หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Wellness > ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพและความงาม (Salon & Sport Club) ในตลาดอินเดีย

ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพและความงาม (Salon & Sport Club) ในตลาดอินเดีย

1. ภาพรวมของตลาด
จากรากฐานการแพทย์แผนโบราณของอินเดียหรืออายุรเวท ทำให้คนอินเดียคุ้นเคยกับการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจด้วยวิถีของธรรมชาติ ธุรกิจบริการเพื่อการบำรุงและบำบัด/ฟื้นฟูสุขภาพรวมถึงความงามจึงเป็นที่นิยมในสังคมอินเดีย จากการประเมินของ Federation of Indian Chambers of Commerce & Industry (FCCI) ระบุว่ามูลค่าของธุรกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness) มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยถูกขับเคลื่อนโดยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีอัตราเติบโตประมาณ 7.5% ครอบคลุมบริการในสาขาต่างๆ หลายด้าน อาทิ บริการนวดเพื่อผ่อนคลาย บริการเสริมสวยและสปาเพื่อความงาม ศูนย์โยคะ ศูนย์ออกกำลังกายและศูนย์ลดน้ำหนัก ในขณะเดียวกัน อินเดียสามารถผลิตยาและอาหารเสริมได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศ รวมถึงความพร้อมด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถให้บริการเป็นภาษาอังกฤษได้ ทำให้ดึงดูดและรองรับลูกค้าจากต่างประเทศได้ด้วย โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางและรัสเซีย
ระดับราคาการรักษาของอินเดียเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ

จากศักยภาพนี้ รัฐบาลอินเดียกำหนดให้ธุรกิจส่งเสริมสุขภาพเป็นหนึ่งในสาขาที่อินเดียต้องพึ่งพาตนเองให้ได้ (Make in India) โดยตั้งกระทรวงขึ้นมารับผิดชอบเป็นการเฉพาะ (Ministry of Ayurveda, Yoga & Naturopathy, Unani, Siddha and Homoeopathy: AYUSH) ตั้งแต่ปี 2557 และตั้งเป้าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพระดับโลก (Top Wellness Destination) โดยรวมถึงเชื่อมโยงสินค้าและบริการกับจุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละรัฐด้วย พร้อมทั้งมอบหมายให้สถานทูตของอินเดียในต่างประเทศจัดกิจกรรมพร้อมกันทั่วโลกในชื่อ International Arogya เพื่อสร้างแบรนด์ของประเทศในด้านนี้ให้ชัดเจนเป็นที่จดจำ และกำหนดมาตรการจูงใจให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ รวมถึงการร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้อง

พร้อมกันนั้น รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นให้บริษัทรายใหญ่จัดสวัสดิการด้านบริการสุขภาพให้กับพนักงาน (Corporate Wellness Programme) และยกเว้นภาษีให้กับสถานบริการส่งเสริมสุขภาพที่เข้าร่วมโครงการ ในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาแรงงานทักษะของบุคลากร ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 14 ล้านคน

