หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > ความเป็นไปได้และความท้าทายของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในการมุ่งมั่นสู่ G7

ความเป็นไปได้และความท้าทายของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในการมุ่งมั่นสู่ G7

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา Federation of Korean Industries (FKI) ได้นำเสนอมาตรการการพัฒนาภาคแรงงาน การลงทุน และปัจจัยการผลิต เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีไปสู่ระดับชั้นนำของโลก ผ่านรายงาน “ความเป็นไปได้และความท้าทายของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในการมุ่งมั่นสู่ G7”

 

จากรายงานฉบับนี้ มีการอธิบายและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจเกาหลีที่จะมุ่งสู่การเข้าร่วมสมาชิก G7* รวมถึงการแนะแนวทางในการผลักดันขนาดอำนาจทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งในการผลักดันเศรษฐกิจของเกาหลีนั้น จำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับการส่งเสริมจากสถาบันที่สำคัญ เพื่อให้เกาหลีได้ก้าวไปข้างหน้าในฐานะประเทศชั้นนำของโลกและขยายศักยภาพการเติบโต

*G7 หรือ Group of Seven หมายถึง กลุ่มของเจ็ดประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของโลก สมาชิกในปี 2565 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส แคนาดา และอิตาลี

 

สถานการณ์เศรษฐกิจของเกาหลีใต้

  • อำนาจทางเศรษฐกิจของเกาหลีอยู่อันดับที่ 9 ในปี 2565 จากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยและมีรายได้สูงของโลก
    • จากการคาดการณ์ของ FKI เปิดเผยว่า คุณสมบัติของกลุ่มประเทศ G7 ในปี 2565 นั้น มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดคุณสมบัติของประเทศสมาชิก G6 ในปี 2518 ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ประการหลัก ดังนี้
      1. ประการแรกคือ “ประเทศที่มีรายได้สูง” หมายถึง มูลค่าของ GDP ต่อคน ในประเทศหนึ่งต้องมากกว่า 3 หมื่นเหรียญสหรัฐ
      2. ประการสองคือ “อิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก” หมายถึง ประเทศที่มีสัดส่วน GDP ต่อโลกมากกว่า 2%
    • สำหรับเกาหลีใต้ มีการอ้างอิงตามข้อมูลของ IMF ว่า GDP ต่อคนของเกาหลีในปี 2565 มีมูลค่า 3.2418 หมื่นเหรียญสหรัฐ ซึ่งตรงตามข้อกำหนดแรกของคุณสมบัติประเทศสมาชิก G7

 

    • อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ยังไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดในข้อที่ 2 ว่าด้วยสัดส่วน GDP ต่อโลกต้องมากกว่า 2% เนื่องจากสัดส่วน GDP ของเกาหลีมีอัตรา 1.67% ส่งผลให้ครองอันดับที่ 9 ของประเทศที่มีอำนาจเศรษฐกิจระดับโลกในปี 2565 รองจากกลุ่มประเทศ G7 และออสเตรเลีย (1.70%)

 

  • ภายในปี 2573: GDP จำเป็นต้องเติบโตเฉลี่ย 3.5% ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเข้าร่วม G7
    • นอกจากคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว FKI ยังได้ระบุถึงอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.5% ต่อปี ซึ่งควรเริ่มตั้งแต่ปีนี้จนถึงภายในปี 2573 เพื่อขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของเกาหลีจนถึงระดับ G7
      • การตั้งเป้าหมายขยายมูลค่าของ nominal GDP จาก 1.674 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2565 เป็น 2.553 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2573 จึงจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตเฉลี่ย 3.5% ต่อปีตามการวิเคราะห์

 

    • อย่างไรก็ดี FKI ชี้แนะว่า การส่งเสริมศักยภาพการเติบโตผ่านแรงงาน เงินทุน และการปรับปรุงประสิทธิภาพของปัจจัยในการผลิตทั้งหมด เป็นกลยุทธ์ 3 ประการที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ (3.5%) มากกว่าความเป็นไปได้ของอัตราจริง (2.1% ณ ปี 2566)

