จากสถิติอย่างไม่เป็นทางการในช่วงสามปีที่ผ่านมาพบว่าแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยอย่างแบรนด์ LVMH, แบรนด์ Prada, แบรนด์ Hermès และแบรนด์ Kering ได้ปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง โดยแบรนด์ LVMH ได้ปรับขึ้นราคามากกว่า 5 เท่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 ถึงเดือนมีนาคม 2023 ในขณะที่แบรนด์ Prada ก็ได้ปรับขึ้นราคาโดยอ้างว่าเป็นการรักษาความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์บางอย่าง จึงทําให้ราคาผลิตภัณฑ์แบรนด์ Prada เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ซึ่งแบรนด์ Prada เป็นแบรนด์หรูของอิตาลี และเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและสินค้าหรูหราชั้นนําของโลก โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 แบรนด์ของกลุ่มบริษัทมีร้านค้าที่ดําเนินการจำหน่ายโดยตรงมากถึง 612 แห่งใน 70 ประเทศทั่วโลก
เมื่อพิจารณาสถานการณ์การบริโภคในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของจีน พบว่าความหรูหราในแนวคิดของชาวจีนส่วนใหญ่มีความใกล้เคียงกับความโลภและความสูญเปล่า แต่อย่างไรก็ตาม จากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจ การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นพฤติกรรมการบริโภคระดับไฮเอนด์และไม่มีความแตกต่างระหว่างการเห็นด้วยและการต่อต้านในการบริโภคจากประชาชนทั่วไป ขณะที่มุมมองทางสังคม การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคลและความต้องการในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันเมื่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคยุคใหม่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัลและการค้าแบบอีคอมเมิร์ซผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้ผู้ค้าปลีกสินค้าฟุ่มเฟือยต้องทบทวนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
รายงาน China Luxury Industry Market Panorama Research and Development Prospect Forecast ปี ค.ศ. 2022 – 2027 ที่เผยแพร่โดยสถาบันวิจัยอุตสาหกรรม Puhua ของสถาบันวิจัยจีน เปิดเผยว่าในไตรมาสแรกของปีนี้รายได้ของแบรนด์ LVMH ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 21,035 ล้านยูโร (799,330 ล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ถึงสองเท่า ขณะที่ สินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังซึ่งรวมถึงแบรนด์ LV, แบรนด์ Dior และแบรนด์อื่นๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 (YoY) โดยส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดผู้บริโภคของจีน
ในขณะที่ยอดขายสินค้าดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น ก็ส่งผลให้ราคาหุ้นของ LVMH ทะยานขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาหุ้นของบริษัทพุ่งสูงสุดที่ 904.6 ยูโรต่อหุ้น (34,374.8 บาทต่อหุ้น) ในเดือนเมษายน 2023 กลายเป็นบริษัทในยุโรปแห่งแรกที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (17.5 ล้านล้านบาท) ทำให้ในรายชื่อมหาเศรษฐีของ Forbes Berard Arnault พบว่าประธานและซีอีโอของแบรนด์ LVMH และครอบครัวของเขากลายเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกด้วยสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงถึง 211,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (7.39 ล้านล้านบาท) และแซงหน้า Elon Musk ซีอีโอของ Tesla
ด้านแบรนด์ Hermès ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราของฝรั่งเศสอีกรายก็มียอดขายเกินคาดการณ์ในไตรมาสแรกของปีนี้เช่นกัน โดยรายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 3,380 ล้านยูโร (128,440 ล้านบาท) ในขณะที่ยอดขายในเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 ซึ่งยอดขายมูลค่าสูงดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากความต้องการของผู้บริโภคที่แข็งแกร่งในประเทศจีน ทำให้ตลาดจีนได้กลายเป็นสถานที่ที่ต้องแข่งขันสําหรับยักษ์ใหญ่ในตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราและร้านค้าแบรนด์ได้เริ่มเปิดตลาดเข้าสู่เมืองที่ไม่ใช่เมืองระดับแรกมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แบรนด์ LV กล่าวว่ามีแผนที่จะเปิดร้านค้าอย่างน้อยหนึ่งแห่งในเมืองหลวงของจีนทุกแห่งภายในปี ค.ศ. 2025 เช่นเดียวกับแบรนด์ Hermès ที่เปิดเผยเมื่อต้นปีว่าจะบุกเมืองใหม่ทุกปีเพื่อเปิดร้านค้าให้มากขึ้น
ปัจจุบันแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราในยุโรปและอเมริกากําลังพยายามเจาะตลาดจีนและร่วมมือกับจีนเพิ่มมากขึ้น เช่น แบรนด์ Gucci, แบรนด์ Prada และแบรนด์ Balenciaga ได้เปิดตัวสินค้ารุ่นลิมิเต็ดแบรนด์ร่วมกับจีน และให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนมากพอๆ กับคริสต์มาสและวันวาเลนไทน์ในตะวันตก โดยมีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 และอาจรวมถึงภายในปี ค.ศ. 2022 จะพบว่าผู้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1 ใน 2 รายทั่วโลกจะเป็นชาวจีน ซึ่งทำให้แบรนด์หรูหลายแห่งมองว่าจีนเป็นผู้ช่วยชีวิตตลาดฟุ่มเฟือยหรูหราให้กลับมามีชีวิตชีวา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ครั้งใหญ่ที่ทำให้ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราของจีนมีแนวโน้มลดลงเมื่อปีที่แล้ว และคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 32 ของตลาดโลก
