หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > คาดการณ์ผลกระทบทางการค้าจากสภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ

คาดการณ์ผลกระทบทางการค้าจากสภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: สถานการณ์ทางการเมืองภายในสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ส่อเค้าที่จะอยู่ในสภาวะความขัดแย้งที่เข้มข้นอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรครีพับลิกกัน และพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในพรรครีพับลิกกันเองที่ไม่สามารถตกลงแนวทางที่จะโหวตร่างกฎหมายต่าง ๆ กว่า 10 ฉบับได้ ซึ่งคั่งค้างสะสมมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว จึงทำให้จนถึงปัจจุบันสภาคองเกรสยังไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณปี 2024 ซึ่งจะเริ่มต้นปีงบประมาณในวันที่ 1 ตุลาคม 2023 ที่จะถึงนี้

โดยหากไม่สามารถผ่านร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าวได้ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้ จะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯเข้าสู่สภาวะชัตดาวน์ (Government Shutdown) อีกครั้งเนื่องจากรัฐบาลจะไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณตามปกติได้ จนกว่า สส. จะตกลงกันได้ก่อนลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ อย่างไรก็ตามระบบการเมืองของสหรัฐฯ นั้น ไม่มีกรอบระยะเวลากำหนดเอาไว้เกี่ยวกับสภาวะชัตดาวน์ ซึ่งหมายความว่าหากเกิดสภาวะชัตดาวน์ขึ้นจริง ก็อาจต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ

ด้วยสถานการณ์ในตอนนี้ซึ่งยังคงตกลงกันไม่ได้นั้น ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีแนวโน้มสูงที่นำไปสู่สภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกคราวหนึ่ง จากการคาดการณ์ของสำนักข่าวหลากสำนัก ที่รายงานถึงการเริ่ม “แจ้งเป็นการภายใน” ของหน่วยงานรัฐบาลไปยังบุคลากรส่วนราชการหน่วยงานต่างๆ ให้เตรียมตัวรับมือกับสภาวะดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มบุคคลเหล่านี้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้ได้ จนกว่าสภาคองเกรสจะผ่านกฎหมายงบประมาณชั่วคราว หรือตามปกติได้

บทวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะ: จะประกอบด้วยสองส่วนสำคัญ ได้แก่ คาดการณ์ผลกระทบทางตรง และทางอ้อมต่อการค้าระหว่างประเทศ และความยืดเยื้อของสถานการณ์

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือการที่สหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก เกิดการชะงักในการดำเนินกิจการภายในเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อโลก โดยสำหรับการคาดการณ์ผลกระทบในทางการค้าระหว่างประเทศนั้น สามารถแบ่งได้เป็นผลกระทบในทางตรง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินระบบการคมนาคมขนส่งภายในสหรัฐฯ และผลกระทบในทางอ้อม ซึ่งจะว่าด้วยเรื่องสภาพฝืดเคืองของกำลังซื้อบางส่วนภายในประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องจากการขาดงบประมาณจากภาครัฐสนับสนุน

ผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกิจการด้านการตรวจสอบการสินค้า และกฎระเบียบเกี่ยวกับค้า (Trade Enforcement and Regulation) รวมถึงหน่วยงานด้านศุลกากร และฝ่ายความมั่นคงพรมแดน (Customs and border Protection) ซึ่งไม่จัดว่าอยู่ในรายชื่อของหน่วยงานที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ (Essential Federal Agencies) แม้ว่าจะไม่ได้รับเงินเดือนก็ตาม ก็อาจทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ ในการทำให้เกิดความล่าช้า หรือเกิดการชะงักในภาคการส่งออก – นำเข้า ที่ต้องข้องเกี่ยวกับหน่วยงานที่ได้กล่าวไป นอกจากนี้ในส่วนของการเจรจาการค้าในระดับนโยบายของรัฐ ก็อาจได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นในการลงทุน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลำดับต่อไป

