ความก้าวหน้าของจีนในการพัฒนา Blockchain และ Cryptocurrency
โดย นางสาวศุภาภัสร์ จองคำ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กองนโยบายระบบการค้า
ความสำคัญของ Blockchain ในประเทศจีน
Blockchain กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ประชาชนจีนและนักธุรกิจส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ในเดือนตุลาคม 2019 ประธานาธิบดีจีน สี จิ้งผิง ได้เน้นย้ำความสำคัญและการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เพื่อผลักดันให้ Blockchain เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีหลักของประเทศจีน และมีจุดประสงค์เพื่อให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำของโลก ในด้านนี้ การประกาศจุดยื่นนี้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาต่างๆ ที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ แผนพัฒนาเทคโนโลยี หรือ Internet Plus แผนพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แผนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และ Made in China 2025
รัฐบาลจีนได้สนับสนุนทั้งด้านการวิจัยพัฒนา การลงทุน และการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ ในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Industrial Technology) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก ภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการห่วงโซ่ อุปทาน (Supply Chain Management) ความปลอดภัยของอาหาร และการบริหารจัดการความเสี่ยง ทางการเงิน ซึ่งสามารถนำ Blockchain มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain ของรัฐบาลจีนเริ่มจากการให้เงินทุนอุดหนุนผ่านเขตเศรษฐกิจและมณฑลต่างๆ ซึ่งคล้ายการส่งเสริม การพัฒนา 5G ก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งองค์กรภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ประกอบด้วยที่ปรึกษาที่ เชี่ยวชาญด้าน Blockchain และบริษัทวิจัยอย่าง Huobi China ซึ่งการจัดตั้งองค์กรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ หน่วยงานภาครัฐ ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการ Blockchain นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และโครงการเกี่ยวกับ Blockchain อาทิ บริษัท Huobi ร่วมกับ Tianya Community Network Technology ที่เป็นผู้ให้ บริการ Social Network ได้จัดตั้งกองทุน มูลค่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุน Start-ups ของจีน ในการพัฒนาหรือนำ Blockchain ไปใช้ และเขตปกครอง Guangzhou ได้จัดตั้งกองทุนมูลค่า 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 1.4 แสน ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนโครงการ พัฒนาเทคโนโลยี Blockhain ภายในพื้นที่
สกุลเงินดิจิทัลของจีน
การประกาศท่าทีของประธานาธิบดีจีนทำให้ราคา Bitcoin เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 เนื่องจากนักลงทุน คาดการณ์ว่า รัฐบาลจีนอาจลดการต่อต้าน Cryptocurrency ลง เนื่องจากเมื่อเดือนกันยายน 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีน เคยออกนโยบายห้ามการซื้อขาย แลกเปลี่ยน Initial Coin Offerings (ICOs) และ Cryptocurrency ภายใน ประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาลมองว่า การใช้เงินดิจิทัลทำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงจากการตรวจสอบได้ง่ายและธนาคารกลางควบคุม การโยกย้ายเงินได้ยาก ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินของประเทศ การประกาศห้ามดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนย้าย การทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินดิจิทัลไปยังประเทศที่อนุญาตให้ซื้อขายได้โดยไม่ผิดกฎหมาย อย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ก่อนหน้านี้ธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเคยรายงานว่าได้เริ่มทำการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของจีน ตั้งแต่ปี 2014 และสื่อจีนต่างๆ คาดว่าสกุลเงินดิจิทัลของประเทศจีนจะใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Digital Currency Electronic Payment (DCEP) โดย DCEP ที่ธนาคารกลางจีนกำลังพัฒนานี้มีลักษณะที่แตกต่างจาก Cryptocurrency อื่น อย่าง Bitcoin และ Libra ของ Facebook ในตลาด ดังนี้
- การควบคุมการหมุนเวียนของ DCEP เป็นแบบรวมศูนย์ (Centralised) ธนาคารกลางจีนจะควบคุม การแลกเปลี่ยน DCEP ผ่าน Private Blockchain ที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางสามารถควบคุมอุปทาน ของเงินและการกระจายเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถรักษาสถานะภาพการเงินของประเทศได้ด้วย อย่างไรก็ตามธนาคารกลางเคยออกมาชี้แจงว่าก่อนการประกาศใช้ DCEP นั้น ต้องให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัว และการเปิดเผยข้อมูลของประชาชนควบคู่กัน ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างกระบวนการทดสอบการใช้ DCEP สำหรับ ชำระเงินแก่ภาคเอกชน