2. แนวโน้มความต้องการของตลาด
ผลการศึกษาโดย Numb Research พบว่าคนรุ่นใหม่ในวัย Millennials จำนวนประมาณ 400 ล้านคนมี
การใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพประมาณเดือนละ 2,000 บาท การขยายตัวของธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเป็นโอกาสของผู้ประกอบการต่างชาติด้วย โดยธุรกิจที่ไทยมีความชำนาญ ได้แก่ บริการนวดเพื่อผ่อนคลาย สถานเสริมความงาม (beauty salon) ศูนย์ลดน้ำหนัก/สถานออกกำลังกาย (sport club) รวมถึงค่ายมวยไทย ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจสร้างทางเลือกในตลาดให้หลากหลายมากขึ้นทั้งสำหรับผู้บริโภคชาวอินเดียเองและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประกอบกับทักษะการให้บริการและสินค้าจากไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะธุรกิจบริการสปาที่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวสูง
Spa Association of India ระบุว่าตลาดของธุรกิจสปาในอินเดียยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่มีมูลค่าสูงถึง 56,000 ล้านบาท โดย 50% ของตลาดสปาในอินเดียยังเป็นบริการที่ตั้งอยู่ในโรงแรม/รีสอร์ท ในขณะที่ร้านสปาที่แยกออกมาจากโรงแรม/รีสอร์ท (Stand-alone) มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการด้านการดูแลผิวและผมสำหรับผู้หญิงและผู้ชายในวัยทำงาน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเพื่อร่วมพิธีต่างๆ นอกจากนี้ อินเดียอยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะโดยสถาบันฝึกอบรมของรัฐและเอกชนด้วย จึงมีโอกาสสำหรับสถาบันฝึกอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสปาด้วย
2.1 ร้านเสริมสวยและสปาเพื่อความงาม (Beauty Salon)
จากข้อมูลด้านประชากรพบว่าธุรกิจบริการเพื่อความงามที่ไม่ต้องใช้การผ่าตัด (non-surgical)มีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันโดย 60% ของประชากรมีอายุต่ำกว่า 35 ปี และในปี 2570 รายได้ต่อหัวของคนอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,135 เหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีกำลังซื้อสูงขึ้น ทำให้มีความพร้อมที่จะใช้จ่ายไปกับการดูแลรูปลักษณ์รวมถึงการเตรียมตัวแต่งงานด้วย โดยลูกค้าที่เป็นนักศึกษาและคนที่เริ่มทำงานมักมีเวลาจำกัดและมีพฤติกรรมรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโซเชียล และส่วนใหญ่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ไปทดลองใช้เอง โดยนิยมใช้สินค้าขนาดเล็ก พกพาสะดวก และไม่ใช้สารเคมี
สำหรับผู้หญิงที่มีครอบครัวแล้ว จะสนใจในบริการฟื้นฟูสภาพผิวมากขึ้น (Skin Rejuvenation) โดยมีแนวโน้มขยายตัวสูงถึงปีละประมาณ 25 – 30% ทั้งนี้ ผู้บริโภคไม่ได้มองว่าการใช้บริการเสริมสวยเป็นค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยหรือหรูหราจนเข้าถึงได้ยาก และนิยมที่จะใช้บริการจากพนักงานที่เป็นเพศเดียวกันมากกว่าแม้ว่าในปัจจุบันผู้ให้บริการเสริมสวยจะเป็นผู้ชายอยู่บ้างก็ตาม ในขณะที่ ผู้ชายที่ทำงานแล้วจะเน้นสินค้าที่ช่วยป้องกันแดดและไม่ทำให้รู้สึกเหนียวเนอะหนะ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาสินค้าและรูปแบบการให้บริการได้จากคู่แข่งที่มีอยู่ในตลาด อาทิ Lakmé Starfish Salon, Flick Kids, Kiddyzappy และ Diva & Dudes
ในส่วนของคลินิกที่ให้บริการศัลยกรรมเพื่อความงาม (Cosmetic Surgery) ยังคงมีจำนวนน้อยและมีเฉพาะในเมืองใหญ่ อาทิ มุมไบ ปูเน่ เดลี ไฮเดอราบัด และ บังกาลอร์ โดยบริการที่คนอินเดียให้ความสนใจ ได้แก่ การกำจัดขนและหนวด การลดขนาดหน้าอกของผู้หญิงและผู้ชาย การดูดไขมันเพื่อลดขนาดสะโพกและต้นแขน ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าการให้บริการดังกล่าวมีราคาที่ต่ำกว่าไทยและเกาหลีใต้ แต่การใช้บริการยังไม่แพร่หลายมากนัก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากค่านิยมของครอบครัวและความไม่แน่ใจในความปลอดภัย