กลยุทธ์และแผนการปฏิบัติ

1. ความสามารถในการแข่งขันของแรงงาน

เนื่องจากเกาหลีใต้อยู่ในภาวะสังคมที่มีอัตราการเกิดที่ต่ำและมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่ออัตราการผลิตของประเทศ จึงมีการเสนอแนวทางเพื่อป้องกันผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

a. การเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

    • อัตราการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีต่ำกว่าประเทศสำคัญอื่นๆ โดยปัจจัยที่ขัดขวางการมีส่วนร่วม เช่น ข้อบังคับที่เข้มงวดของการใช้แรงงานประจำและแรงงานรับจ้าง และการจำกัดชั่วโมงการทำงาน
    • แนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการทำงาน จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงการขยายขอบเขตของประเภทงานรับจ้างที่ได้รับอนุญาตและระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อลดอุปสรรคต่อการขยายอัตราการมีส่วนร่วม

 

b. การมีส่วนร่วมของแรงงานจากผู้อพยพ

  • เกาหลีใต้ยังมีประสิทธิภาพในการดึงดูดแรงงานผู้อพยพได้น้อยกว่าเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศขนาดใหญ่อื่นๆ แล้ว เนื่องจากมาตรการด้านภาษีที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขการตั้งถิ่นฐานที่ยังรองรับได้ไม่เพียงพอ
  • การออกมาตรการเพื่อลดภาระดังกล่าว เช่น การลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 19% เป็น 10% ให้กับชาวต่างชาติ รวมถึง การผ่อนคลายข้อกำหนดสำหรับผู้ที่มีวีซ่าพักอาศัยถาวร จะเป็นวิธีการสร้างแรงจูงใจจากแรงงานผู้อพยพได้

c. การพัฒนาอุตสาหกรรมการบริการ

  • เกาหลีใต้มีอัตราการผลิตที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรมการผลิตและล่าช้า ซึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดต่างๆและการสนับสนุนด้านภาษีและการเงินที่ไม่เพียงพอ อ้างอิงตามตารางเปรียบเทียบนี้
  • ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พระราชบัญญัติกรอบการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเสริมสร้างกรอบสำหรับการเติบโตอย่างเป็นระบบของอุตสาหกรรม ผ่านการเพิ่มเงินทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา และสนับสนุนการจ้างผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม

 

2. การขยายการลงทุน

FKI ได้ระบุอีกว่า เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณเงินลงทุนในเกาหลีนั้น ควรพิจารณาถึงการดึงดูดการลงทุนในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) อย่างจริงจัง โดยแผนการปฏิบัติที่เสนอมีดังนี้

a. ขยายการสนับสนุน Growth Engine ใหม่

    • แม้ว่าเทคโนโลยีและแหล่งกำเนิดใหม่ที่กำหนดโดยรัฐทั้งหมด 262 รายการจาก 13 สาขาจะได้รับการสนับสนุนด้านภาษีมากกว่าเทคโนโลยีทั่วไป แต่ข้อกำหนดทางกฎหมายดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบ Positive หรือการอนุญาตการผลิตเฉพาะสิ่งที่ระบุตามข้อกำหนดเท่านั้น ซึ่งหากนอกเหนือข้อกำหนด ก็จะไม่สามารถผลิตออกมาสู่ตลาดได้นั้น อาจส่งผลต่อการจำกัดการใช้งานได้
    • ข้อกำหนดทางกฎหมายจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนจากรูปแบบ Positive เป็นรูปแบบ Negative แทน ซึ่งหมายถึง การอนุญาตการผลิตสินค้าหรือเทคโนโลยีใหม่ออกสู่ตลาดก่อนได้ แล้วออกกฎหมายในภายหลังหรือกรณีที่จำเป็น เพื่อเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

b. สนับสนุนด้านภาษีการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวก

    • เนื่องจากระบบเครดิตภาษีการลงทุนที่มีอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดที่ส่งผลให้เกิดการลดแรงจูงใจในการลงทุนจากภาคเอกชน ซึ่งระบุว่า สามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรเท่านั้น หากเป็นการลงทุนในที่ดินและอาคารนั้น อัตราการหักลดหย่อนภาษีจะลดได้น้อยกว่า
    • ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจ จึงได้มีการเสนอแนะว่า ควรให้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและอาคารพาณิชย์ที่มีการดำเนินธุรกิจก็ควรได้รับการลดหย่อนเช่นกัน

