หน้าแรกTrade insightทุเรียน > ความท้าทายของตลาดทุเรียน

ความท้าทายของตลาดทุเรียน

ข่าวประจำสัปดาห์ สคต. ณ เมืองฮ่องกง ระหว่าง 22 – 28  พฤษภาคม 2566

ชาวสวนในมณฑลเหอหนานในประเทศจีนได้เริ่มมีการเพาะปลูกทุเรียนและมั่นใจว่าจะสามารถเป็นผลไม้เศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นผลจากการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตทางผลผลิตให้กับชาวสวน อาทิ การใช้เครื่องจักรเข้ามาควบคุมต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้สำหรับการให้น้ำ การบริหารจัดการปุ๋ย และการเฝ้าระวังสภาวะอากาศ เป็นต้น  ซึ่งผลผลิตครั้งแรกของทุเรียนจีนจากมณฑลเหอหนานที่คาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้ในราว ๆ เดือนมิถุนายนของปีนี้จะมีประมาณ 2,400 ตัน ซึ่งจากตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสดของจีนในปี 2565 (ค.ศ. 2022) พบว่า จีนมีการนำเข้าในปริมาณกว่า 824,000 ตันซึ่งเป็นปริมาณตัวเลขที่มากกว่าสี่เท่าของตัวเลขนำเข้าในปี 2560 (ค.ศ. 2017)

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทุเรียนของมาเลเซีย Mr. Lim Chin Khee ได้เดินทางไปเมืองจีนทุก ๆ 2 เดือนเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชาวสวนในจีนในการปลูกผลไม้เมืองร้อนที่มีกลิ่นฉุนนี้ในพื้นที่กว่า 404 เฮกเตอร์ (หรือประมาณ 2525 ไร่) นอกจากการให้ความช่วยเหลือในการปลูกทุเรียนแล้ว ยังพบว่าประเทศมาเลเซียมีการส่งออกทุเรียนแช่แข็งแบบระดับไฮเอนด์โดยส่งจากกลุ่มฟาร์มขนาดเล็กไปยังประเทศจีนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม Mr. Lim ไม่ได้แสดงถึงความกังวลในเรื่องการเป็นคู่แข่งที่สำคัญของจีนแต่อย่างใด เนื่องจากชาวสวนในประเทศจีนต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ อาทิ ฤดุไต้ฝุ่น และค่าเช่าที่ดินสำหรับเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามกำลังเฝ้าจับตาดูการพัฒนาเติบโตในเซกชั่นของผลไม้ชนิดนี้ว่าจะสามารถขยายกลายเป็นคู่แข่งหลักที่สำคัญในอนาคตหรือไม่

Mr. Sam Sin ผู้อำนวยการของบริษัท S & F Produce Group ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ของฮ่องกง ได้กล่าวในวันพิธีเปิดของงาน “Thai Food Fair” เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ว่า ทุเรียนที่ปลูกภายใต้ภูมิอากาศแบบมรสุมกึ่งเขตร้อนของเหอหนานไม่สามารถเทียบคุณภาพกับทุเรียนที่ผลิตในประเทศไทยซึ่งได้สร้างชื่อเสียงในระดับตำนานในประเทศจีนแล้ว ประกอบกับคนจีนมักมีแนวความคิดการบริโภคสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตต้นตำรับดั้งเดิม อีกทั้งมีความเชื่อมโยงผูกพันกับเทศกาลวันหยุดต่าง ๆ ของประเทศไทย

สคต. ณ เมืองฮ่องกงให้ข้อมูลว่ารัฐบาลไทยได้ทำงานร่วมกับชาวเกษตรกร และผู้ค้ามาอย่างต่อเนื่องในการประชาสัมพันธ์การขายผลไม้ไทย จะเห็นได้ว่า เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยได้มีการจำหน่ายทุเรียนให้กับจีนไปมีมูลค่าถึง 3.1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ หรือคิดเป็นมูลค่า 96.2 เปอร์เซนต์ของการส่งออก ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีความมั่นใจอย่างมากว่าการส่งออกทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ไปยังทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 5.83 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ฯ

ภาพตัวอย่างสินค้าทุเรียนในวันเปิดงาน

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นจาก สคต

สคต. ณ เมืองฮ่องกงได้ผลักดันพร้อมทั้งประสานผู้นำเข้าฮ่องกงในการนำเข้าทุเรียน รวมทั้งผลไม้ และสินค้าจากไทยมาโดยตลอด ดังตัวอย่างจากการขับเคลื่อนการค้าผ่านทางห้างสรรพสินค้าชั้นนำอย่าง AEON หรือ Citistore

นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมในการจำหน่ายผลไม้ไทยทุกประเภท โดยเฉพาะทุเรียนในตลาดฮ่องกงโดยผ่านทางกลากหลายช่องทาง อาทิ Modern Trade ซุปเปอร์มาร์เก็ต ตลาดสด และโรงแรมที่มีชื่อเสียงในฮ่องกง ดังนี้

(1) การจัดงาน Thai Food Fair วันที่ วันที่ 12 – 24 พ.ค. 2566 ที่ห้างสรรพสินค้า AEON ทั้ง 12 สาขาทั่วฮ่องกง และวันที่ 20 มิ.ย – 3 ก.ค. และ 14 – 27 มิ.ย. 2566 ที่ห้าง Citistore ทั้ง 2 สาขา

(2) การจัดงาน Thai Fruits Golden Months โดยร่วมกับห้างสรรพสินค้าระดับไฮเอนด์ครั้งแรกอย่าง SOGO ในวันที่ 31 พ.ค. – 13 มิ.ย 2566 และโรงแรมที่มีชื่อเสียงอย่าง Hotel Icon ในวันที่ 9 มิ.ย – 9 ก.ค. 2566 โดยมีการจัดบุฟเฟ่ต์อาหารทั้งมื้อกลางวันและเย็น ซึ่งทางโรงแรมจะมีการเตรียมนำเสนอผลไม้ไทยเข้าไปในเมนูรวมทั้งเครื่องดื่มน้ำผลไม้

อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการรักษาสัดส่วนตลาดอย่างเหนียวแน่นต้องรักษาความเข้มงวดตามข้อกำหนดสำหรับสินค้าส่งออก อีกทั้งควรมีคำแนะนำทางเทคนิคสำหรับชาวสวนผลไม้ก่อนส่งออก รวมถึงข้อกำหนดทางเทคนิคสำหรับเวลาเก็บผลไม้ กำหนดอายุก่อนส่งออก คุณภาพส่งออก และหน่วยงานต่างๆ ร่วมมือกัน ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดฮ่องกง เพื่อส่งเสริมทุเรียนไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ต่อไป

ผู้ประกอบการท่านใดที่มีสินค้าแปลกใหม่ และประสงค์จะนำเข้ามาในตลาดฮ่องกง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง หรือสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์thaicomm@netvigator.com

ที่มา  : หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม 2566

Login