สภาวะชัตดาวน์จะทำให้บุคลากรภาครัฐทั่วประเทศกว่า 4 ล้านคน เป็นผู้ได้รับผลกระทบทันทีจากการขาดรายได้ไป นอกจากนี้ประชากรกว่า 50 ล้านคน ซึ่งใช้ชีวิตโดยพึ่งพาเงินช่วยเหลือดำรงชีพจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็น Supplemental Nutrition Assistance Program (SNAP), Temporary Assistance for Needy Families (TANF) และ Special Supplemental Nutrition Program for Women, Infant and Children (WIC) อาจสูญเสียเงินช่วยเหลือไปจนกว่าร่างกฎหมายงบประมาณจะผ่าน ซึ่งทั้งหมดหมายถึงกำลังซื้อภายในของสหรัฐฯ บางกลุ่มที่อาจลดลงไปจากสภาวะนี้ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) บางประเภทเช่น พลังงาน สินค้าเกษตร รวมถึงเหล็ก อาจจะถีบตัวสูงขึ้นได้จากภาวะดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมภาระค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศอาจอ่อนตัวลงไปอีก

ในส่วนของระยะเวลาความยืดเยื้อของสถานการณ์นั้น แท้จริงแล้วปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวบ่งชี้นั้นขึ้นอยู่กับ “การเมือง” ภายในของสหรัฐฯทั้งสิ้น เนื่องจากต้นเหตุที่นำมาสู่สภาวะเช่นนี้ ก็มาจากการที่ไม่สามารถจะ ตกลงกันในเรื่องทางการเมือง และสาระสำคัญในการผ่านกฎหมายได้ ซึ่งเมื่ออยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้           ก็นำไปสู่การใช้เครื่องมือทางการเมืองในการต่อรองกันตามระบบการเมือง ดังนั้นหากจะหาคำตอบว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปนานแค่ไหน คำตอบก็อยู่ที่ว่าเหล่านักการเมืองจะสามารถตกลงกันได้ลงตัวเมื่อไหร่

อย่างไรก็ดีมีการวิเคราะห์กันในเชิงลึกลงไป ซึ่งทำให้เห็นว่านอกจากปัจจัยในทางการเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดการเห็นพ้องต้องกันในทางการเมืองแล้ว ปัจจัยในทางสังคมก็อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งที่จะทำให้สถานการณ์จำเป็นต้องคลี่คลายตัวลงเร็วขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากความยืดเยื้อที่สังคมจะได้รับจากสถานการณ์ด้วย กล่าวคือ สถานการณ์ชัตดาวน์ของรัฐบาลซึ่งส่งผลให้หน่วยงานราชการของรัฐบาลส่วนหนึ่งต้องหยุดชะงักไปในช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น อาจส่งผลกระทบต่อพลวัต และการดำเนินกิจกรรมของคนในสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่พอใจ และกดดันให้ฝ่ายการเมืองหาทางผ่านร่างกฎหมายงบประมาณให้เร็วที่สุด ทั้งนี้ หากเราพิจารณาจากสถิติสภาวะชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เคยเกิดขึ้นจะพบว่าเคยมีเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น หลักสัปดาห์ ไปจนถึงข้ามเดือนกันเลยทีเดียว

ในคำแนะนำส่วนท้ายนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณณชัตดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วจริง ๆ (ภายในวันที่ 30 กันยายนนี้) ว่าทิศทางของการดำเนินงานภายในหน่วยงานราชการสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการนำเข้า – ส่งออก ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงประการใดหรือไม่ และควรติดตามสภาวะกำลังซื้อภายในประเทศของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดด้วย เนื่องจากทั้งสองปัจจัยนั้นมีผลสืบเนื่องต่อกัน ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ในระยะนี้ ซึ่งอาจจะทำให้พิธีการทางด้านศุลกากรและการตรวจปล่อยสินค้ามีความล่าช้าออกไปกว่าที่เคยเป็นมาตามปกติ

********************************************************

ที่มา: Associated Press (AP)
เรื่อง: “A government shutdown is nearing this weekend. What does it mean, who’s hit and what’s next?
โดย: Stephen Groves
สคต. ไมอามี /วันที่ 25–29 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login