สำหรับผู้ชายชาวอินเดีย มักมีความนิยมไว้หนวดเคราไม่มากก็น้อย และยังมีแนวโน้มที่จะมีการไว้หนวดเคราต่อไปจากต้นแบบที่ได้จากดารานักแสดงและนักกีฬาคริกเก็ต โดยบางส่วนมีพฤติกรรมใช้บริการร้านตัดผมในการตัดแต่ง/โกนหนวดและเครา ส่งผลให้มีบริการและผลิตภัณฑ์เสริมหล่อสำหรับผผู้ชาย (men’s grooming) รวมถึงน้ำหอมระงับกลิ่นกายด้วย
แนวโน้มของตลาดประการหนึ่งคือการให้บริการเสริมสวยถึงที่บ้าน (On-demand At-home / Mobile Beauty Service) โดยผู้ให้บริการจะนำอุปกรณ์จากร้านไปใช้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ร้านเสริมสวยไม่เปิดให้บริการ (ก่อน 7 โมงเช้า และหลัง 1 ทุ่ม) อาทิ การกำจัดขน ยืดและย้อมสีผม จัดแต่งทรงผมและแต่งหน้าให้แก่สมาชิกในครอบครัวเพื่อร่วมงานพิธีต่างๆ การให้บริการเสริมสวยในรูปแบบนี้คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 89,000 ล้านบาท ขยายตัว 18.6% ต่อปี โดยมีปัจจัยคือสตาร์ทอัพในธุรกิจบริการถึงบ้าน (Home Service Aggregator) อาทิ Housejoy ซึ่งมีรายได้จากการเป็นตัวกลางให้กับร้านเสริมสวย/โฮมสปา ในสัดส่วนถึง 30 – 40% ของรายได้ทั้งหมด โดยมียอดการให้บริการประมาณ 700 บาทต่อครั้ง ในขณะที่ รายได้ประมาณ 20% ของ UrbanClap มาจากการธุรกิจเสริมสวย/โฮมสปา โดยลูกค้ากว่า 65% มีการใช้บริการซ้ำ ด้วยยอดการใช้บริการประมาณ 700 บาทต่อครั้งเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีสตาร์ทอัพอีกหลายแห่งที่กำลังแข่งขันกันในตลาด อาทิ Vyomo, GetLook, BigStylist, Home Salon, Yes Madam, StayGlad, และ MyGlamm การขยายตัวของบริการในลักษณะนี้ทำให้ร้านเสริมสวย/เสริมหล่อแบบดั้งเดิมเริ่มติดต่อขอจับคู่เป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพที่สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น อาทิ Natuals Salons – Vyomo, Jean Claude – Home Salon, VLCC – VanityCube, และ Enrich Salons – Belita

2.2 สถานบริการออกกำลังกาย (Sport Club)
ธุรกิจบริการส่งเสริมสุขภาพอีกสาขาหนึ่งที่น่าจะเป็นโอกาสของไทยคือสถานบริการออกกำลังกาย ซึ่งมีอัตราขยายตัวประมาณปีละ 15% จากความต้องการที่จะลดน้ำหนักของชาวอินเดีย รวมถึงการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยที่เกิดจากความอ้วน ซึ่ง WHO ระบุว่าอินเดียมีผู้ป่วยเบาหวานมากถึง 51 ล้านคนและจะเพิ่มจำนวนเป็น 73.5 ล้านคนในปี 2568 และเป็นโรคหัวใจมากถึง 25 ล้านคน ประกอบกับข้อมูลของ NHA (National Health Account) ที่ระบุว่าการประกันสุขภาพที่ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างเพียงพอ ทำให้คนอินเดียต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้เกิดกระแสความใส่ใจในสุขภาพมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีจำนวนมากถึงประมาณ 250 ล้านคน
สำหรับลูกค้าเป้าหมายในธุรกิจนี้มักมุ่งไปที่คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีที่เริ่มมีเงิน เวลาและปัญหาสุขภาพ รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในอินเดีย โดยคนอินเดียมีความคุ้นเคยกับการนวด และชอบออกกำลังกายที่ผสมผสานไปกับกิจกรรมความบันเทิงด้วย อาทิ การเต้นตามจังหวะเพลง การฝึกมวย/ศิลปะป้องกันตัว และ การเล่นโยคะเพื่อพักผ่อนทางจิตใจไปด้วย

