ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร (Meal Replacement) หมายถึง อาหารที่ใช้ทานแทนมื้อหลักทั้งหมดหรือส่วนหนึ่ง โดยผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารมีคุณสมบัติ ได้แก่ โภชนาการที่หลากหลาย ไฟเบอร์สูง แคลอรีต่ำ อิ่มท้อง เป็นต้น
ปัจจุบันประชาชนจีนมีรายได้สูงขึ้น มีการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและมีความต้องการผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักมากขึ้น จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตอาหาร ทำให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขนาดการบริโภคของตลาดดังกล่าวในจีนมีการขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
1. มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน
จากข้อมูลการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 132,180 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในปี 2566 จะมีมูลค่าประมาณ 175,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 เนื่อจากประเภทของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารมีความหลากหลาย และผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วยังคงมีความแตกต่าง และตลาดดังกล่าวยังคงมีช่องว่างในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาอยู่อีกมาก
2. จำนวนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ประกอบการของธุรกิจผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2556 มีจำนวนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจดังกล่าวเพียงแค่ 509 บริษัท และขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4,933 บริษัทในปี 2565 โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีตั้งแต่ปี 2558 – 2561 เฉลี่ยร้อยละ 30 ทั้งนี้ มีสตาร์ทอัป รายใหม่ทยอยเข้าสู่การแข่งขัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะมีนักลงทุนหรือสตาร์ทอัปรายใหม่เพิ่มขึ้นในตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง
3. กลุ่มผู้บริโภค
- ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี คิดเป็นร้อยละ 90.1 ของผู้บริโภคทั้งหมด
- ผู้บริโภคที่ทำงานในออฟฟิศเป็นผู้บริโภคหลักสำหรับผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร คิดเป็นร้อยละ 36.7
- ผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 70.1
4. ราคาของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่ผู้บริโภคชาวจีนเลือกซื้อ
จากสถิติแสดงให้เห็นว่าร้อยละ 37.4 ของผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในราคาระหว่าง 21 -30 หยวน ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนส่วนใหญ่เป็นการทำ OEM (Original Equipment Manufacturer) และราคาของผลิตภัณฑ์ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งด้านการตลาดของผู้ประกอบการ
5. ช่องทางในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารชนิดผงของผู้บริโภคชาวจีน ปี 2566
จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี 2566 ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต/ห้างสรรพสินค้าคิดเป็นร้อยละ 64.5 ร้านค้าเฉพาะร้อยละ 59.7 และแพลตฟอร์มออนไลน์ร้อยละ 59.7 จากการวิเคราะห์พบว่า สัดส่วนการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารชนิดผงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีความหลากหลาย ผู้ประกอบการสามารถใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น Xiaohongshu, Douyin, Kuaishou และ Zhihu เป็นต้น ในการประชาสัมพันธ์เนื้อหาและรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร เพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
6. ตัวอย่างสินค้าผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน
7. แนวโน้มของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีน
7.1 ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
จากข้อมูลการสำรวจพบว่าร้อยละ 60 ของผู้บริโภคที่เข้ารับการสัมภาษณ์เผยว่า อุตสาหกรรมทดแทน มื้ออาหารของจีนจำเป็นต้องปรับปรุงมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารอย่างต่อเนื่อง และเสริมสร้างการตรวจสอบ การกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารออนไลน์ จากการวิเคราะห์ หน่วยงานภาครัฐของจีนได้เร่งออกมาตรฐานข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดได้เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาผลักดันให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนมีความเป็นระบบและได้มาตรฐานมากขึ้น
7.2 ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารที่ให้ประสิทธิภาพเป็นวงกว้างมากขึ้น
จากการยกระดับการบริโภคของจีน แนวโน้มของการบริโภคส่วนบุคคลและหลากหลายในตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากข้อมูล ความต้องการผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของผู้บริโภคส่วนใหญ่เป็นการควบคุมน้ำหนัก รองลงมาคือ ความงาม การนอนหลับ การสร้างกล้ามเนื้อและป้องกันผมร่วง เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังมีความคาดหวังต่อผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารให้มีประสิทธิภาพ/ฟังก์ชันเป็นวงกว้างมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่ต่างคิดค้นสูตรและนวัตกรรมอาหารที่มีความแปลกใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
7.3 ผู้ประกอบการชั้นนำจากสาขาอื่นๆของจีนทยอยเข้ามาลงทุน
เกณฑ์การเข้าสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของจีนไม่สูงมากนัก และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากสามารถอยู่รอดได้ในอุตสาหกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการชั้นนำจากสาขาอื่นๆ ต่างทยอยเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนมีการพัฒนาเทคโนโลยี เทคนิค และความสามารถด้านการวิจัยที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมอีกด้วย
ความคิดเห็น สคต.
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาสุขภาพ รูปลักษณ์ภายนอกและการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น ดังนั้น ตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในจีนจึงเป็นตลาดที่ได้รับความสนใจและน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ จากการยกระดับคุณภาพชีวิต และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตอาหาร ทำให้ผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารในตลาดจีนมีความหลากหลายได้รับการพัฒนาและจำหน่ายออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวจีนให้ความสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหาร ได้แก่ การควบคุมน้ำหนัก ความงาม คุณค่าทางโภชนาการและการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เป็นต้น
จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารไปยังประเทศจีน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติในการช่วยลดน้ำหนัก ปลอดภัยและให้สารอาหารครบถ้วน ซึ่งผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยสามารถนำเทคโนโลยี และเทคนิคด้านอาหารสมัยใหม่เข้ามาต่อยอดการพัฒนา โดยคิดค้นรสชาติแปลกใหม่ พกพาสะดวก ง่ายต่อการรับประทานและบรรจุภัณฑ์มีความน่าสนใจ เป็นต้น นอกจากนี้ กลยุทธ์ด้านการตลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญ โดยผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกตลาดจีนทั้งตลาดออนไลน์หรือออฟไลน์ควรดำเนินการจดเครื่องหมายการค้าในจีนเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ที่สำคัญควรเน้นการเจาะกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง เช่น การทำตลาดออนไลน์ โดยประชาสัมพันธ์สินค้าให้ผู้บริโภคชาวจีนรู้สึกถึงความคุ้มค่า คุ้มราคา น่าสนใจและตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งสมัครเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในจีนอย่างต่อเนื่องเพื่อสังเกตพฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนแต่ละมณฑล คาดว่าจะมีผู้เล่นในธุรกิจผลิตภัณฑ์ทดแทนมื้ออาหารของไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
*****************************************
https://mp.weixin.qq.com/s/8F3gJM7rTK7OVTFoR5VXhQ
https://mp.weixin.qq.com/s/prCggZKdQosd_fLS2v4Ffg
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครคุนหมิง
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)