หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารของสวีเดน

ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารของสวีเดน

1. ภาพรวมทั่วไป
สวีเดนตั้งอยู่ในแถบยุโรปตอนเหนือในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เป็นสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union: EU) ใช้เงินสกุลโครนสวีเดน ปัจจุบันมีประชากรรวม 10.56 ล้านคน ตามข้อมูลของธนาคารโลกGDP/capita PPP อยู่ที่ 59,324 เหรียญสหรัฐ
สวีเดนมีร้านค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมดมากกว่า 3,000 ร้านทั่วประเทศ ในชนบท ร้านขายของชำมักทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชน โดยให้บริการร้านขายยา บริการไปรษณีย์ และรับพัสดุ
อย่างไรก็ดี ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารสวีเดนไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนโดยการเติบโตของประชากร และอัตราเงินเฟ้อเป็นส่วนใหญ่ อัตราการเติบโตในแต่ละปีอยู่ระหว่าง 2-3%
ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารสวีเดนมีบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ ICA, Axfood, Coop, Lidl และ Bergendahls โดยผู้เล่นรายใหญ่ 3 ราย ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 90% ซึ่งประกอบด้วย ICA, Axfood และ Coop ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 90%
ทั้งนี้ ในกลุ่ม discount store นั้น Willys มีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งที่สุด ถึงแม้ว่ากลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพียงแค่ 1 ใน 5 ของตลาดทั้งหมด แต่ในช่วง 2560 – 2565 การเติบโตเฉลี่ยต่อปีของกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 9% เมื่อเทียบกับการเติบโตเพียงกว่า 4% ของตลาดโดยรวม

2. การค้าปลีกสวีเดน ปี 2567 – 2568
2.1 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ข้อมูลของสำนักงานสถิติสวีเดน (Statistics Sweden) ระบุว่า ณ เดือนมิถุนายน 2567 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสวีเดนอยู่ที่ 2.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกันยายน 2564
อย่างไรก็ดี Svensk Handel ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนการค้า ได้สังเกตเห็นความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ทั้งในภาคค้าปลีกและค้าส่ง แม้ว่าอีคอมเมิร์ซจะดูมีแนวโน้มแย่ลง จนถึงปลายปี 2567 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีผลกระทบทั้งในด้านบวกและลบต่อภาคการค้าปลีก ดังนี้:

2.2.1 ปัจจัยบวก:
o ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น: ความเชื่อมั่นในภาคค้าปลีกและค้าส่งที่สูงขึ้นสามารถกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การฟื้นตัวของยอดขายในร้านค้า (offline retail) และกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่ง
o โอกาสในการพัฒนาร้านค้า: หากอีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มชะลอตัว ผู้ค้าปลีกอาจมองเห็นโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพของร้านค้า เพื่อดึงดูดลูกค้าที่อาจหันกลับมาใช้บริการร้านค้าแบบออฟไลน์มากขึ้น
o เพิ่มความสำคัญต่อธุรกิจท้องถิ่น: การฟื้นตัวของค้าปลีกและค้าส่งในท้องถิ่นอาจส่งผลให้ธุรกิจขนาดเล็กหรือร้านค้าที่ตั้งอยู่ในชุมชนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และมีโอกาสดึงดูดลูกค้าท้องถิ่นมากขึ้น
2.2.2 ปัจจัยลบ:
o อีคอมเมิร์ซชะลอตัว: การชะลอตัวของอีคอมเมิร์ซอาจส่งผลให้ธุรกิจที่พึ่งพาการขายออนไลน์ได้รับผลกระทบเชิงลบ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ค้าปลีกที่มีรูปแบบธุรกิจเน้นการขายออนไลน์เป็นหลัก
o การปรับตัวล่าช้า: แม้ว่าความเชื่อมั่นจะเพิ่มขึ้น แต่หากธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่งไม่สามารถปรับตัวตามแนวโน้มและพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ทัน อาจทำให้พลาดโอกาสในการแข่งขันกับคู่แข่งที่สามารถปรับตัวได้รวดเร็วกว่า
o ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ: ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นจะสูงขึ้น แต่หากเศรษฐกิจโดยรวมยังมีความไม่แน่นอน เช่น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นหรือเงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลง อาจส่งผลให้การฟื้นตัวของค้าปลีกไม่ยั่งยืน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Statistics Sweden เผยให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปี 2024 เงินออมของครัวเรือนในสวีเดนเพิ่มขึ้น 21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน มีมูลค่ารวม 82,000 ล้านโครนสวีเดน (ประมาณ 7,290 ล้านยูโร) โดย Euromonitor คาดว่าเศรษฐกิจของสวีเดนจะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2024 สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคที่ดีขึ้นจะส่งผลในเชิงบวกต่อรูปแบบอุปสงค์ และการใช้จ่าย และคาดว่าจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการขายปลีกเติบโตในเชิงบวก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการแบบดั้งเดิม เช่น ร้านขายของชำท้องถิ่นขนาดเล็กจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดใหญ่

2.2 แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก
2.2.1 เป้าหมายด้านความยั่งยืนยังคงเป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มผู้ค้าปลีกทุกราย
สวีเดนมีชื่อเสียงในด้านความเป็นผู้นำระดับโลกในด้านความยั่งยืน กลุ่มผู้ค้าปลีกในสวีเดนแทบทุกรายจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะ ซึ่งรายงานดังกล่าวจะระบุถึงกิจกรรม โครงการ ความสำเร็จ และเป้าหมายล่าสุด ซึ่งขอบเขตของเป้าหมายความยั่งยืนนั้นหลากหลาย ตั้งแต่การเน้นการลดขยะอาหาร (food waste) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากที่ยั่งยืน (sustainably labelled products) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การใช้ทรัพยากรรีไซเคิล การตั้งเป้าการปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emissions)
2.2.2 ร้านค้าปลีกจะยังคงเน้นจุดศูนย์กลางของลูกค้ามากขึ้น (customer-focused) รวมทั้งความยั่งยืน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยมากขึ้น คาดว่าบริษัทผู้ค้าปลีกชั้นนำจะยังคงลงทุนในการพัฒนาร้านค้า และนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาปรับใช้ เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ดีขึ้นและหลากหลายยิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภค
2.2.3 Q-commerce และการซื้อของตามสั่ง (on-demand shopping) เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มที่มีการเติบโต และได้รับความนิยม เนื่องจากผู้บริโภคแสวงหาความสะดวกสบาย และต้องการบริการที่รวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการเร่งด่วน

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดค้าปลีกสินค้าอาหารของสวีเดน

Login