หน้าแรกTrade insightข้าว > การคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2567

การคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2567

ผู้นำทางธุรกิจและนักวิชาการทั่วโลกได้ประเมินปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะการใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจโลก โดยจากสถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในตลาดโลก สินค้าที่เป็นที่นิยมบางประเภทมีไม่เพียงพอและบางประเภทกลับเหลือเกินความต้องการ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคผ่านการซื้อของออนไลน์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการให้บริการทางการเงินบนมือถือและการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง รวมทั้งปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่พบว่าการผลิตสินค้าในราคาที่ถูกที่สุดและเร็วที่สุดได้ส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมจากการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ

 

Ms. Christine McDaniel นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันวิจัย Mercatus Center ของ George Mason University ในรัฐเวอร์จิเนียกล่าวว่า รูปแบบการบริโภคของชาวอเมริกันกำลังเปลี่ยนแปลงไป ชาวอเมริกันลดการใช้จ่ายกับสิ่งของลง แต่ใช้จ่ายกับการผจญภัยหรือการพักผ่อนหย่อนใจเพิ่มมากขึ้น การใช้จ่ายด้านการค้าปลีกและการบริการอาหารในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนการใช้จ่ายสำหรับสินค้าเครื่องแต่งกายลดลง ได้แก่ เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องประดับ แต่มีค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนเพิ่มขึ้น โดยสมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ (U.S. Travel Association) รายงานว่า การเดินทางทางอากาศในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้ได้เกิดขึ้นกับชีวิตของ Ms. Christine เช่นกัน โดยในช่วงโควิด-19 Ms. Christine มีความสุขมากที่ได้อยู่บ้าน แต่แล้วเขาก็เริ่มมีภาวะเบื่อบ้าน (Cabin Fever) และต้องการที่จะใช้ชีวิตหรือทำกิจกรรมข้างนอก โดยความต้องการที่จะซื้อเสื้อผ้าใหม่ของ Ms. Christine ตอนนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เสื้อตัวโปรดที่เคยลดราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันกลับวางขายที่ราคา 72 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุอาจมาจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานหรือภาษีศุลกากร รวมทั้ง ปัญหาแรงงานที่ถูกบังคับให้ทำงานในประเทศจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น Ms. Christine จะไม่ใช้เงิน 72 ดอลลาร์สหรัฐไปกับเสื้อผ้าแน่นอน แต่จะหาเสื้อผ้าจากร้านค้าในชุมชนหรือซื้อทางออนไลน์หรือซื้อสินค้ามือสองแทน จากการสำรวจประชากรสำหรับวันของมือสองแห่งชาติ (National Thrift Store Day) ในเดือนสิงหาคม 2566 พบว่า ตลาดมือสองในสหรัฐฯ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี 2569 หรือมีมูลค่าถึง 82,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลทางประชากรศาสตร์ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวโดยพบว่า ผู้บริโภค Gen Z และ Millenials มากกว่าร้อยละ 60 ค้นหาสินค้ามือสองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าใหม่

 

สรุปว่าการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อประสบการณ์ใหม่ๆ ของชาวอเมริกันมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จึงควรติดตามแนวโน้มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับความนิยมในการใช้สินค้ามือสองเพิ่มขึ้น จึงอาจทำให้ยอดขายของเสื้อผ้าและรองเท้าในสหรัฐฯ ลดลง

 

 

Ms. Kyla Scanlon ผู้ให้ความรู้ทางการเงินในโลกดิจิทัลกล่าวว่า มีปัจจัย 3 ประการในการตัดสินใจเลือกการบริโภค ได้แก่ 1) การได้รับสินค้าที่รวดเร็ว 2) ต้นทุนในการซ่อมแซมรักษา และ 3) การโฆษณา ซึ่งปัจจัยทั้ง 3 ข้อนี้ได้ผลักดันให้ผู้บริโภคมีการบริโภคที่มากเกินไปและไม่ยั่งยืน

 

