเคลือบผ้า กระดาษรองอบอาหาร แว็กซ์เคลือบสกี น้ำยาดับเพลิง และเครื่องสำอาง เช่น ที่ปัดขนตา (มาสคาร่า) ครีมรองพื้น และลิปสติก เป็นต้น

 

ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ

สหภาพยุโรปได้สั่งห้ามใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง รวมถึงหลอดพลาสติก มาตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) นับจากนั้นมามีการใช้งานหลอดกระดาษและหลอดไม้ไผ่อย่างแพร่หลายมากขึ้น การค้นพบสารปนเปื้อนทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกตั้งคำถามถึงความปลอดภัยและอาจทำให้ความนิยมลดลงหรือถูกสั่งห้ามใช้ในที่สุด จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งประเทศไทยมีวัตถุดิบที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทน

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา

สิงหาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login