จีนเป็นตลาดที่มีร้านค้าแบรนด์หรูหราจํานวนมากที่สุดในปี ค.ศ. 2021 โดยเกือบร้อยละ 55 ของแบรนด์หรูใหม่ตั้งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหรานั้นเน้นตลาดใหญ่ กว้าง และลําดับชั้นของเมืองที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เป็นที่ตั้งของแบรนด์ Hermes, แบรนด์ Chanel, แบรนด์ Louis Vuitton, แบรนด์ Gucci, แบรนด์ Prada และแบรนด์ Dior เป็นต้น และแบรนด์ชั้นนำแนวหน้าเหล่านี้ ก็ถือเป็นตัวแทนของสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราที่เป็นตัวกำหนดทิศทางตลาด และแนวโน้มการพัฒนาของรูปแบบอุตสาหกรรมสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราในตลาดจีน
เมื่อพิจารณาในแต่ละเมืองของจีน พบว่าเมืองปักกิ่งและมหานครเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองหลักของการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราในประเทศจีนเป็นอันดับหนึ่งและสองตามลำดับ และมีการกระจายร้านค้าแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราสูงกว่าในเมืองอื่นๆ แต่เมื่อพิจารณาด้านการกระจุกตัวและความหนาแน่นของร้านค้าแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหรา จะพบว่าอยู่ในเมืองปักกิ่ง มหานครเซี่ยงไฮ้ เมืองกวางโจว เมืองเซินเจิ้น และเมืองระดับหนึ่งอื่นๆ โดยมีจํานวนผู้บริโภคและค่าใช้จ่ายการบริโภคคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 และ 57 ตามลําดับ ส่วนจํานวนผู้บริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราผ่านช่องทางออนไลน์ของจีนพบว่าอยู่ทางภูมิภาคตะวันออก ตะวันตกเฉียงใต้ และเหนือเป็นสามภูมิภาคแรก
ภายในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2022 มีร้านค้าสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราอย่างน้อย 59 แห่งเปิดในประเทศจีน และต่อมาในเดือนสิงหาคม 2022 แบรนด์หรูขนาดใหญ่ได้เจาะตลาดเมืองรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น นําโดยแบรนด์ LV และแบรนด์ Gucci ในเมืองกุ้ยหยางทําให้ตลาดผู้บริโภคหรูหราทางภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
มีการคาดการณ์ว่าภายในปี ค.ศ. 2025 มูลค่าของตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านล้านหยวน (5 ล้านล้านบาท) เป็น 2.7 ล้านล้านหยวน (13.5 ล้านล้านบาท) ในขณะที่ผู้บริโภคชาวจีนจะบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 44 ของสินค้าฟุ่มเฟือยในตลาดโลก ทำให้จีนกําลังกลายเป็นตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในโลก นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทางกายภาพไปจนถึงประสบการณ์ด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ในงานแสดงสตรีฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2022 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ แบรนด์ LV ประกาศว่าจะให้ความสำคัญต่อการเปิดร้านค้าในทุกเมืองหลวงของมณฑลในประเทศจีนภายในปี ค.ศ. 2025
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราของจีนกำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนกำลังซื้อที่สูงขึ้นของผู้บริโภคชาวจีนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับในระดับไฮเอนด์มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่มีพฤติกรรมในการบริโภคที่ตอบสนองความพึงพอใจส่วนบุคคลมากขึ้น ชอบซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยและมีราคาแพงให้กับตัวเอง มีไลฟ์สไตล์ที่ติดความหรูหรา ใช้ของดีมีคุณภาพ และไม่สนใจต่อราคาหากเป็นสินค้าที่มีแบรนด์ดังและเป็นที่รู้จักดีในตลาด ดังนั้น ผู้ประกอบการแบรนด์ไทยไม่ควรมองข้ามกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ โดยต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ในการบริโภคสินค้าแต่ละประเภทอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรมในการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราที่มีรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ซึ่งหากผู้ประกอบการแบรนด์ไทยสามารถใช้ประโยชน์และกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลาได้อย่างทันท่วงที ก็จะทำให้แบรนด์ไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ดี การเจาะตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราผ่านช่องทางออนไลน์ของแบรนด์จากต่างประเทศที่ไม่ใช่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็มีข้อพึงระวัง เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ดังกล่าวอาจจะไม่ให้ความสนใจ และไม่มีความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ ดังนั้น การนำแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราเข้าทดลองตลาดโดยร่วมกับพันธมิตรที่ได้รับการยอมรับในตลาดจีนผ่านช่องทางออฟไลน์ก่อน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น และมีโอกาสเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ได้ง่ายดายขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น การใช้ KOL ที่เป็นดารานักแสดงไทยที่มีชื่อเสียงในประเทศจีนในการประชาสัมพันธ์สินค้าแบรนด์ไทยก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะตอกย้ำแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยหรูหราของไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดจีนได้อย่างง่ายดาย และมีโอกาสเจาะตลาดเมืองหลวงของจีนได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
https://www.chinairn.com/news/20230630/154809114.shtml
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)