หน้าแรกTrade insightสับปะรด > จับตามองตลาดสัปปะรดของจีน

จับตามองตลาดสัปปะรดของจีน

        สับปะรดเป็นผลไม้เมืองร้อนที่มีรสชาติอร่อยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีน ประกอบด้วยผู้บริโภคชาวจีนเริ่มให้ความสำคัญด้านสุขภาพ นิยมบริโภคผลไม้ที่มีคุณประโยชน์สูง ทำให้ความต้องการสับปะรดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบัน ปริมาณการบริโภคสับปะรดในตลาดจีนอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านตัน และอัตราการขยายตัวด้านการบริโภคสับปะรดเฉลี่ยต่อหัวของประชาชนจีน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อปี หากพิจารณาในด้านรูปแบบการบริโภค พบว่า โดยทั่วไป ผู้บริโภคชาวจีนจะเน้นบริโภคสับปะรดสดเป็นหลัก นอกจากนี้ ยังมีการนำมาแปรรูปเป็นสับปะรดอบแห้ง สับปะรดกระป๋อง เครื่องดื่มน้ำสับปะรด แยมสับปะรด เป็นต้น

        ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้ของประชาชนจีนเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคชาวจีนจึงหันมาบริโภคผลไม้ที่มีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งสับปะรดนำเข้า โดยเฉพาะสับปะรดสายพันธุ์ MD2 ที่มีเปลือกบาง เนื้อแน่น กลิ่นหอม  มีรสชาติดี โดยไม่ต้องแช่ในน้ำเกลือ ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก

        ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตสับปะรดที่สำคัญของโลก โดยพื้นที่เพาะปลูกในจีนประมาณ 1 ล้านหมู่ หรือเท่ากับ 416,666 ไร่ (1 ไร่ = 2.4 หมู่) และผลผลิตประมาณ 1.65 ล้านตันต่อปี สำหรับแหล่งเพาะปลูกสับปะรดที่สำคัญของจีน ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง มณฑลไหหลำ เขตปกครองตนเองกวางสี มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑล   ยูนนาน โดยพื้นที่เพาะปลูกสับปะรดของมณฑลกวางตุ้งในปี 2565 ประมาณ 590,000 หมู่ หรือเท่ากับ 2,458,333 ไร่ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และผลผลิตอยู่ที่ 1,298,000 ตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3        เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ พื้นที่เพาะปลูกของมณฑลกวางตุ้งและมณฑลไหหลำ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 และ 24 ของพื้นที่เพาะปลูกของทั้งประเทศจีน และปริมาณการผลผลิตรวมของสองมณฑลดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 และ 26.8 ของปริมาณการผลิตของจีน ทั้งนี้ เมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้งเป็นฐานการผลิตสับปะรดแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และสับปะรดกระป๋องเมืองจ้านเจียงจะมีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งนอกจากจำหน่ายในตลาดจีนแล้ว ยังส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

        ผลผลิตสับปะรดที่สำคัญ ได้แก่ Bali, Shenwan, Jinzuan, Xiangshui, wucikayin, MD2 และประเภทอื่นๆ โดยแหล่งผลิตสับปะรด MD2 ที่สำคัญ ได้แก่ มณฑลไหหลำ และมณฑลกวางตุ้ง แต่ปริมาณการผลิตยังค่อนข้างน้อย ช่วงฤดูกาลที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดจะเป็นช่วงเวลาระหว่างเดือนเมษายนถึงสิงหาคมของทุกปี และช่วงที่ขายดีที่สุดในตลาดจีน คือ เดือนเมษายน

สถานการณ์การนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้ง (Hs code 080430) ของจีน

        แหล่งนำเข้าสับปะรดที่สำคัญของจีน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐปานามา และคอสตาริกา ในปี 2565 จีนนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้ง (Hs code 080430) จากต่างประเทศรวมแล้วประมาณ 208,000 ตัน โดยปริมาณการนำเข้าจากฟิลิปปินส์มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 96.5 ของปริมาณการนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้งทั้งหมดของจีน เนื่องจากสับปะรดของฟิลิปปินส์มีรสชาติ   หวานอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ และมีราคาที่แข่งขันได้ในตลาด พร้อมทั้งประเทศฟิลิปปินส์ยังมีระบบการส่งออกไปยังตลาดจีนที่เสถียรภาพมาเป็นระยะเวลานานอีกด้วย ส่วนปริมาณการนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้งของไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สาธารณรัฐปานามา และคอสตาริกา มีสัดส่วนร้อยละ 3.5 เท่านั้น ทั้งนี้ มหานครเชี่ยงไฮ้จะเป็นเมืองที่มีการนำเข้าสับปะรดจากต่างประเทศมากที่สุดของจีน โดยในปี 2565 มหานครเชี่ยงไฮ้มีการนำเข้าสับปะรดปริมาณ 139,150,819 กิโลกรัม คิดเป็นร้อยละ 66.8 ของปริมาณการนำเข้าสับปะรดทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ กรุงปักกิ่ง และมณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นพื้นที่นำเข้าสับปะรดหลักของจีนอีกด้วย