c. สร้างระบบการจัดการแรงงาน

    • ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและผู้บริหารที่ขัดแย้งกันของเกาหลี ก็เป็นสาเหตุหลักของการหดตัวของการลงทุนในประเทศและต่างประเทศเช่นกัน เนื่องจากการหยุดงานประท้วงบ่อยครั้งที่ส่งผลให้สูญเสียจำนวนการผลิตเป็นอย่างมาก
    • แนวทางการตอบสนองต่อปัญหานี้ สามารถแก้ไขได้จากการปรับปรุงกฎหมายและระบบความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายจ้างให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับโลก รวมถึง การสร้างระบบการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานและฝ่ายบริหาร ที่จะส่งผลดีต่อความกระตือรือร้นในการลงทุนมากขึ้น

3. การพัฒนาศักยภาพของผลิตภาพการผลิตรวม*

สำหรับกลยุทธ์สุดท้าย FKI ได้เสนอว่า ปัจจัยในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของบริษัท สามารถพัฒนาได้ผ่านการผ่อนปรนกฎระเบียบ การขยายทุนทางสังคม และการสนับสนุนด้านภาษี R&D ตามรายละเอียดดังนี้

*ผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity) หมายถึง การเพิ่มของผลผลิตที่เกิดจากส่วนที่ไม่ได้มาจากการเพิ่มของปัจจัยการผลิตโดยตรง เช่น ทุน แรงงาน และที่ดิน แต่มาจากการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหาร

a. การผ่อนปรนกฎระเบียบ

    • ในเกาหลีใต้ กฎระเบียบสำหรับภาคเอกชนมีความเข้มงวดอย่างมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางธุรกิจและการจัดตั้งองค์กรนวัตกรรม อีกทั้ง กฎระเบียบการปฏิบัติต่อบริษัทขนาดใหญ่ที่มากเกินไป ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการขัดขวางการเติบโตของบริษัทอื่นๆ เช่นกัน
    • ดังนั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติตามขนาดบริษัทต่างๆ ควรได้รับการทบทวนและปรับปรุงระบบกฎระเบียบ เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของธุรกิจให้มีชีวิตชีวา

b. การขยายทุนทางสังคม

    • ทุนทางสังคม (Social Capital) หมายถึง ปัจจัยสำคัญและตัวกลางที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ผ่านความเชื่อมั่นและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในสังคม ซึ่งหากในอนาคต มีการลดกฎระเบียบที่ขัดขวางการทำงานของตลาดและออกกฎเกณฑ์ทางการคลัง ก็จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านทุนทางสังคมในเกาหลีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

c. การสนับสนุนทางภาษีเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D)

    • การวิจัยและพัฒนาถือเป็นสาขาที่มีความเสี่ยงสูงในทุกบริษัท ซึ่งสวนทางกับระบบสนับสนุนด้านภาษีการวิจัยและพัฒนาในเกาหลีที่ไม่ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้าน R&D ของภาค เอกชนมากนัก เนื่องจากระดับการสนับสนุนจะแตกต่างกันไปตามขนาดของบริษัท
    • การขยายการสนับสนุนด้านภาษีการวิจัยและพัฒนาของบริษัทขนาดใหญ่ให้อยู่ในระดับเทียบเท่ากับประเทศที่สำคัญจึงควรได้รับการพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมจากภาคเอกชนต่อไป

ในการนี้ นาย Kwang-Ho Choo ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของ Federation of Korean Industries (FKI) กล่าวเพิ่มเติมว่า “สถานะของเกาหลีในฐานะประเทศคู่ค้าระดับโลกกำลังแข็งแกร่งขึ้น อาทิ ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุม G7 ที่ฮิโรชิม่าในปี 2566” และ “หากแรงผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีได้รับการสนับสนุน ผ่านการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของแรงงาน การขยายการลงทุน และการพัฒนาศักยภาพของผลิตภาพการผลิตรวม ก็จะสามารถก้าวกระโดดไปสู่ประเทศชั้นนำระดับโลกได้”

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

20 ธันวาคม 2566

 

ที่มาข้อมูล:

www.fki.or.kr/main/news/statement_detail.do?bbs_id=00035259&category=ST

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ความเป็นไปได้และความท้าทายของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ในการมุ่งมั่นสู่ G7

Login