หน้าแรกTrade insightทุเรียน > จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนภายในหนึ่งเดือนถึง 7,500 ล้านหยวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

จีนมีมูลค่าการนำเข้าทุเรียนภายในหนึ่งเดือนถึง 7,500 ล้านหยวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ตามข้อมูลของ China Fruit Marketing Association ( วันที่ 12  มิถุยนยน 2566) ระบุว่าความนิยมของทุเรียนในจีนของปีนี้สูง โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนของประเทศไทย ส่งผลให้การนำเข้าทุเรียนของจีน มียอดสูงสุดเป็นครั้งแรกของปีนี้ ตามสถิติของกรมศุลกากรจีน ระบุว่า เดือนเมษายนของปีนี้ จีนมีปริมาณนำเข้าทุเรียนสดสูงถึง 221,000 ตัน ซึ่งมีมูลค่าถึง 7.51 พันล้านหยวน โดยทั้งปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เกือบสองเท่าภายในหนึ่งเดือน และได้ทำลายสถิติมูลค่าการนำเข้าสูงสุดก่อนหน้านี้ และตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2566 ไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วรวม 480,000 ตัน มูลค่าเกือบ 13.04 พันล้านหยวนหรือประมาณ 6.30 หมื่นล้านบาท

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการนำเข้าทุเรียนสด ตั้งแต่ปี  2560 ปริมาณการนำเข้าของเดือนเมษายนในปีนี้เกินการคาดการณ์เกือบ 100,000 ตัน ซึ่งมากกว่าการนำเข้าระดับสูงสุด ก่อนเกิดการโรคระบาดโรคโควิด 19 ในปี 2562 ส่วนในด้านมูลค่า การนำเข้าทุเรียนของเดือนเมษายนก็ได้เพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดในปี 2563 กว่าสองเท่า โดยปริมาณการนำเข้ารายเดือนในเดือนเมษายนปีนี้ใกล้เคียงกับปริมาณนำเข้า ทั้งปี 2560 และมูลค่าการนำเข้าสูงเป็นสองเท่าของทั้งปี 2560 และทางด้านราคาต่อหน่วยของทุเรียนนำเข้าในเดือนเมษายนปี 2560, 2561, 2562 อยู่ที่ 20.6 หยวน/กก. 16.3 หยวน/กก. และ 17.1 หยวน/กก. ตามลำดับ ในขณะที่ราคาทุเรียนต่อหน่วยในปี 2563, 2564, 2565 อยู่ที่ 29.2 หยวน/กก. 35.5 หยวน/กก. และ 36.4 หยวน/กก. ตามลำดับ ในกรณีที่ปริมาณนำเข้าของปีนี้ เพิ่มขึ้นมาก ราคาต่อหน่วยของทุเรียนนำเข้าอาจจะยังคงรักษาระดับราคาอยู่ที่ 34.0 หยวน/กก. ต่อไป

สำหรับแหล่งนำเข้าทุเรียนในเดือนเมษายนของจีนนั้น ได้มีแหล่งนำเข้ามาจากไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยมีปริมาณนำเข้าจากไทยอยู่ 206,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 7.04 พันล้านหยวน ส่วนปริมาณที่นำเข้าจากเวียดนามอยู่ที่ 14,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 470 ล้านหยวน และการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ มีปริมาณอยู่ที่ 251 ตัน คิดเป็นมูลค่า 6.94 ล้านหยวน ซึ่งพิจารณาจากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ไทยยังคงครองตำแหน่งการส่งออกทุเรียนไปยังจีนมากที่สุด และในส่วนของราคาทุเรียนนำเข้าต่อหน่วยจาก 3 ประเทศนั้น ทุเรียนฟิลิปปินส์มีราคาต่ำที่สุด โดยมีราคาอยู่ที่ 27.6 หยวน/กก. ส่วนทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอยู่ที่ 34.1 หยวน/กก. และ 33.5 หยวน/กก. ตามลำดับ

การนำเข้าทุเรียนเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้รับอานิสงส์จากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนและความนิยมในการบริโภคทุเรียนของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้น ๆ ของผลไม้ที่มีการบริโภคมากที่สุดในจีน โดยในปีนี้จีนมีเทรนด์การบริโภคใหม่ ซึ่งเป็นกล่องสุ่มทุเรียน ที่กำลังมาแรงในโซเชียลมีเดียของจีน โดยบางแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียและวิดีโอสั้นมีการเผยแพร่ ในหัวข้อ “การเปิดกล่องสุ่มทุเรียน”  โดยมีผู้ใช้จำนวนมากอัปโหลดประสบการณ์การเปิดกล่องสุ่มทุเรียนไปยังแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลังจากซื้อทุเรียนซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคและผู้ชมในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Tiktok เสี่ยวหงชู เป็นต้น จนขึ้นอันดับเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ในขณะเดียวกัน  แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอาหารสดนิยมเช่นกัน โดยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ยอดขายทุเรียนบนแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 711% ยอดขายในเซี่ยงไฮ้และหวู่ฮั่นเพิ่มขึ้นมากกว่า 40 และ  20 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยผู้รับผิดชอบการจัดซื้อผลไม้ของแพลตฟอร์มเหม่ยถวน (Meituan) กล่าวว่า “ผู้ใช้หลายคนจะรีวิวคำสั่งซื้อทันทีหลังจากได้รับทุเรียน และแบ่งปันความสนุกสนานของการเปิดกล่องสุ่มทุเรียนให้กับผู้บริโภคคนอื่นๆ ดู  ทำให้ส่งเสริมให้กระตุ้นยอดขายทุเรียนของจีนให้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าความต้องการทุเรียนในตลาดจีนสูงมาก ทำให้ทุเรียนมีกำไรเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาจากกระแสการบริโภคในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  คาดว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนในปี 2566 นี้อาจเกิน 1 ล้านตัน

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามจะถูกกว่าทุเรียนไทยมาก แต่ปัจจุบันราคาทุเรียนเวียดนามราคาขึ้นมาเท่ากับทุเรียนไทยได้แล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐจะต้องติดตามต่อไป รวมถึงจะต้องร่วมมือกันในการเดินหน้านโยบายการควบคุมคุณภาพของทุเรียนให้ได้มาตรฐาน ตามที่รัฐบาลจีนและผู้นำเข้าในตลาดกำหนด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่แข็งแกร่งในตลาดจีน อย่างเช่น เวียดนามและฟิลิปปินส์ รวมถึงรักษาความไว้วางใจของผู้บริโภคจีนที่มีต่อทุเรียนไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์และเทรนด์การบริโภคทุเรียน รวมถึงผลไม้อื่นๆ ในตลาดจีน เพื่อที่จะสามารถปรับกลยุทธ์การค้าให้สอดคล้องกับตลาดจีนได้ต่อไป

ที่มา : China Fruit Marketing Association

ภาพ: https://www.xiaohongshu.com/explore/62943201000000000102a356

จัดทำโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว

16  มิถุนายน  2566

Login