จากรายงานเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ปรับการคาดการณ์ผลผลิตข้าวในสหรัฐฯ ในปี 2566/67 นี้ ว่าจะเพิ่มขึ้น 25% จากปีก่อน ทำให้คาดว่าผลผลิตข้าวในสหรัฐฯ ปี 2566/2567 จะอยู่ที่ 10 ล้านตัน นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ว่าการนำเข้าข้าวของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ปริมาณ 1.9 ล้านตัน สำหรับด้านของอุปทาน คาดว่าการบริโภคข้าวในสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 7.75 ล้านตัน และการส่งออกข้าวสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 4 ล้านตัน
การปรับขึ้นการคาดการณ์ผลผลิตข้าวในปีนี้นั้น เนื่องจากสถานการณ์การเก็บเกี่ยวของสหรัฐฯ ดีมากขึ้น ทั้งนี้ สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในปีการผลิต 2566/67 จะเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อน หรือประมาณ 2.65 ล้านเอเคอร์ นอกจากนี้ จากการสำรวจโดย National Agricultural Statistics Service (NASS) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวเฉลี่ยต่อเอเคอร์ในปีการผลิต 2566/67 จะเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 7,599 ปอนด์ต่อหนึ่งเอเคอร์
หากแบ่งผลผลิตตามชนิดของข้าว พบว่าข้าวเมล็ดสั้น (short-grain rice) และข้าวเมล็ดปานกลาง (medium-grain rice) จะมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นรวมกว่า 74% จากปีก่อน อยู่ที่ 2.81 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในแถบแคลิฟอร์เนียที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังประสบภัยแล้งต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับข้าวเมล็ดยาว (long-grain rice) นั้น พบว่าผลผลิตคาดการณ์จะเพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน อยู่ที่ 7.24 ล้านตัน จากสภาพอากาศที่ดีขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในพื้นที่ Delta (คลอบคลุมพื้นที่รัฐ Mississippi รัฐ Arkansas และรัฐ Louisiana) ซึ่งประสบปัญหาฝนตกหนักต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกกว่า 300,000 เอเคอร์ในปีการผลิต 2565/66 ที่ผ่านมา
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวในระยะยาว ว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของสหรัฐฯ ในปีการผลิต 2567/68 และ 2568/69 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ 1-2% และจะคาดว่าหลังจากนี้จะคงที่ต่อเนื่องจนถึงปีการผลิต 2575/76 หากไม่เกิดภัยแล้งฉับพลันหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง ในส่วนของปริมาณการบริโภคในประเทศนั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวที่ 1-2% ต่อปีจนถึงปีการผลิตที่ 2570/2571ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าข้าวจากประเทศต่าง ๆ คาดว่าจะขยายตัวขึ้น 2-3% ต่อปี ในปีการผลิต 2569/2570 จนถึง 2575/2576
รายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ยังได้คาดการณ์การผลิตข้าวโลก โดยพบว่าในปีการผลิต 2566/67 นี้ ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะอยู่ที่ 520.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8 ล้านตันจากฤดูการผลิตก่อน ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจากปากีสถาน จีน และสหรัฐอเมริกา จะเป็นสัดส่วนใหญ่ที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับปากีสถานคาดว่าจะเพิ่มการผลิตได้ 3.5 ล้านตันเป็น 9.9 ล้านตัน เนื่องจากทั้งพื้นที่และผลผลิตน่าจะฟื้นตัวจากอุทกภัยในฤดูร้อนที่รุนแรงซึ่งส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกในปี 2565/66 สำหรับผลผลิตข้าวของจีนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านตันเป็น 149 ล้านตันจากพื้นที่และผลผลิตทางตอนใต้ของจีนที่น่าจะฟื้นตัวจากภัยแล้งและความร้อนที่รุนแรงที่ทำให้การผลิตในปีก่อนลดลง นอกจากนี้ บังคลาเทศ พม่า อินโดนีเซีย และศรีลังกา ต่างก็คาดว่าจะเพิ่มผลผลิตข้าวได้มากกว่า 250,000 ตันในฤดูกาลผลิตปี 2566/67 นี้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การผลิตข้าวในอินเดียในฤดูการผลิตปี 2566/67 คาดว่าจะลดลงอย่างมากถึง 2 ล้านตันอยู่ที่ 134 ล้านตันจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้พื้นที่เก็บเกี่ยวที่ลดลง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ทำให้ราคาข้าวในประเทศของอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากกว่า 11% ทำให้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา อินเดียได้ออกนโยบายระงับการส่งออกข้าวทุกชนิด ยกเว้นข้าวบาสมาติ แล้ว ทั้งนี้ ข้าวชนิด Non-basmati นั้นมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 25% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของอินเดีย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการผลิตข้าวจะลดลงอย่างต่อเนื่องในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต 2566/67 จะอยู่ที่19 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 2.5% และคาดว่าการบริโภคในประเทศจะอยู่ที่ 12.5 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อน 3 แสนล้านตัน ในส่วนของการส่งออกนั้น คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวเป็นอันดับสามของโลก รองจากอินเดียและปากีสถาน ในส่วนของราคานั้น (ข้อมูลวันที่ 14 กรกฎาคม 2566) พบว่าราคาข้าวไทยเกรดปกติในตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น 3 % อยู่ที่ประมาณ 531 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในขณะที่ข้าวเวียดนาม ราคาอยู่ที่ 515 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับแต่เดือนมีนาคม 2564
ความคิดเห็นของสคต.นิวยอร์ก
ตลาดข้าวในสหรัฐฯ ยังมีอนาคตที่สดใสเนื่องจากความต้องการของตลาดยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประชากรกลุ่มผู้บริโภคเอเซียและฮิสแปนิกก็มีจำนวนที่มากขึ้น และกลุ่มผู้บริโภค mainstream หันมานิยมรับประทานอาหารสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการข้าวของตลาดในสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ แต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลงเนื่องจากปัญหาการแข่งขันด้านราคาและปริมาณข้าวจากประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม หากข้าวไทยมีการจัดการมาตรฐานด้านคุณภาพและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถเสริมสร้างมูลค่าของข้าวไทยให้สูงขึ้น และยังเป็นการยกระดับสินค้าข้าวจากไทยให้เหนือกว่าสินค้าข้าวจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย
ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)