ไม่เพียงแต่การให้บริการด้านความงามเท่านั้นที่มีบริการถึงที่บ้าน แต่สถานออกกำลังกายและลดน้ำหนักก็กำลังตอบสนองความต้องการนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ไม่สะดวกในการเดินทาง ผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ รวมถึงลูกค้าที่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่บ้านแล้ว (Home Gym) โดยบริษัทจะส่งพนักงานที่เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดหรือนักโภชนาการไปให้บริการที่สอดคล้องกับแต่ละครอบครัวหรือสำนักงาน โดยมีสตาร์ทอัพที่มีชื่อเสียง ได้แก่ Cure.fit, MapMyGenome และ Xcode Lifesciences
ในการลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจ Wellness มีทั้งที่เป็นการลงทุนเพื่อเริ่มต้นธุรกิจในอินเดีย (Greenfield Investment) และการเข้าไปร่วมลงทุนกับกิจการที่มีอยู่แล้วในอินเดีย โดยรัฐบาลอินเดียเปิดรับการลงทุนโดยให้ต่างชาติถือหุ้นได้สูงสุดถึง 100% พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการตรวจลงตราสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารับบริการเชิงสุขภาพด้วย โดยสามารถเข้าประเทศอินเดียได้หลายครั้ง ส่งผลให้มีธุรกิจ Wellness จากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในอินเดียเพิ่มขึ้น อาทิ Toni & Guy, Truefitt & Hill และ Marie Claire
ในส่วนของการเข้ามาลงทุนในกิจการที่มีอยู่แล้ว นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามาลงทุนในธุรกิจการค้าออนไลน์ที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้รับและผู้ให้บริการ (Service Aggregators / Service Marketplace) อาทิ Urban Clap และ Quikr นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าบริษัทและนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพและสินค้าที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจากการสำรวจของ Nasscom พบว่าสตาร์ทอัพด้านบริการสุขภาพมีโอกาสจะเติบโตเช่นเดียวกับสตาร์ทอัพในกลุ่ม EducationTech และ Logistics/FinTech

3.สภาพการแข่งขันและความท้าทายในตลาดอินเดีย
แม้ว่าอินเดียจะส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจบริการสาขานี้อย่างเต็มที่ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีความท้าทายอยู่หลายประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องศึกษาลู่ทางก่อนเจาะตลาดอินเดีย ได้แก่
3.1 การแข่งขันกับสินค้าและบริการของอินเดีย อินเดียมีทรัพยากรทางชีวภาพที่หลากหลายใน
การผลิตสินค้าสมุนไพรแปรรูป รวมถึงมีกระแสความต้องตลาดที่นิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีในประเทศไทยเช่นเดียวกัน อาทิ มะกรูด มะขาม ว่านหางจระเข้ อัญชัน ขมิ้น น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันหอมระเหยจากพืชต่างๆ แม้ว่าสินค้าจากไทยหลายรายการได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA แต่บางรายการยังต้องเสียอากรนำเข้าในอัตรา 5% เมื่อรวมกับค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายทางการตลาด รวมถึงส่วนแบ่งกำไรในแต่ละช่วงของห่วงโซ่การค้าแล้ว อาทิ ผู้นำเข้าและกระจายสินค้าประมาณ 10-15% และ ร้านสปา/สถานบริการความงามอีกประมาณ 10-15% ทำให้สินค้าไทยมีราคาค่อนข้างสูง ในขณะที่ คนอินเดียมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ค่อนข้างประหยัดและคุ้นเคยกับสินค้าแบบอินเดีย/อายุรเวท การวางตำแหน่งของสินค้าและบริการของไทยจึงอาจจำเป็นต้องมุ่งเน้นไปที่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก
3.2 กฎระเบียบและมาตรฐานของผู้ปฏิบัติงาน
รัฐบาลอินเดียได้ตั้ง National Accreditation Board for Hospitals & Healthcare Providers (NABH) ขึ้นมากำหนดมาตรฐานการปฏิบัติในการให้บริการด้านความงาม สปา ศูนย์ดูแลผิวพรรณ ศูนย์ลดน้ำหนักและส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ รวมถึงเป็นหน่วยงานที่ออกใบรับรองทักษะการทำงานด้วย โดยร่วมกับสมาคม International Beauty Therapy Association ของสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการทั้งภายในประเทศและเอื้อให้บุคลากรของอินเดียสามารถเดินทางออกไปให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย ในอนาคต การให้บริการในอินเดียอาจมีความจำเป็นที่ต้องจ้างบุคลากรที่มีใบรับรองของ NABH ซึ่งหมายความว่าธุรกิจไทยที่เข้ามาลงทุนในอินเดียอาจไม่สามารถใช้พนักงานที่นำมาจากประเทศไทยได้
นอกจากนี้ การตรวจลงตราให้กับผู้ที่เดินทางมาทำงานในอินเดียมีเงื่อนไขโดยทั่วไปว่าต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 25,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถเดินทางเข้ามาทำธุรกิจในอินเดียได้ จึงอาจต้องคัดเลือกและฝึกอบรมพนักงาน/ผู้จัดการในท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวอินเดียจากรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีลักษณะคล้ายคนไทยและมักมีทักษะการให้บริการที่ดี รวมถึงต้องเฟ้นหาหุ้นส่วนชาวอินเดียที่ไว้วางใจได้เพื่อการลงทุนร่วมกันอย่างยั่งยืน

