หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของสหรัฐฯ และแนวทางการรับมือของเนเธอร์แลนด์

ผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของสหรัฐฯ และแนวทางการรับมือของเนเธอร์แลนด์

นโยบายการค้า “Make America Great Again” เป็นการสานต่อนโยบาย “America First” ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของสหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การขจัดการดำเนินนโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า การลดหรือขจัดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และการเพิ่มรายได้ของรัฐบาลจากการเก็บภาษีนำเข้า เพื่อนำมาชดเชยกัการลดภาษีเงินได้ในประเทศ รวมทั้งการลดการพึ่งพาและแยกตัวทางเศรษฐกิจจากจีน (Strategic Decoupling) โดยจะมีการดำเนินการผ่านนโยบายและมาตรการทางภาษีและมาตรการปกป้องและตอบโต้ทางการค้า อาทิ การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกร้อยละ 10-20 และจากจีนร้อยละ 60 การทบทวนข้อตกลงทางการค้าเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ การเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปกป้องผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมในประเทศ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในสหรัฐฯ การลดกฎระเบียบและไม่สนับสนุนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และการสนับสนุนพลังงานและเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น

 

นโยบายและมาตรการต่างๆ เหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อหลายภาคส่วนและหลายอุตสาหกรรมของเนเธอร์แลนด์ อาทิ ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและภาคเกษตรกรรมของเนเธอร์แลนด์จะได้รับประโยชน์จากความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าจากประเทศจีน และภาคอุตสาหกรรมพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเนเธอร์แลนด์ที่มีความสัมพันธ์กับตลาดพลังงานสหรัฐฯ จะมีโอกาสในการขยายธุรกิจในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์คาดว่าความมั่นคงและความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับ NATO จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น ในขณะที่ภาคส่วนหรือภาคอุตสาหกรรมของเนเธอร์แลนด์ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ อาทิ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมการค้าปลีก อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมการขนส่ง เป็นต้น จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น และอาจส่งผลให้เนเธอร์แลนด์สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาด

 

ธนาคาร Rabobank ของเนเธอร์แลนด์ประมาณการว่า หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 10 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ให้หดตัวลงร้อยละ 0.9 และหากสหภาพยุโรปตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปของสหรัฐฯ ด้วยการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่นกัน สินค้าของสหรัฐฯ จะมีราคาแพงขึ้นสำหรับเนเธอร์แลนด์และประเทศอื่นๆ ในยุโรป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในยุโรป และเนเธอร์แลนด์ให้กลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีก ปัจจุบันที่อัตราเงินเฟ้อของเนเธอร์แลนด์ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ธนาคารกลางเนเธอร์แลนด์ตั้งเป้าไว้ และอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

นอกจากนี้ แนวโน้มที่ทรัมป์จะยกเลิกพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การสนับสนุนข้อตกลงปารีสที่ลดลง จะส่งผลให้ความคืบหน้าในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในระดับโลกล่าช้า และส่งผลกระทบต่อภาคส่วนพลังงานสะอาดของเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการค้า ส่งผลให้มีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปอีกครั้งเกี่ยวกับนโยบายการค้าและเทคโนโลยี ซึ่งอาจทำให้การลงทุนของเนเธอร์แลนด์ในสหรัฐฯ มีความซับซ้อนมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะโลจิสติกส์และภาคการเงิน

 

อย่างไรก็ดี นาย Dick Schoof นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ มองด้านบวกถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างเนเธอร์แลนด์และสหรัฐฯ และได้เน้นย้ำว่าสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่สำคัญสำหรับเนเธอร์แลนด์ทั้งในระดับทวิภาคีและในบริบทระหว่างประเทศ เช่น NATO ส่วนนาย Mark Rutte, NATO Secretary General และอดีตนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ก็มองด้านบวกเช่นเดียวกัน และแสดงความหวังว่าการรักษาความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับ NATO ภายใต้การนำของทรัมป์ จะทำให้เกิดความมั่นคงและความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศมากขึ้น

 

สำหรับท่าทีและแนวทางการรับมือของเนเธอร์แลนด์ต่อนโยบายและมาตรการของสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะเสริมสร้างความสามัคคีของสหภาพยุโรป เพื่อถ่วงดุลมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ โดยเพิ่มการค้าภายในสหภาพยุโรป และสนับสนุนการตอบสนองร่วมกันของสหภาพยุโรป รัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะเสริมความมุ่งมั่นต่อพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อชดเชยความร่วมมือระหว่างประเทศที่ลดลง และเพื่อยังคงความเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ส่วนภาคธุรกิจของเนเธอร์แลนด์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความพยายามในการกระจายความสัมพันธ์ทางการค้ากับตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดในเอเชียและแอฟริกา

 

บทวิเคราะห์และความเห็น สคต.

หากทรัมป์ใช้มาตรการภาษีศุลกากรหรือมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้ากับสหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงเนเธอร์แลนด์ด้วย และทำให้ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปรุนแรงมากขึ้น อาจจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกสินค้าของไทยในการใช้ประโยชน์จากช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานได้ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยอาจะเป็นแหล่งนำเข้าทางเลือกสำหรับการนำเข้าของเนเธอร์แลนด์ อีกทั้งแนวโน้มที่ทรัมป์จะลดความสำคัญของข้อตกลงพหุภาคี เช่น ข้อตกลงที่เกี่ยวกับสหภาพยุโรป อาจผลักดันให้ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมถึงเนเธอร์แลนด์ กระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้าทางเลือกรวมถึงไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในหมวดสินค้าอาหาร เทคโนโลยี และสินค้าอุตสาหกรรม และจุดยืนของทรัมป์ที่สนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลอาจส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงชีวภาพหรือผลิตภัณฑ์พลังงานทางเลือกของไทยในทางอ้อม เนื่องจากเนเธอร์แลนด์ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดและการนำเข้าจากพันธมิตรที่เชื่อถือได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายที่คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์อาจทำให้เส้นทางการค้าโลกไม่มั่นคง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและการขนส่งสินค้าสำหรับการส่งออกของไทยไปยังเนเธอร์แลนด์ และการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรหรือสงครามการค้ากับภูมิภาคอื่นอาจส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ทางอ้อม และหากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงขึ้น ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกอาจมีความผันผวนมากขึ้น และอาจสร้างความตึงเครียดให้กับผู้ส่งออกของไทยที่ต้องพึ่งพาส่วนประกอบหรือตลาดที่ได้รับอิทธิพลจากจีน นอกจากนี้ สหภาพยุโรปอาจเพิ่มความเข้มงวดกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ผู้ส่งออกของไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าอุตสาหกรรมจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นเพื่อรักษาการเข้าถึงตลาดและส่วนแบ่งทางการตลาดในเนเธอร์แลนด์และยุโรป

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของสหรัฐฯ และแนวทางการรับมือของเนเธอร์แลนด์

Login