หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > “ญี่ปุ่นเริ่มมองหาแหล่งนำเข้าไม้ตัดดอกใหม่ๆ”

“ญี่ปุ่นเริ่มมองหาแหล่งนำเข้าไม้ตัดดอกใหม่ๆ”

ญี่ปุ่นเริ่มเปลี่ยนแหล่งนำเข้าไม้ตัดดอก เช่น คาเนชั่น กุหลาบ ฯลฯ ซึ่งเป็นดอกไม้นำเข้าจากต่างประเทศ จากค่าขนส่งที่สูงขึ้นประกอบกับเงินเยนที่อ่อนค่า ทำให้บริษัท Trading ดอกไม้ของญี่ปุ่นเปลี่ยนมาซื้อดอกไม้จากประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศในทวีปเอเชีย นอกจากนี้ ต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ประเทศในทวีปยุโรปลดการผลิตและย้ายไปผลิตในประเทศแถบแอฟริกา ระบบการกระจายสินค้าของไม้ตัดดอกโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับญี่ปุ่น ดอกไม้ที่ผลิตในประเทศลดลงทำให้ต้องชดเชยด้วยการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ จากการรายงานของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงพบว่า ปี 2564 มีดอกไม้นำเข้าคิดเป็นร้อยละ 30 ของความต้องการการบริโภคของตลาดญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นดอกไม้ไหว้พระที่มีการซื้อเป็นประจำวันตามครัวเรือน
ภายหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวนนำเข้าไม้ตัดดอกลดลง เนื่องจากการลดเที่ยวบินจำนวนมากซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งหลัก อีกทั้งค่าขนส่งและเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนสูงขึ้น นอกจากนี้ งานพิธีต่างๆมีการยกเลิก ทำให้บริษัทผู้นำเข้าจำกัดการจัดหาสินค้า นอกจากจำนวนที่ลดลงแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้าอีกด้วย ด้วยค่าขนส่งที่สูงขึ้น ทำให้มีการทบทวนการนำเข้าจากประเทศที่อยู่ใกล้
ปี 2564 มีการนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศจีน 280 ล้านดอก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทนประเทศโคลัมเบีย สำหรับปี 2565 นำเข้าทะลุ 300 ล้านดอก และปี 2566 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยเฉพาะกลุ่มตระกูลดอกคาเนชั่นที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ญี่ปุ่นนำเข้าไม้ตัดดอกจากประเทศโคลัมเบียที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งบริเวณเส้นศูนย์สูตรเป็นหลัก ด้วยดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่และคุณภาพดีแต่อยู่ห่างไกลจากประเทศญี่ปุ่นทำให้ต้นทุนค่าขนส่งของบริษัทผู้นำเข้าสูงตามไปด้วย ปี 2565 การนำเข้าจากประเทศโคลัมเบียลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่การนำเข้าจากประเทศจีนซึ่งได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และเนื่องจากประเทศจีนโดนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ภายในประเทศทำให้ความต้องการภายในประเทศลดลง จึงหันมาส่งออกแทน
สถานการณ์ไม้ตัดดอกประเภทอื่นๆ เช่น ดอกเบญจมาศ ในปี 2565 มีการนำเข้าจากประเทศเวียดนามแซงหน้าประเทศมาเลเซีย กลายเป็นประเทศนำเข้าอันดับ 1 สำหรับดอกกุหลาบ มีการนำเข้าจากประเทศอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลศูนย์ควบคุมโรคระบาดของพืชพบว่า เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม 2566 มีการนำเข้า 1,175,000 ดอก หรือเพิ่มขึ้น 12 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้ขายส่งในตลาดดอกไม้โอตะให้ความเห็นว่า ดอกกุหลาบจากประเทศอินเดียเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น อาจรู้สึกว่าด้อยกว่าในด้านคุณภาพ แต่ก็มีการพัฒนาพันธุ์และปรับปรุงคุณภาพ และส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกซื้อด้วยราคา
ศูนย์กลางการกระจายสินค้าไม้ตัดดอกสำคัญของโลกอย่างยุโรปก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตรของประเทศเนเธอร์แลนด์ในญี่ปุ่นได้กล่าวว่า “ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตที่มีการเพาะปลูกดอกไม้ตกอยู่ในสถาการณ์ลำบาก” ดอกเบญจมาศซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีปริมาณออกสู่ท้องตลาดค่อนข้างมาก เดือนมกราคมที่ผ่านมามีปริมาณการจัดจำหน่ายลดลงร้อยละ 30 และดอกกุหลาบลดลงร้อยละ 15
บริษัท Trading ดอกไม้ของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า จะมีการย้ายฐานการปลูกไปที่ประเทศในแอฟริกาอย่างเคนยาและเอธิโอเปียที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะกับการปลูกดอกกุหลาบและอื่นๆ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้การเพาะปลูกในประเทศแถบยุโรปลดลงไปอีก

บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ตลาดดอกไม้ของประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ติดอันดับต้นๆของโลก และผู้บริโภคมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง นอกจากในชีวิตประจำวันแล้ว ในงานเทศกาลหรืองานพิธีต่างๆก็มีการนำดอกไม้มาใช้จำนวนมาก ทำให้ตลาดดอกไม้ของญี่ปุ่นมีความต้องการอย่างคงที่ จากการสำรวจของบริษัท Yano Research Institute พบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมดอกไม้และไม้ดอกไม้ประดับปี 2563 ของญี่ปุ่นมีมูลค่าเท่ากับ 966,800 ล้านเยน (ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท) ดอกไม้ในประเทศญี่ปุ่นนอกจากวางจำหน่ายในร้านขายดอกไม้แล้วยังมีวางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ตลาดขายส่งดอกไม้สดของญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่และเป็นหนึ่งในตลาดชั้นนำของโลก ผู้บริโภคญี่ปุ่นชื่นชอบดอกไม้หลากหลายพันธุ์ที่มีความแปลกใหม่ ดอกไม้ต่างๆจากประเทศในเอเชียจึงเป็นดอกไม้นำเข้าสำคัญของญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทย ไม้ตัดดอกส่งออกสำคัญของไทยคงไม่พ้นดอกกล้วยไม้ โดยปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 2,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดยส่งออกมาญี่ปุ่นมูลค่า 340.7 ล้านบาท (ข้อมูลจาก ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์) หากประเทศไทยมีดอกไม้ส่งออกชนิดอื่นที่มีศักยภาพ ตลาดญี่ปุ่นก็เป็นอีกหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจที่ผู้บริโภคชอบความแปลกใหม่และผู้นำเข้ากำลังหาแหล่งนำเข้าใหม่ๆที่อยู่ใกล้ประเทศญี่ปุ่น

**********************************************

ที่มา :

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญีปุ่น
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 21 เมษายน 2566
https://www.nikkei.com/

Login