หน้าแรกTrade insightเคมีภัณฑ์และพลาสติก > ของเล่นพลาสติกในบังกลาเทศมีโลหะเป็นพิษปนเปื้อนในระดับที่น่าตกใจ

ของเล่นพลาสติกในบังกลาเทศมีโลหะเป็นพิษปนเปื้อนในระดับที่น่าตกใจ

รายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 รายงานผลจากการศึกษาขององค์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม (the Environment and Social Development Organization (ESDO)) พบว่าของเล่นพลาสติกในบังกลาเทศมีสารเคมีและโลหะหนักที่เป็นอันตราย รวมถึงตะกั่ว ปรอท และแคดเมียม ซึ่งเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้

หน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรปกำหนดมาตรฐานตะกั่วในของเล่นไว้ที่สูงสุด 13.5 (ส่วนต่อล้านส่วน) ppm)) ในขณะที่ปรอทอยู่ที่ 7.5 ppm และแคดเมียมที่ 1.9 ppm

แต่การศึกษาของ ESDO พบว่าของเล่นในตลาดบังกลาเทศมีความเข้มข้นของตะกั่วโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 65.85 ppm ซึ่งเกินขีดจำกัดที่ยอมรับได้ประมาณ 5 เท่า ระดับปรอทอยู่ที่ 30.6 ppm เกินขีดจำกัด 4 เท่า ขณะที่ระดับแคดเมียมสูงถึง 28.65 ppm เกินขีดจำกัดที่น่าตกใจถึง 15 เท่า

ESDO รวบรวมตัวอย่างของเล่นจากพื้นที่ต่างๆ ของเมืองธากา โดยการคัดเลือกของเล่นต่างๆ แยกตามประเทศถิ่นกำเนิดสินค้า สี และองค์ประกอบ

พบว่าของเล่นเด็กที่ทำจากพลาติกประกอบไปด้วยสารตะกั่วในของเล่นจำพวกพลาสติกเนื้ออ่อน และ/หรือในสีของเล่น ตะกั่วทำให้พลาสติกอ่อนตัวลงเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น หากปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้ไอคิวและการทำงานของการรับรู้บกพร่อง ปัญหาด้านพฤติกรรมและการเจริญเติบโต และโรคโลหิตจาง

พบปรอทที่ใช้ในหมึกและกาวเพื่อประกอบของเล่น ซึ่งหากปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาท เสียสมดุลการรับรู้ ความเสียหายของไต และผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ  นอกจากนั้นพบแคดเมียมที่ใช้ผสมวัสดุของเล่น ซึ่งหากปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อพัฒนาการทางร่างกาย ระบบทางเดินอาหาร และกระดูกและไตได้

“จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การจัดจำหน่าย และใช้ของเล่นเด็กจะต้องรับทราบถึงความสำคัญของการปนเปื้อนของสารตะกั่ว และสารอื่นๆ ทำงานร่วมกันเพื่อรับประกันความปลอดภัยของเด็กๆ ” Syed Marghub Murshed ประธาน ESDO กล่าว

ตลาดของเล่นพลาสติกในบังกลาเทศนำเข้าจากจีน ไทย และบราซิลเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มการผลิตของเล่นพลาสติกภายในประเทศ โดยผู้ประกอบการชาวบังกลาเทศเช่นกัน

Shahjahan Majumder ประธานสมาคมผู้ผลิตและผู้นำเข้าของเล่นบังกลาเทศกล่าวว่าขนาดตลาดของอุตสาหกรรมของเล่นมีมูลค่าต่อปีประมาณ 54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

“ในอดีตเด็กๆ เคยซื้อของเล่นที่ทำจากดินเผา เช่น ม้า ช้าง และตุ๊กตาสัตว์อื่นๆ วัฒนธรรมดังกล่าวได้หมดไปแล้ว ของเล่นพลาสติกกำลังครองตลาด” เขากล่าว

รายงานดังกล่าวเน้นย้ำถึงความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในของเล่นเด็ก เช่น ตะกั่ว สารหนู เบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม เฮกซะวาเลนต์ และปรอท สำนักงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ( The Occupational Safety and Health Administration-OSHA) ระบุว่าโลหะหนักเหล่านี้เป็นอันตราย และเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ

ศาสตราจารย์อับดุล ฮาชิม อดีตประธานภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัย Jahangirnagar และที่ปรึกษาด้านเทคนิคของ ESDO กล่าวว่า ESDO ต้องสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์อันตรายที่เด็กๆ กำลังเผชิญอยู่

“เราต้องการให้รัฐบาลออกคำสั่งห้ามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย จากนั้นจึงกำหนดมาตรฐานเพื่ออนุญาตให้นำเข้าหรือผลิตของเล่นเด็กมาตรฐานและมีการควบคุมอย่างเข้มงวด” ศาสตราจารย์ฮาชิม กล่าว

บังกลาเทศออกกฎหมายจำกัดสารตะกั่วในสีทาบ้านไม่เกิน 90 ppm อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกฎหมายกำกับเกี่ยวกับสีอุตสาหกรรม

“สีที่ใช้ในของเล่นส่วนใหญ่เป็นสีอุตสาหกรรม ดังนั้น การควบคุมมาตรฐานของตะกั่วในสีอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว และจำเป็นต้องมีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อควบคุม” นางสิดดิกา สุลตานา กรรมการบริหารของ ESDO กล่าว

โอกาสทางการค้าของไทย จากสำมะโนประชากรล่าสุด (2565) บังกลาเทศมีจำนวนประชากรจำนวน  165 ล้านคน โครงสร้างประชากรที่เป็นเด็กอายุ 0-14 ปี มีประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนประชากร อัตราการเกิดทารกร้อยละ 33.2 ต่อประชากรหญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นโอกาสทางการตลาดของสินค้าของใช้มารดาและเด็กเล็กจนถึงอายุ 14 ปี โดยเฉพาะสินค้าเสื้อผ้าเด็กอ่อน ของเล่น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานจากไทย โดยอาศัยช่องทางการตลาดที่ไทยมีสินค้าที่ผ่านการควบคุมคุณภาพและเป็นยอมรับในระดับสากล

ที่มา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น https://www.tbsnews.net/

สคต. ณ กรุงธากา
ตุลาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login