3.3 ขั้นตอนการนำเข้าสินค้าเพื่อนำมาใช้การให้บริการ
การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ Wellness ในอินเดียเป็นช่องทางในการนำสินค้าจากไทยเข้าไปใช้ในกระบวนการบำบัด ฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปจาก SMEs อย่างไรก็ดี การนำเข้าผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์ประทินผิว เครื่องหอม น้ำมันและผลิตภัณฑ์สำหรับนวดสปาที่ไม่มีฤทธิ์ทางยา จะจัดอยู่ในข่ายของการนำเข้าเครื่องสำอาง เช่นเดียวกับสบู่ แชมพู สีย้อมผม และ เครื่องสำอางอื่นๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานด้านเอกสารผ่านผู้นำเข้าในอินเดียซึ่งต้องมีการประสานงานและใช้เวลาค่อนข้างนาน
ระเบียบการนำเข้าของอินเดียบังคับให้ผู้นำเข้าต้องยื่นขอใบรับรองการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ (Registration Certificate) โดยผู้ผลิตที่จดทะเบียนในอินเดีย ผู้นำเข้าหรือบุคคลที่จะนำเข้า ต้องเป็นผู้ยื่นเอกสารต่อ Cosmetics Division, Central Drugs Standard Control Organization (CDSCO), Ministry of Health & Family Welfare โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณ 8,300 บาทต่อหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งอาจจะมีหลายสีหรือหลายขนาดก็ได้ โดยใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 3-6 เดือนนับจากวันที่ยื่นใบสมัครและเอกสารต่างๆ อย่างครบถ้วน ได้แก่
1.จดหมายปะหน้า และ จดหมายที่อนุญาตให้ผู้นำเข้านำไปจำหน่ายในอินเดีย
2.หนังสือมอบอำนาจ (Power of Attorney) ที่รับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย
3.แบบฟอร์ม 42 ระบุส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์
4.ฉลากสินค้าตัวจริงที่ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต
5.ใบอนุญาตการผลิตที่รับรองโดยหน่วยงานไทย
6.เอกสารชี้แจงผลการทดสอบความปลอดภัยต่างๆ (ไม่จำเป็นต้องมี
Certificate of Analysis)
7.หนังสือยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่ได้มีการทดสอบในสัตว์
8.หลักฐานที่ประเทศอื่นได้อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์นี้ หรือเคยได้รับการจดทะเบียนในประเทศอื่นมาแล้ว
9.หลักฐานประกอบการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิต ผลการตรวจสอบสรรพคุณ
10.ใบเสร็จจากการโอนเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมไปยัง CDSCO ณ กรุงนิวเดลี
เมื่อได้รับการอนุมัติ Registration Certificate (ซึ่งมีอายุ 3 เดือน) รวมทั้งหมายเลข
การจดทะเบียนผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้ผลิตไทยต้องนำหมายเลขทะเบียนมาบรรจุไว้ในฉลาก พร้อมระบุชื่อและที่อยู่ของผู้นำเข้า ชื่อที่อยู่ของผู้ผลิตในไทย ชื่อประเทศต้นทาง และวันที่ที่ได้รับการจดทะเบียนด้วย ทั้งนี้ หากเป็นการนำเข้าเป็นจำนวนมากเพื่อการทดลองใช้กับผู้บริโภคชาวอินเดีย หรือทดสอบอายุการเก็บรักษา (Shelf-life study) รวมถึงนำเข้ามาต่อยอดการผลิต นำมาลองบรรจุหีบห่อ หรือแบ่งบรรจุในหีบห่อที่เล็กลง (Repacking) เพื่อการส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นทั้งหมด จะได้รับการยกเว้นในการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ แต่ต้องทำหนังสือ No Objection Certificate ส่งไปยัง CDSCO เพื่อยืนยันว่าจะไม่นำผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปจำหน่ายในประเทศอินเดีย