วิธีการขายของ Amazon ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ (e-commerce) ได้ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วทันทีที่ต้องการ ซึ่งเป็นธุรกิจโมเดลที่ไม่ดีนักเพราะทำให้ผู้บริโภคเพิกเฉยต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม การเห็นสิ่งของที่อยู่อย่างเรียบร้อยภายในกล่องอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่เสียไป และการได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการตัดสินใจที่จะซื้อของใหม่แทนการซ่อมแซมอีกด้วย โดยทั่วไปแล้วชาวอเมริกันคิดว่าซื้อของใหม่ดีกว่าการซ่อม เนื่องจากปัจจุบันสหรัฐฯ มีค่าแรงเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อใหม่แทนการซ่อมแซม และการซื้อของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้รู้สึกดียังเป็นการเยียวยาอารมณ์ด้านลบของตัวเองอีกด้วย นอกจากนี้ ชาวอเมริกันได้รับสื่อโฆษณานับ 1,000 โฆษณาต่อวัน ผู้บริโภคได้เห็นป้าย “ซื้อเดี๋ยวนี้” โฆษณาอยู่ทุกวัน ดังนั้น เพื่อการบริโภคอย่างยั่งยืนที่พิจารณาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคจะต้องตระหนักรู้ว่ามีโฆษณาจำนวนมากที่อาจให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือเชิญชวนให้ผู้บริโภคตัดสินใจบริโภคสินค้าอย่างไม่ยั่งยืน

 

อย่างไรก็ดี รูปแบบการบริโภคอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่เห็นชัดเจนคือมีการเติบโตของตลาดของมือสอง อย่างไรก็ดี “วินเทจ” เริ่มเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงฐานะที่อาจทำลายแนวคิดของการบริโภคอย่างยั่งยืน เพราะการเป็นเจ้าของสินค้าวินเทจบางชนิดได้แสดงฐานะของการเป็นชนชั้นพิเศษ นอกจากนี้ ร้านค้าปลีกแบบมีหน้าร้านได้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในบางพื้นที่ ทั้งนี้ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการบริโภคของชุมชนในท้องถิ่น คนในท้องถิ่นอาจได้ประโยชน์จากการมีร้านค้าเล็กๆ อย่างไรก็ดี ค่าเช่าที่มากกว่ายอดขายอาจทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ยาก

 

ทางออกที่แท้จริงสำหรับการบริโภคอย่างยั่งยืนคือการให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่เป็นเพียงการออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมหรือนโยบายด้านธรรมาภิบาลแต่ต้องปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ดี สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้นหายากได้และมีราคาสูง

 

ผู้บริโภคปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับประสบการณ์มากขึ้น ทัวร์คอนเสิร์ตของ Taylor Swift และ Beyoncé เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ผู้คนนับล้านได้เข้าร่วมดูคอนเสิร์ตโดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยมากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และดูเหมือนว่าผู้คนต้องการการใช้จ่ายที่ให้ประสบการณ์มากกว่าการใช้จ่ายเพื่อสิ่งของ รูปแบบการบริโภคแนวทางใหม่นี้ได้บอกเกี่ยวกับความพึงพอใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

 

 

Ms. Monica Long เป็นประธานของบริษัท Ripple ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Blockchain และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) ได้กล่าวว่า โครงสร้างทางการเงินในปัจจุบันโตช้าเกินไปที่จะรองรับการเติบโตการค้าทั่วโลก

 

การเปลี่ยนแปลงยังคงอยู่ในเศรษฐกิจโลกเสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงมักจะพบเห็นในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประชาชนมักจะหาแนวทางใหม่ๆ ในการปรับตัว ในปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินรายงานว่า ประเทศกำลังพัฒนาเริ่มเปลี่ยนไปใช้ Cryptocurrency แทนสกุลเงินท้องถิ่น (Cryptoization) เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐมหภาคและความสามารถในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำของรัฐบาล ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาใช้ Cryptocurrency มากกว่าสกุลเงินท้องถิ่น อย่างเช่นประชาชนในประเทศอาร์เจนตินา ซิมบับเว หรือไนจีเรียหันมาใช้ Cryptocurrency หรือ Stable Coin (สกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการหนุนหลังจากเงินดอลลาร์สหรัฐ) มากขึ้นเพื่อออมเงินและใช้จ่ายแทนสกุลเงินท้องถิ่นที่มีความผันผวนสูง

 

แนวโน้มนี้เกิดขึ้นเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในปัจจุบันขาดการเชื่อมโยง ช้า และมีค่าใช้จ่ายสูงในการรองรับการค้าที่กำลังเติบโตทั่วโลก ทุกวันนี้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดมากขึ้นในโลกออนไลน์และทั่วโลก การเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลและเทคโนโลยี Blockchain ที่มากขึ้น ทำให้เห็นว่าเส้นทางการเงินจะอยู่ในระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้นซึ่งส่งผลให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน ผู้คนจึงไม่สามารถพึงพาระบบการเงินที่ถูกสร้างมาเมื่อหลายสิบปีก่อนโดยสถาบันการเงินใหญ่ในการเคลื่อนย้ายเงินในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของโลกจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลจะเปลี่ยนดำเนินการด้านการค้าไปตลอดกาล

 

 

