สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ภายใต้ สถาบันวิทยาศาสตร์สังคมและเศรษฐกิจลาว รายงานว่า ในปีที่ผ่านมา ปริมาณการขอลงทุนสัมปทานในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีจำนวนลดลง ขณะที่ การขอจดทะเบียนตั้งธุรตั้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการลงทุนสัมปทานลดลงจาก 7.39 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 เหลือเพียง 2.41 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2021 และในปี 2022 มีมูลค่าการลงทุนสัมปทานเพียง 2.14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
จากรายงานพบว่า การลงทุนด้านเขื่อนพลังงานน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากในปี 2021 และ 2022 ขณะที่ มูลค่าการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษลดลงถึงร้อยละ 69 จากมูลค่า 210.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯในปี 2021 เหลือเพียง 65.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2022 ซึ่งปัจจัยที่ลดลงมาจาก ไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ในปี 2022 ขณะที่ ในปี 2021 ยังมีการลงทุนในเขตฯ มูลค่า 132 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นอกจากนี้ นักวิจัยลาวยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนกฎหมายนโยบาย และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ
ในขณะที่ ในส่วนของการจดทะเบียนธุรกิจ พบว่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 36 โดยในปี 2022 มีการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ จำนวน 18,218 ราย เพิ่มขึ้นจากในปี 2021 ที่มีการจดทะเบียน จำนวน 13,392 ราย ขณะที่ ในปี 2022 มูลค่าทุนการจดทะเบียน เพิ่มขึ้นเป็น 138.03 ล้านล้านกีบ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ที่มีมูลค่าทุนการจดทะเบียน 82.87 ล้านล้านกีบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 โดยในปี 2022 ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนมากที่สุด คือ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และซ่อมรถ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.4 จากทั้งหมด รองลงมา คือ ธุรกิจการจัดหาไฟฟ้า แก๊ส และเครื่องปรับอากาศ คิดเป็นร้อยละ 13.5 อันดับที่สาม คือ ธุรกิจประกันภัยและการเงิน คิดเป็นสัดส่วน 12.8 เหมืองแร่ สัดส่วน ร้อยละ 9.3 และ อุตสาหกรรมแปรรูป ร้อยละ 7.8
การเพิ่มขึ้นของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ สะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐบาลได้พยายามผลักดันให้เกิดการสร้างธุรกิจที่หลากหลาย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสามารถเก็บภาษีเข้ารัฐบาล ทั้งนี้ การจดทะเบียนธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง / ซ่อมรถ เพิ่มขึ้นจาก 27.13 ล้านล้านกีบในปี 2021 เป็น 43.35 ล้านล้านกีบในปี 2022
นอกจากนี้ มูลค่าการจดทะเบียนธุรกิจประกันภัยและการเงิน เพิ่มขึ้นจาก 6.39 ล้านล้านกีบในปี 2021 เป็น 17.63 ล้านล้านกีบในปี 2022 ทั้งนี้ การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 90
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลายๆ ประเภทต้องปิดตัวลงจากสถานการณ์ของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ธุรกิจทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด สนามกอล์ฟ และเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ สปป.ลาว เปิดประเทศ
Vientiane Times
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)