4. แนวทางการส่งเสริมตลาดและการสนับสนุนของภาครัฐ
4.1 สร้างภาพลักษณ์ระดับพรีเมียม
จากภาวะการแข่งขันในตลาดที่มุ่งเน้นตลาดในระดับชนชั้นกลางและคนรุ่นใหม่ ในขณะที่ สินค้าและบริการของไทยมีคุณภาพและต้นทุนค่อนข้างสูง การวางตำแหน่งของสินค้าและบริการของไทยในอินเดียจึงอาจต้องเน้นหนักไปที่ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงและมีคาดหวังการให้บริการระดับพรีเมียม ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาหาพันธมิตรหรือหุ้นส่วนเพื่อร่วมลงทุนกับธุรกิจโรงแรมและห้างสรรพสินค้า (high-end) สโมสรของชนชั้นสูง (Elite Club) รวมถึงการให้บริการสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate Wellness) ซึ่งสามารถศึกษาตัวอย่างได้จากการให้สวัสดิการแก่พนักงานของบริษัท Wipro and Accenture, Larsen & Toubro Infotech, Tata Consultancy Services และ Castrol India นอกจากนี้ ควรหาโอกาสทำกิจกรรมและร่วมแพ็คเกจกับกับบริษัทประกันสุขภาพและศูนย์ wellness ของโรงพยาบาลเอกชนและสปอร์ตคลับของชนชั้นสูง ในขณะเดียวกัน ภาครัฐและสมาคมธุรกิจที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันสร้างการรับรู้ในจุดเด่นและมาตรฐานการให้บริการของไทยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
4.2 ขยายตลาดผ่านสถาบันฝึกอบรมและระบบแฟรนไชส์
ผู้ประกอบการไทยอาจเข้าสู่ตลาดโดยการให้บริการคำปรึกษาและฝึกอบรมด้านการบริหารจัดการสปา/บริการเพื่อความงาม ซึ่งในปัจจุบันมีธุรกิจของอินเดียเริ่มให้บริการฝึกอบรมในระดับปฏิบัติการแล้วหลายสถาบันและกำลังขยายสาขาด้วยรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ อาทิ VLCC Institute of Beauty and Nutrition ซึ่งมีสาขากว่า 80 แห่งทั่วประเทศ เน้นสอนด้านการบำรุงผิว ผมและเล็บ มีเป้าหมายจะฝึกอบรมให้ได้ 30,000 คนต่อปี
ในขณะที่ สถานบัน Shahnaz Husain Beauty Training Academy ซึ่งมีสาขาประมาณ 75 แห่งทั่วประเทศจะเน้นการให้บริการแนวอายุรเวทแบบอินเดียโบราณ โดยธุรกิจการศึกษาเหล่านี้มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจคือการมีคอร์สสอนที่ไม่คิดค่าเล่าเรียนด้วย การให้เงินกู้เพื่อนำไปเป็นทุนเริ่มต้นธุรกิจ และการขายเครื่องมือและสินค้าเพื่อนำไปใช้ในราคาสมาชิก/ศิษย์เก่า ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจเรียนรู้จากกรณีศึกษาของ Lakmé Academy, Jawed Habib Academy, Enrich Academy และ O2 Skills โดยต้องศึกษามาตรฐานวิชาชีพที่รัฐบาลกำหนดไว้ด้วย

