หน้าแรกTrade insightข้าว > การพัฒนาท่าเรือของเปรู เชื่อมต่อลาตินอเมริกาสู่เอเชีย

การพัฒนาท่าเรือของเปรู เชื่อมต่อลาตินอเมริกาสู่เอเชีย

รัฐบาลเปรูอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ของเปรูในพื้นที่ตอนเหนือของกรุงลิมา (Norte Chico) ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในกลุ่มประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ว่า “From Chancay to Shanghai” หรือจาก Chancay ถึงเซี่ยงไฮ้ โดยท่าเรือ Chancay Megaport ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตจังหวัด Huaral มีระยะทางห่างจากกรุงลิมาไปทางทิศเหนือ ประมาณ 80 กิโลเมตร โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท Cosco Shipping Ports Limited (CSPL)[1] ของจีนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการฯ (ร้อยละ 60) และบริษัท Volcan Compañia Minera ของเปรู ทั้งนี้ แนวคิดริเริ่มและการออกแบบท่าเรือเริ่มตั้งแต่ปี 2554 งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันการก่อสร้างฯ มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 45 โดยรัฐบาลเปรูตั้งเป้าหมายว่าจะมีการเปิดตัวท่าเรือใหม่นี้ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในช่วงปลายปี 2567 ทั้งนี้ ท่าเรือ Chancay มีพื้นที่รวม 141 เฮกตาร์ หรือประมาณ 1,410,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอู่เรือ (dock) ขนาดใหญ่ จำนวน 4 ท่า ซึ่งในระยะแรกสามารถใช้ท่าเทียบเรือความยาวกว่า 1,500 เมตร สำหรับรองรับเรือที่มีขนาดความจุเต็มลำ 18,000 TEU[2] นอกจากพื้นที่ของท่าเรือแล้ว โครงการดังกล่าวยังประกอบด้วยพื้นที่บริการด้านธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการนำเข้าส่งออก โรงงาน คลังสินค้า รวมพื้นที่กว่า 870 เฮกตาร์ หรือประมาณ 8,700,000 ตารางเมตร

รัฐบาลเปรูเล็งเห็นว่าหากโครงการก่อสร้างท่าเรือ Chancay เสร็จสิ้นตามกำหนด จะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของเปรู และช่วยลดต้นทุนการนำเข้า/ส่งออกสินค้า รวมทั้งระยะเวลาในการขนส่งจากภูมิภาคลาตินอเมริกาไปยังเอเชีย ที่ปัจจุบันใช้เวลาประมาณ 35 – 40 วัน ลดลงเหลือประมาณ 23 วัน ทั้งนี้ เปรูตั้งเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล (a Single Port Hub)[1] ระหว่างภูมิภาคลาตินอเมริกาและภูมิภาคเอเชีย (ส่วนใหญ่จากจีน) สำหรับการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น ชิลี โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างดังกล่าวช่วยให้เกิดการสร้างงานโดยตรงในพื้นที่จำนวนกว่า 1,300 ตำแหน่ง และตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องทางอ้อม จำนวนกว่า 8,000 ตำแหน่ง

ในแง่ของความสำคัญหรือเครือข่ายท่าเรือในเปรู ท่าเรือ Chancay มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สองของประเทศในด้านพื้นที่ระวางบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ รองจากท่าเรือ Callao และเป็นลำดับที่สองของประเทศในด้านการรองรับจำนวนสินค้า และจำนวนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ท่าเรือ Chancay เป็นท่าเรือสำคัญหนึ่งในการส่งเสริมความเข้มแข็งต่อระบบบการขนส่งสินค้าของภูมิภาคลาตินอเมริกา[1]

นอกจากการก่อสร้างท่าเรือ Chancay แล้ว รัฐบาลเปรูได้ให้บริษัท DP World Callao SRL[1] ดำเนินการปรับปรุงและขยายท่าเรือ Callao[2] ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ด้วยเงินลงทุนประมาณ 350 ล้านเหรียญสหรัฐ และปัจจุบันมีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 73 โดยขยายความยาวของท่าเรือจากเดิม 400 เมตร เป็น 1,050 เมตร ซึ่งหากการปรับปรุงท่าเรือ  Callao เสร็จสิ้นตามกำหนดในเดือนเมษายน 2567[3] จะทำให้ความสามารถในการจัดการท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ 1.5 ล้าน TEUs เป็น  2.7 ล้าน TEUs ซึ่งจะทำให้รองรับการเทียบเรือได้จำนวน 3 ลำ พร้อมกัน

บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก

ท่าเรือเป็นอุตสาหกรรมบริการที่เป็นส่วนสำคัญของการกระจายสินค้าหรือโลจิสติกส์ในระบบโซ่อุปทานมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินงานและการให้บริการของท่าเรืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ความสำเร็จหรือความสามารถในการแข่งขันนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในระบบการกระจายสินค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องประกอบด้วย กระบวนการผลิต การบรรจุภัณฑ์ การยกขน การขนส่ง และการเก็บรักษา รวมถึงการจัดการข้อมูลในการกระจายสินค้าทุกขึ้นตอนตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ท่าเรือในปัจจุบันจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายสินค้าระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ท่าเรือจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ท่าเรือของเปรูถือเป็นท่าเรือประเภท Transhipment Port เป็นท่าเรือแบบถ่ายลำเป็นศูนย์รวมในการเก็บและกระจายตู้คอนเทนเนอร์ที่ทำหน้าที่เป็น Consolidation Port คือเป็นท่าที่ใช้ในการรวมตู้สินค้า จากบริเวณใกล้เคียงโดยตู้สินค้าจะมีการนำมาบรรทุกเรือประเภทที่เรียกว่า Feeder Vessel เพื่อรอการขนถ่ายไปยังเรือ (Direct Vessel หรือ Master Vessel) ไปส่งมอบตามจุดหมายปลายทาง มีการบริหารจัดการลดเวลาในท่าเรือ เพื่อให้เรือคอยท่าน้อยที่สุด จึงต้องมีพื้นที่ในท่าเรือ (Terminal-Area) ของการจัดเรียงกองตู้คอนเทนเนอร์ได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการมี คลังน้ำมัน อู่ซ่อมเรือ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่ลดการแออัดของท่าเรือ

การพัฒนาท่าเรือของเปรูมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ และสอดรับกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ว่าเศรษฐกิจโลกปี 2566 และ 2567 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากปี 2564 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 3.5 กดดันความต้องการบริโภคสินค้าชะลอลงทั่วโลก ทำให้ภาคการค้าโลกในปี 2566 จะเติบโตเพียงร้อยละ 2.0 (เปรียบเทียบกับร้อยละ 5.2 ในปี 2565) ก่อนจะเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 3.7  ในปี 2567  อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในปี 2568 โดยเติบโตในระดับร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี ขณะที่ภาคการค้าโลกจะเติบโตที่ร้อยละ 3.0-4.0 ต่อปี (ที่มา: IMF, เม.ย. 2566) จึงคาดว่าปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางทะเลจะขยายตัวตามอุปสงค์สินค้าที่จะปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือของเปรูดังกล่าวจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของเปรู รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะความต้องการสินค้าเกษตรและอาหาร (อาทิ น้ำตาลทราย ข้าว และมันสำปะหลัง) มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากเปรูและหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (ภัยแล้ง ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี) ที่คาดว่าจะยาวนานไปถึงปี 2567 ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง หลายประเทศจึงมีความต้องการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อป้องกันการขาดแคลนในอนาคต

___________________________

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก

พฤศจิกายน 2566

[1] In 2006, DP World signed the Concession Contract to build and operate the Callao Port – Terminal – South Zone. With the efforts of hundreds of Peruvians and the DP World’s know-how, today we are the largest container terminal in Peru.

[2] The Port of Callao is a maritime port on the central coast of Peru, located in Callao. It is the country’s main port in terms of traffic and storage capacity.

[3] Online Chilean and Latin America latest news – https://portalportuario.cl/obras-del-terminal-sur-del-puerto-del-callao-presentan-avance-de-29/

https://euro.eseuro.com/local/1360848.html

 

[1] The Peru´s Center for China and Asia-Pacific Studies – https://cechap.up.edu.pe/wp-content/uploads/Working-Paper-Nro3-Omar-Narrea.pdf

[1] https://andina.pe/ingles/noticia-from-chancay-to-shanghai-a-new-silk-road-linking-asia-and-south-america-958239.aspx

Online Chilean and Latin America latest news – https://portalportuario.cl/embajador-chino-asegura-que-chancay-se-convertira-en-el-puerto-de-shanghai-en-peru/#

Local newspaper – https://elcomercio.pe/lima/puerto-de-chancay-se-inauguraria-en-cumbre-de-lideres-apec-en-2024-ultimas-noticia/

Worldwide online logistics news – https://thelogisticsworld.com/actualidad-logistica/puerto-de-chancay-se-inaugurara-en-cumbre-de-lideres-apec-2024/

 

[1] Cosco Shipping Ports Ltd. is one of the largest port operators in the world, with presence in the operation of ports such as Bilbao and Valencia (Spain), Pireus (Greece), Rotterdam (Holland), Vado (Italy), Antwerp and Zeebrugge (Belgium), Abu Dhabi (United Arab Emirates), Suez (Egypt), Singapore, Busan (South Korea) and Seattle (United States of America), among others.

[2] หน่วยมาตรฐานที่วัดความสามารถของเรือสินค้าหรือเทียบเท่าเรือ โดย 1 TEU เทียบเท่าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login