หน้าแรกTrade insightทุเรียน > การส่งออกทุเรียนเวียดนามมีแนวโน้มเติบโต

การส่งออกทุเรียนเวียดนามมีแนวโน้มเติบโต

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทระบุว่า การส่งออกทุเรียนของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างมากเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 ซึ่งยังไม่ถึงฤดูกาลหลักของทุเรียน แต่การส่งออกผลไม้ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วคิดเป็นร้อยละ 16 ของรายได้จากการส่งออกผักและผลไม้ของประเทศ

สถิติของกรมศุลกากรแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกทุเรียนของเวียดนามมีมูลค่า 153 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมากกว่า 8.3 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 87 ของส่วนแบ่งตลาด มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 134 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังเป็นผู้นำเข้าผักและผลไม้รายใหญ่ที่สุดของเวียดนามด้วยสัดส่วนร้อยละ 41 นอกจากทุเรียนและแก้วมังกรแล้ว ยังนำเข้ากล้วย ขนุน และมะม่วงเวียดนามจำนวนมาก

การดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเสรียังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้การส่งออกผักและผลไม้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเดือนแรก และมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการส่งออกของภาคส่วนตลอดทั้งปี

การส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนได้รับการส่งเสริมหลายประการ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน 2566 ด่านชายแดนหลายแห่งระหว่างเวียดนามและจีนได้เพิ่มชั่วโมงการทำงานเป็น 22 ชั่วโมงต่อวัน นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2566 สำนักงานศุลกากรจีนได้อนุมัติและออกรหัสสำหรับพื้นที่เพาะปลูก 70 แห่งที่มีสิทธิ์ส่งออกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่จีนเปิดการนำเข้าทุเรียนอย่างเป็นทางการ ชาวสวนทุเรียนเวียดนามมีโอกาสในการส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นตลาดนำเข้าที่สินค้าเกษตรมากที่สุดของเวียดนาม แต่จีนมีข้อกำหนดที่เข้มงวดอย่างมากเกี่ยวกับการตรวจสอบแหล่งกำเนิด และสถานที่บรรจุ ดังนั้นทั้งผู้ส่งออกและเกษตรกรต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด หากมีการฉ้อฉลในเอกสารทางกฎหมายสำหรับการส่งออก กรมคุ้มครองพันธุ์พืชจะระงับกิจกรรมการจัดซื้อและการส่งออก เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าชาวจีน

การส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนามคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 และตลอดทั้งปี โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 4,000            ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 คาดการว่า เวียดนามมีแนวโน้มที่จะทำรายได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากการส่งออกทุเรียนในปี 2566

(จาก https://vietnamnews.vn/ )

 

ข้อคิดเห็น สคต

จีนเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อสูง การขยายส่วนแบ่งทางการตลาดของทุเรียนเวียดนามในประเทศจีน โดยเริ่มจากการสร้างแบรนด์ทุเรียนเวียดนามให้มากขึ้น ซึ่งการส่งออกทุเรียนมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นหลังข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ช่วยให้จีนนำเข้าผลไม้ได้ทุกชนิดจากประเทศในอาเซียนได้มากขึ้น ดังนั้น ไม่เพียงแต่ไทยหรือเวียดนามเท่านั้น ทุเรียนจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือกัมพูชา เพื่อช่วยให้ทุเรียนเวียดนามเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคปลายทางในจีน ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีน จำเป็นต้องใช้ e-Commerce ในการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในจีน เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนมีโอกาสได้ลิ้มลองรสชาติที่สดใหม่ของทุเรียนเวียดนามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความได้เปรียบของทุเรียนเวียดนาม คือ เวียดนามมีฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนยาว ได้ผลผลิตต่อปีค่อนข้างสูง ที่สำคัญการที่เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับจีน การขนส่งมีระยะทางสั้น ช่วยให้ผลทุเรียนยังคงความสดใหม่ และมีต้นทุนต่ำ ข้อได้เปรียบข้างต้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย โดยเฉพาะโครงสร้างราคาทุเรียนในตลาดจีน

ที่มา: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login