นาย Marcos Galperin ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Mercado Libre ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-commerce และเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) กล่าวว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกหลังจากภาวะโควิด-19 คือ Fintech และแอปพลิเคชันส่งสินค้า ทั้ง 2 ปัจจัยได้เข้ามามีบทบาทในการเติบโตของการซื้อขายออนไลน์ โดยคาดว่าปี 2568 รายได้ของการซื้อขายออนไลน์ทั่วโลกจะเติบโตถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยโอกาสนี้ผู้ค้าปลีกอย่าง Mercado Libre ได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายตลาด โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์และการขนส่งที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตลาดละตินอเมริกา

 

การเติบโตของกระเป๋าเงินดิจิทัลและการชำระเงินได้ในทันทีได้นำไปสู่ยุคใหม่ในการเข้าถึงบริการทางการเงินของละตินอเมริกา ซึ่งในอดีตประชากรส่วนใหญ่ไม่มีบัญชีธนาคาร จึงทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงเพิ่มศักยภาพของการเข้าถึงทางการเงินของผู้บริโภคแต่ยังปฏิวัติพฤติกรรมการออม การลงทุน และการกู้ยืมทั่วภูมิภาค พฤติกรรมการบริโภคในยุคใหม่นี้ได้รับอิทธิพลจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ชาวละตินอเมริกามีความคุ้นเคยกับภาวะเงินเฟ้อมาอย่างยาวนาน ประสบการณ์นี้ได้ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงและปรับตัวพฤติกรรมการใช้จ่ายและการตัดสินใจทางการเงิน

 

ในยุคสมัยใหม่นี้ตัวตนของบริษัทไม่เพียงถูกกำหนดจากสินค้าและการบริการที่ขายเท่านั้น แต่ยังถูกกำหนดจากความมุ่งมั่นในการยอมรับการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ซึ่งบริษัทต่างๆ กล้าที่จะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และมุ่งไปสู่ความต้องการของผู้บริโภคหรือไม่ รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมระบบนิเวศน์เพื่อพัฒนานวัตกรรมและช่วยเหลือผู้ที่เผชิญกับความยากลำบากอยู่หรือไม่่

 

 

นาย Daniel Yu เป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Wasoko ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม e-commerce ระหว่างธุรกิจกับธุรกิจในแอฟริกากลางกล่าวว่า การซื้อขายออนไลน์และการบูรณาการระดับภูมิภาคจะเป็นกุญแจสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแอฟริกา

 

การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในแอฟริกากำลังเติบโตหรือมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในขณะที่ชาวอเมริกันเลือกสินค้าที่เป็นออแกนิกและมังสวิรัติในช่องทางออนไลน์ ชาวแอฟริกันจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากความคุ้มค่าและราคา

 

การใช้จ่ายร้อยละ 70 ของชาวแอฟริกัน คือ สินค้าในครัวเรือนที่จำเป็น เช่น ข้าว น้ำตาล แป้ง สบู่ กระดาษ เป็นต้น การซื้อสินค้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นในร้านค้าในชุมชนที่มีความหลากหลายเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับซุปเปอร์มาร์เกตในสหรัฐฯ ที่มีสินค้า 10,000 กว่ารายการสินค้า หรือร้านค้าออนไลน์อาจมีสินค้ามากกว่า 1 ล้านรายการสินค้าบนแพลตฟอร์ม

 

สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการขยายตลาดผู้บริโภคในแอฟริกากลางคือการพัฒนาการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องการผลิตของแต่ละประเทศ เพื่อให้แต่ละประเทศทำในสิ่งที่ตนทำได้ดีที่สุด และการบูรณาการจากข้อตกลง African Continental Free Trade Area ซึ่งลงนามโดย 54 ประเทศในหลายปีก่อนยังมีการขับเคลื่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งหากมีการดำเนินการปฏิบัติจริงก็จะเปิดศักยภาพทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างแท้จริง

 

 

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

การใช้จ่ายของผู้บริโภคเป็นรากฐานของเศรษฐกิจโลก ดังนั้นการติดตามและคาดการณ์พฤติกรรมของผู้บริโภคจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประมาณการการผลิต และจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจในการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อให้สินค้าและการบริการสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ ซึ่งสรุปได้ว่าผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับสินค้าหรือบริการเพื่อประสบการณ์หรือเพื่อผ่อนคลายมากกว่าเพื่อครอบครองสินค้า และผู้บริโภคชาวอเมริกันมีความสนใจในสินค้ามือสองเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าหรือให้บริการที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกสินค้าหรือการบริการนั้นๆ มากขึ้น

 

 

ข้อมูลอ้างอิง: NY Times

อ่านข่าวฉบับเต็ม : การคาดการณ์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2567

Login