5. ข้อเสนอแนะ และ ข้อคิดเห็น
5.1 หากผู้ประกอบการต้องการนำผลิตภัณฑ์จากไทยไปใช้ในการให้บริการความงามและสปาควรนำสินค้าไปจดทะเบียนเพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในอินเดียก่อนนำสินค้าเข้ามาใช้ ประชาสัมพันธ์/จัดแสดงสินค้า หรือส่งเอกสารแสดงสูตร/ส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ไปให้ผู้นำเข้าดำเนินการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ควรพัฒนาสินค้าให้ได้รับมาตรฐาน GMP และ Halal ด้วยเพื่อเสริมความน่าเชื่อถือและคุณค่าเพิ่ม
5.2 ศึกษารูปแบบและราคาของบริการและผลิตภัณฑ์ รวมถึงช่องว่างทางการตลาดจากคู่แข่ง ทั้งจากเว็บไซต์ของผู้ให้บริการเสริมสวย ร้านสปา ร้านยา (Phamacy Chain) สตาร์ทอัพ และตลาดออนไลน์ที่ขายสินค้าที่เกี่ยวข้อง อาทิ Nykka, Jabong, Theskinstore, Joybynature และ Strawberrynet รวมถึงกระแสความนิยมที่เคลื่อนไหวในตลาดผ่าน Bloggers/Youtubers อาทิ WiseShe, MissMalini และ Be Beautilicious เพื่อเป็นข้อมูลในการปรับปรุงจุดขายและแนวทางการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ
5.3 ส่งเสริมตลาดเฉพาะกลุ่มลูกค้า อาทิ ลูกค้าในออฟฟิตและผู้โดยสาร (ที่ใช้เวลารับบริการไม่นาน อาทิ นวดคอ บ่า ไหล่) ลูกค้าเฉพาะเพศชาย ผู้สูงอายุ แพ็คเกจสำหรับครอบครัวที่เตรียมเข้าพิธีแต่งงานหรือตั้งครรภ์ และลูกค้าบนเรือสำราญ โดยอาจติดต่อและประชาสัมพันธ์ไปยังสมาคมหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจท่องเที่ยวและที่พักในอินเดีย รวมถึงโรงแรมในไทยที่คนอินเดียนิยมมาพักเพื่อสร้างความคุ้นเคยในสินค้า/บริการ
นอกจากนี้ อาจปรับสินค้าและการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่รักธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีการให้บริการส่งเสริมสุขภาพโดยใช้ผลิตภัณฑ์อินทรีย์บ้างแล้ว (Organic Spa & Salon) แต่ยังมีผู้ให้บริการจำนวนน้อย อาทิ Bella Vita Organic Salon, NEU Salon และ Kerastase Botanica โดยอาจออกแบบบรรจุภัณฑ์และการตกแต่งแบบไทยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
5.4 ธุรกิจบริการสปาที่มีอยู่ในอินเดีย บางส่วนเป็นธุรกิจของชาวอินเดียที่นำรูปแบบการให้บริการและการตกแต่งแบบไทยไปประยุกต์และต่อยอด ส่งผลให้ธุรกิจบริการสปาจากไทยมีภาพลักษณ์ที่หลากหลาย หากมีการตรวจรับรองและให้ตราสัญลักษณ์เพื่อเป็นการยืนยันคุณภาพ (Thai Select) อาจช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความแตกต่างและสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยเฉพาะร้านสปา/เสริมสวยในพื้นที่ห้างและโรงแรม นอกจากนี้ หากมีเว็บไซต์/แพลตฟอร์มเป็นแหล่งรวมผู้ให้บริการที่มีคุณภาพจากไทยก็จะเอื้อให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายสามารถตัดสินใจเลือกและจองวัน/เวลารับบริการได้ง่ายขึ้นด้วย
5.5 ไทยซึ่งมีความได้เปรียบในด้านการให้บริการ ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมความงามอาจพิจารณาต่อยอดไปสู่ธุรกิจบริการ อาทิ ร้านทำเล็บ เป็นต้น โดยฝึกฝนพนักงานชาวอินเดียสามารถให้บริการได้ใกล้เคียงกับมาตรฐานของไทย โดยนำผลิตภัณฑ์ของไทยเข้าไปใช้ ซึ่งคนอินเดียมีความเชื่อมั่นในคุณภาพอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในการกำหนดราคา ควรพิจารณาให้มีระดับที่ต่ำกว่าราคาของ top brand แต่สูงกว่าแบรนด์ในอินเดีย

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ thaitrademumbai@gmail.com

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login