สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานแสงอาทิตย์ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือ “Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park” ที่ตั้งอยู่ในเมืองดูไบ เป็นโครงการ solar park ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเปิดตัวเมื่อปี พ.ศ. 2555 ที่ได้รับการพัฒนาโดยหน่วยงานการไฟฟ้าและน้ำประปารัฐดูไบ (Dewa – Dubai Electric & Water Authority) เป้าหมายของโครงการนี้คือการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การขยายโครงการ solar park เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ Dubai Clean Energy Strategy 2050 ซึ่งมีเป้าหมายในการให้พลังงานที่ได้มาจากแหล่งพลังงานทดแทนเป็น 75% ของพลังงานทั้งหมดในดูไบภายในปี พ.ศ. 2593
หลังจากการดำเนินงานต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ เป็นประธานเปิดโรงงาน ผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ขนาดใหญ่ ระยะที่ 5 ด้วยกำลังการผลิต 900 เมกะวัตต์ (MW) ของอภิมหาโปรเจ็คพลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐดูไบ ซึ่งนอกจะสะท้อนให้เห็นความทุ่มเทของดูไบในการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ทดแทนน้ำมันแล้ว ยังชี้ให้เห็นว่าพลังงานที่มั่นคงถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบไฟฟ้า มีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์เป็น 5,000 เมกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030 นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของยูเออีในฐานะผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ด้วยเงินลงทุนรวม 13.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นรูปแบบโครงการของผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent power producer : IPP) โครงการ Solar Park แห่งนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 6.5 ล้านตันต่อปีเมื่อเสร็จสมบูรณ์ โครงการผลิตไฟฟ้าระยะที่ 5 นี้ มีมูลค่า 544 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งดําเนินการตามรูปแบบ IPP เป็นการร่วมมือระหว่าง DEWA (ร้อยละ 60) และกิจการค้าร่วม (Consortium) ที่นําโดยกลุ่ม Acwa Power และ Gulf Investment Corporation (ร้อยละ 40) ผ่าน Shuaa Energy 3 จะสามารถจัดหาพลังงานสะอาดให้กับที่อยู่อาศัยประมาณ 270,000 แห่งในดูไบ อีกทั้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 1.18 ล้านตันต่อปี และ DEWA สามารถบรรลุสถิติโลกโดยจะมีราคาขายต่ำสุดที่ 1.6953 เหรียญสหรัฐ ต่อหน่วย (kWh)
Sheikh Mohammed กล่าวในช่วงการเปิดงานนี้ว่า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในระดับแนวหน้าของความพยายามระดับโลกในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นสําหรับมนุษยชาติทั้งหมด โดยการดําเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในปี 2566 ซึ่งเป็นปีแห่งความยั่งยืนของยูเออี และเป็นปีที่ประเทศเป็นเจ้าภาพการประชุม COP28 เรายังคงให้ความสําคัญกับความยั่งยืนเป็นหัวใจสําคัญของแผนการพัฒนาของเรา และก้าวไปข้างหน้าใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง และความสําเร็จของระยะที่ 5 ของ Mohammed bin Rashid Al Maktoum Solar Park ทําให้เราเข้าใกล้อีกก้าวสําคัญในการตระหนักถึงวิสัยทัศน์ของเราสําหรับเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่”
การดำเนินงาน
โครงการ Solar Park ของยูเออีดำเนินงานมา 4 ระยะ โดยระยะแรกผลิตไฟฟ้าจาก PV ขนาด 13 MW ซึ่งเริ่ม ผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนระยะที่ 2 ใช้แผง PV ผลิตไฟฟ้า 200 MW เริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ มีนาคม 2560 ต่อมาในระยะที่ 3 ผลิตไฟฟ้าจาก PV ขนาด 800 MW เมื่อปี 2563
ระยะที่ 4 เป็นฟาร์มผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แบบ Concentrated Solar Power (CSP) ในพื้นที่เดียวที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบ IPP ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตไฟฟ้า 950 MW ซึ่งโครงการนี้จะมีหอคอยพลังงานแสงอาทิตย์ที่สูงที่สุดในโลก โด มีความสูงถึง 260 เมตร และสามารถเก็บพลังงานความร้อนไฟฟ้าได้นานที่สุดถึง 15 ชั่วโมง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Dubai Supreme Council of Energy เทศบาลดูไบ สํานักงานตํารวจดูไบ Mohammad Bin Rashid Housing Establishment และ DEWA ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดําเนินการตามกฏบัตร 50 ปี ในการพัฒนาประเทศ
ความเห็นของ สคต. ณ เมืองดูไบ
ยูเออีจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกหรือ COP28 ในช่วงปลายปี 2566 อีกทั้งได้ร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) รณรงค์ให้ประชาคมโลกหันมาพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนให้มากยิ่งขึ้นแทนการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยตั้งเป้าให้ประชาคมโลกเพิ่มการพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2573 ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต รวมทั้งการเร่งจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าหมาย UAE Net Zero 2050 บรรลุการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียวโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ในการดำเนินงานหน่วยงานการไฟฟ้าและน้ำประปารัฐดูไบหรือ DEWA ของรัฐบาลดูไบกําลังพัฒนาแผนและโครงการที่จะทําให้บ้านทุกหลังของ 1 ใน 10 ของประชาชนในดูไบสามารถอยู่อาศัยโดยพึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านน้ำดื่มน้ำใช้ อาหารและพลังงาน ซึ่งจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตของประชาชนใหม่และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย โดยจะเป็นการสร้างสรรค์ภาคส่วนทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ซึ่งเน้นการพึ่งพาตนเองได้ทั้งด้านพลังงานน้ำใช้และอาหาร โดยเฉพาะการติดตั้งแผงพลังงาน แสงอาทิตย์ในบ้านของครัวเรือนต่างๆ
สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าอิสระของเอกชนหลายรายที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิต กระแสไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากแหล่งพลังงานทดแทน จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดมา สู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ปัจจุบันเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมผลิตพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระการลงทุน ของรัฐในระบบผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย
ที่มา :
Emirates News Agency
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)