        หากพิจารณาในด้านมูลค่าการนำเข้า พบว่า ในปี 2565 จีนนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้งจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1,206.95 ล้านหยวน โดยแหล่งนำเข้า 5 อันดับแรกของจีน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (1,147.28 ล้านหยวน) ไทย (57.08 ล้านหยวน) อินโดนีเซีย (1.45 ล้านหยวน) มาเลเซีย (1.09 ล้านหยวน) และสาธารณรัฐปานามา (0.10 ล้านหยวน) ตามลำดับ นอกจากนี้ ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 จีนนำเข้าสับปะรดสดหรืออบแห้งจากต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1,031.33 ล้านหยวน โดยแหล่งนำเข้า 3 อันดับแรกของจีน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (962.46 ล้านหยวน) ไทย (53.29 ล้านหยวน) และอินโดนีเซีย (15.35 ลานหยวน) ตามลำดับ ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ จีนนำเข้าสับปะรดพันธ์ MD2 จากฟิลิปปินส์เป็นหลัก แต่นำเข้าสับปะรดภูแลจากไทยเป็นหลัก

       ปัจจุบัน สับปะรดภูแลที่นำเข้าจากไทยได้กระจายไปยังทั่วประเทศจีน และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสหวาน ราคาเป็นธรรม และรับประทานสะดวก (ซึ่งเป็นสับปะรดภูแลที่ปอกเปลือกแล้ว) โดยราคาขายส่งของสับปะรดภูแลในท้องตลาดอยู่ที่ 15.8 หยวน/กิโลกรัม หรือเท่ากับ 79 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกของสับปะรดภูแลในท้องตลาดอยู่ที่ 19.9 หยวน/กิโลกรัม หรือเท่ากับ 99.5 บาท/กิโลกรัม (อ้างอิงราคาจากตลาดค้าส่งผลไม้เหมิงหยาง มณฑลเสฉวน)

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

        ตามข้อมูลรายงานข่าวเกี่ยวกับสับปะรดไทยที่จำหน่ายในตลาดจีน พบว่า เคยเกิดกรณีคุณภาพของสับปะรดไทยไม่ผ่านมาตรฐานของทางการจีน โดยมีสำนักงานการบริหารการควบคุมตลาดท้องถิ่นไปสุ่มตรวจสอบคุณภาพของผลไม้ที่จำหน่ายในร้านขายผลไม้ พบว่า โซเดียม ไซคลาเมต (sodium cyclamate) ที่เติมลงในสับปะรดไทย (ปอกเปลือกแล้ว) ที่ขายในร้านขายผลไม้บางร้าน ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด GB2760-2014 <มาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งชาติจีนสำหรับการใช้วัตถุเจือปนในอาหาร>

        ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลจากผู้นำเข้าสับปะรดภูแลในพื้นที่เขตดูแลของ สคต. ณ นครเฉิงตู พบว่า  ที่ผ่านมา เนื่องจากสับปะรดภูแล (ปอกเปลือกแล้ว) ที่นำเข้าจากไทยไม่ได้รับมาตรฐานตามที่ทางการจีนกำหนดไว้ จึงทำให้ผู้นำเข้าบางรายลดปริมาณการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยเป็นชั่วคราว แต่อย่างไรตาม เนื่องจากปริมาณความต้องการสับปะรดของจีนเพิ่มสูงขึ้น (คาดว่า ขนาดตลาดสับปะรดของจีนจะขยายตัวสูงถึงประมาณ 2,746.01 พันล้านหยวนภายในปี 2568) ในขณะที่ปริมาณการผลิตไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จีนจึงยังคงต้องอาศัยการนำเข้าจากไทย และผู้นำเข้าบางรายจึงนำเข้าสับปะรดภูแลที่มีเปลือกจากไทย พร้อมมีแผนที่จะสร้างโรงงานแปรรูปสับปะรดภูแลในจีนด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการปอกเปลือกสับปะรดภูแลและคงความสดของสินค้าด้วย

 

————————————————–

 

แหล่งข้อมูล :

https://www.chinairn.com/news/20230908/10475448.shtml

https://baijiahao.baidu.com/s?id=1694629875303737839&wfr=spider&for=pc

แปลและเรียบเรียงโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login