- ค่าเงิน DCEP ผูกกับค่าเงินหยวน ในอัตราส่วน 1:1 ซึ่งจะแตกต่างจาก Cryptocurrency อื่นของภาคเอกชน ที่ค่าเงินจะลอยตัวอย่างเสรีตามราคาตลาด รวมทั้ง ไม่เหมือนกับ Libra ที่มีลักษณะเป็น Stable Coin ผูกกับตะกร้าเงินตราต่างประเทศ (ประกอบด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ ร้อยละ 50 เงินยูโร ร้อยละ 18 เงินเยนของญี่ปุ่น ร้อยละ 14 เงินปอนด์ของอังกฤษ ร้อยละ 11 และเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ร้อยละ 7)
- ทำธุรกรรมผ่านธนาคารพาณิชย์ได้ แม้ว่าธนาคารกลางจะเป็นผู้ออกและควบคุม DCEP แต่ยังคงให้ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือเงินฝากของลูกค้า ดังนั้นธนาคารพาณิชย์จะมีส่วนช่วยในการกระจายเงิน DCEP ให้กับประชาชนได้ เหมือนกับเงินหยวนในรูปแบบธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ที่ใช้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทำให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้จ่ายเงินดิจิทัลนี้ได้ด้วย
- ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในธุรกิจค้าปลีกได้ ประชาชนสามารถใช้เงิน DCEP ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลได้ (e-Wallet) อย่างเช่น Alipay และ Wechat Pay นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังพยายามเชื่อมต่อ DCEP ให้สามารถใช้ได้กับบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศ UnionPay ดังนั้นประชาชนทั่วไปและร้านค้ารายย่อยจะสามารถใช้เงินดิจิทัลนี้ในการซื้อขายสินค้าและบริการได้ และใช้ชำระเงินระหว่างประเทศได้ด้วย (Cross-broader payments)
จากลักษณะของ DCEP ข้างต้น จะเห็นได้ว่าเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางจีนกำลังพัฒนานี้ไม่ใช่ Cryptocurrency ทั่วไป และก็ไม่ใช่เงินที่จะใช้ทดแทนเงินหยวน แต่เป็นเงินดิจิทัลที่ถูกพัฒนาเพื่อเติมเต็มคุณลักษณะของเงินหยวน เงินดิจิทัลนี้ จะถูกนำไปใช้ในการชำระเงินทั้งในการค้าปลีก การค้าส่ง และ e-Commerce เนื่องจากการชำระเงินโดยเงินดิจิทัลมีความสะดวกรวดเร็ว สามารถชำระเงินระหว่างประเทศ โดยมีต้นทุนการดำเนินการต่ำและรวดเร็วกว่าปัจจุบัน และสามารถตรวจสอบและควบคุมการไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดหลายๆด้านในการพัฒนาเงินดิจิทัลให้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งมาตรการ ควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศแบบเคร่งครัด (tight capital control) และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ลอยตัวแบบมีการจัดการ (managed-float regime) ที่ทำให้เงินหยวนดึงดูดนักลงทุนได้น้อยกว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบเสรี นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนยังต้องกำหนดมาตรฐานของเงินดิจิทัล ให้สอดคล้องกับระบบชำระเงินของประเทศอื่น และต้องพัฒนาหน่วยงานที่ทำหน้าที่แลกเงินหยวนเป็นเงินสกุลต่างๆ (international clearing house) สำหรับแข่งขันกับ SWIFT ที่เป็นระบบชำระเงินระหว่างประเทศด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐ จากข้อมูลเดือนตุลาคม 2019 สัดส่วนของเงินหยวน สำหรับใช้ชำระเงินระหว่างประเทศมีเพียงร้อยละ 1.65 ของการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลก ห่างจากสัดส่วนของเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินยูโรที่มีสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 40
หากธนาคารกลางจีนเริ่มกระจายเงินดิจิทัลนี้ออกใช้ ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการลงทุนในประเทศจีน ทั้งการนำเข้า การส่งออก และการเงิน สกุลเงิน DCEP จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ภาคเอกชนจะเลือกใช้ เนื่องจากมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยกว่าการชำระเงินรูปแบบเดิม อย่างไรก็ตาม หากพฤติกรรมลูกค้าหรือผู้ประกอบการเปลี่ยนไปใช้การชำระเงินโดยเงินดิจิทัลมากขึ้น ธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นตัวกลางการชำระเงินระหว่างประเทศก็จำเป็นต้องพัฒนาระบบรองรับ และถ้าหากมีการใช้อย่างแพร่หลาย มากขึ้น อาจส่งผลให้เงินหยวนมีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จนอาจใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ ดังนั้นภาครัฐ ของไทยจึงจำเป็นต้องติดตามเตรียมการเปลี่ยนแปลงนี้ และความพร้อมทั้งด้านการเงินและการคลัง ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก