หน้าแรกTrade insight > จับตามองเทรนด์ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีน

จับตามองเทรนด์ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีน

1.ความหมายของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด 

ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเป็นหนึ่งในประเภทของขนมขบเคี้ยว ซึ่งหมายถึงขนมขบเคี้ยวที่มีวัตถุดิบที่ประกอบไปด้วยเครื่องปรุงรสที่มีรสเผ็ดอย่างน้อยหนึ่งชนิดขึ้นไป และด้วยรสชาติของขนมขบเคี้ยวที่มีรสเผ็ด ทำให้สามารถครองใจผู้บริโภคและเทรนด์การกินอาหารรสเผ็ดและขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดได้กลายเป็นหนึ่งในตัวแปรขับเคลื่อนหลักของเทรนด์การบริโภคผลิตภัณฑ์ในกลุ่มประเภทขนมขบเคี้ยวด้วย

2.มูลค่าตลาด

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าอัตราการเติบโตของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 8.9 ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตโดยรวมของอุตสาหกรรม      ขนมขบเคี้ยว โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลค่าตลาดขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,964 ล้านหยวน

สัดส่วนของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ปี 2558 – 2563 สัดส่วนของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.26 เป็นร้อยละ 20.26 และในปี 2564 สัดส่วนของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีนขยับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20.90

3.โครงสร้างตลาดขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดของจีน

ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ เนื้อสัตว์ปรุงรสเผ็ด ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภท “ล่าเถียว” (ขนมแป้งปรุงรสสไตล์จีน) ผลิตภัณฑ์พืชผักรสเผ็ด ขนมกรุบกรอบรสเผ็ด ถั่วและธัญพืชรสเผ็ด เต้าหู้รสเผ็ด เป็นต้น โดยในปี 2565 กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปรุงรสเผ็ด ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภท “ล่าเถียว” และผลิตภัณฑ์พืชผักรสเผ็ด มีสัดส่วนการบริโภคที่ค่อนข้างสูง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.53, 26.32 และร้อยละ 15.33 ตามลำดับ นอกจากนี้ สัดส่วนการบริโภคขนมกรุบกรอบรสเผ็ด ถั่วและธัญพืชรสเผ็ด และเต้าหู้รสเผ็ดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 11.8, 10.47 และร้อยละ 5.32 ตามลำดับ

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประเภทของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่คือ ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภท “ล่าเถียว” ซึ่งล่าเถียวคือ ขนมที่ทำจากแป้งสาลีและพริก โดยผสมแป้งเข้ากับพริก เกลือ น้ำตาล น้ำ สีผสมอาหาร และอื่น ๆ แล้วอัดรีดด้วยอุณหภูมิสูง ก่อนผสมพริกและเครื่องปรุงอย่างอื่นลงไป

4.กลุ่มผู้บริโภคขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีน

4.1 ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดกลายเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

ผู้บริโภคขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เกิดหลังยุค 90 ถึงหลังยุค 2000 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งมีกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภท “ล่าเถียว” โดยในด้านรสชาติ รสหม่าล่าและรสเผ็ดหวานคือ รสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

4.2 ดัชนีชี้วัดกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่ผู้บริโภคนิยมซื้อ

5. ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีน

6.ตัวอย่างขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดที่ได้รับความนิยมในตลาดจีน

7.แนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีน

7.1 ในปี 2564 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของผู้บริโภคจีนอยู่ที่ 35,100 หยวน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 51,100 หยวนในปี 2569 ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของรายได้จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ถือเป็นการช่วยผลักดันการเติบโตตลาดขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดของจีนด้วย

7.2 การรับประทานขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในหลายๆ กลุ่ม ประกอบกับการขยายตัวของเมือง และการส่งเสริมการกระจายตัวของประชากร รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดกระจายไปทั่วจีน โดยขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเป็นที่นิยมในมณฑลต่างๆ ได้แก่ มณฑลหูหนาน หูเป่ย เสฉวน ฉงชิ่ง กุ้ยโจว ยูนนานและเจียงซี เป็นต้น และจากการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในจีนที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ความนิยมของขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย Net Idol/KOL หลายคนมองว่าขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับการสร้างคอนเทนต์จนทำให้เกิดคอนเทนต์ต่างๆ มากมายบนอินเตอร์เน็ตที่นำขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดมาทดลองชิมและทำการวิจารณ์รสชาติ ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

7.3 พฤติกรรมการบริโภคเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในจีน การบริโภคอาหารหรือขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดไม่จำเป็นจะต้องรับประทานในมื้อค่ำอีกต่อไป แต่สามารถที่จะรับประทานได้ทุกเมื่อ เช่น ในช่วงเวลาพักผ่อน เดินทางและทำงาน เป็นต้น ซึ่งทำให้ความถี่ในการบริโภค ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งทำให้อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วอีกด้วย

7.4 ปัจจุบันขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดได้พัฒนารสชาติความเผ็ดใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น ได้แก่ รสเผ็ดหวาน รสเปรี้ยวเผ็ดและรสเผ็ดร้อน เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมการพัฒนาในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ในสังคม เช่น เทรนด์รักสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สามารถที่จะดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ ได้

7.5 การปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายแบบออฟไลน์ในเมืองขนาดเล็ก ทำให้การเข้าถึงขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในตลาดจีนดีขึ้น ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น ทำให้การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์มียอดขายที่ดีขึ้น ซึ่งการปรับปรุงช่องทางการจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์จะช่วยเพิ่มความถี่ในการบริโภค และช่วยให้อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในจีนเติบโตขึ้นในอีกระดับ

ความคิดเห็น สคต.

ปัจจุบันจีนได้มีการยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว รสเผ็ดในจีนก็เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากรสชาติที่เผ็ดจัดจ้านของ ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ด เป็นที่ถูกใจผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยวประเภท “ล่าเถียว” ที่ได้รับความนิยมจากกระแสต่างๆ ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ เนื่องจากสะดวกในการรับประทานและคอนเทนต์เป็นที่น่าสนใจ ทำให้ “ล่าเถียว” ติดอันดับยอดนิยมอาหารว่างของจีนที่ผู้บริโภคนิยมซื้อ

จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ผลิตและผู้ประกอบการของไทย เนื่องจากผู้บริโภคของไทยส่วนใหญ่ก็นิยมในการบริโภคอาหารหรือขนมที่มีรสชาติเผ็ดจัดจ้านอยู่แล้ว จึงนับเป็นข้อได้เปรียบของผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถผลิตขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดในรสชาติต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง เช่น รสต้มยำกุ้ง รสต้มแซ่บ รสส้มตำ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ตลาดขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคจีนมีตัวเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้จักกับวัฒนธรรมด้านอาหารของไทยได้มากขึ้นอีกด้วย โดยผู้ประกอบการสามารถประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดให้เป็นที่รู้จักบนสื่อโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มชื่อดังของจีนผ่าน Net Idol หรือ KOL ซึ่งจะช่วยดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคจีนได้เป็นวงกว้าง รวมทั้งควรพัฒนานวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนและกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าไปยังจีน รวมถึงมุ่งเน้นการทำตลาดออนไลน์ตามเทรนด์การเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายและเสริมสร้างให้สินค้าขนมขบเคี้ยวรสเผ็ดของไทยเป็นที่รู้จักในตลาดจีนมากยิ่งขึ้น

*****************************************

 https://www.foodtalks.cn/news/45878

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login