หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > กระแสการไม่บริโภคนำ้ตาล (Zero Sugar) ในประเทศเกาหลีกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สคต. ณ กรุงโซล

กระแสการไม่บริโภคนำ้ตาล (Zero Sugar) ในประเทศเกาหลีกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สคต. ณ กรุงโซล

กระแสการไม่บริโภคน้ำตาล (Zero Sugar) ในประเทศเกาหลีกับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

 

  1. ภาพรวม

การมีสุขภาพที่ดีหรือ Wellness กำลังเป็นกระแสนิยมที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกรวมถึงประเทศเกาหลี ผู้บริโภคจากหลากหลายกลุ่มกำลังมองหาสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และสอดคล้องกับวิธีการควบคุมอาหารและทางเลือกในการรับประทานอาหารของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภคสูงอายุที่ต้องการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่อยากเพลิดเพลินกับอาหารอย่างมีสติ โดยการบริโภคอาหารที่ปราศจากน้ำตาลและมีแคลลอรี่ต่ำ รวมถึงความต้องการที่ลงลึกไปถึงวัตถุดิบที่เพิ่มมูลค่าและมีคุณภาพดี ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารลดปริมาณน้ำตาลลง หรือเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในสินค้าอาหารของตนเองมากขึ้น

 

  1. ประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจในปัจจุบัน
    • การเติบโตของตลาดสินค้าสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในระดับโลก

เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน และน้ำหนักเกินเกณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาบริโภคสินค้าปราศจากน้ำตาล Zero-sugar เพิ่มมากขึ้น ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม Zero-sugar คาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น โดยจะมีอัตราการเจริญเติบโตของพอร์ตเฉลี่ยต่อปีแบบทบต้น (CARG) ที่ร้อยละ 4.0 ภายในปี 2570 ซึ่งในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 17.92 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องมาจากการเติบโตของตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลที่ขยายตัวมากขึ้น ตลาดสินค้าสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลก็ถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นควบคู่กัน จากมูลค่า 22 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 33.8 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 โดยอัตรา CARG ที่ร้อยละ 7.4 หลังจากปี 2566 เป็นต้นไป

 

 

 

 

 

 

 

 

  • สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทั่วโลก

มีการรับรู้ในวงกว้างว่า กระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาลทำให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ในขณะที่การลดการบริโภคน้ำตาลมีส่วนช่วยในการรักษาธรรมชาติได้ เนื่องจากในกระบวนการเก็บเกี่ยวอ้อย 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำมากถึง 1,100 ลิตร และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 0.42 กิโลกรัม หากสหภาพยุโรปปลูกป่าทดแทนการปลูกอ้อย จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จาก 20.9 MtCO22e จนถึงมากที่สุด 52.3 MtCO22e[1] กล่าวคือ สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อยที่สุด 20,090,000 ตัน ถึงมากที่สุด 54,30,000 ตัน

 

  • การพัฒนาสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล

สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนน้ำตาล เพื่อแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพตลอดจนโรคต่างๆ อาทิ โรคอ้วนและโรคเบาหวานจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินพอดี ตัวอย่างสารดังกล่าว ดังนี้

สารให้ความหวานสังเคราะห์ สารให้ความหวานจากธรรมชาติ น้ำตาลธรรมชาติ แอลกอฮอล์น้ำตาล
ซูคราโลส(Sucralose)

แอสปาร์แตม(Aspartame)

แซ็กคาริน/ดีน้ำตาล (Saccharine)

น้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia)

น้ำตาลหล่อฮังก้วย (Monk Fruit)

ไซโลส (Xylose)

ทากาโตส (Tagatose)

อัลลูโลส (Allulose)

มอลทิทอล (Maltitol)

ไซลิทอล (Xylitol)

อิริทริทอล ( Erythritol)

สารให้ความหวานแบบผสมสังเคราะห์ สารให้ความหวานจากธรรมชาติ หรือสารทดแทนความหวานของน้ำตาลที่สกัดได้จากใบหรือเมล็ดของพืช น้ำตาลที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ พบได้ในลูกมะเดื่อ ลูกเกด ข้าวสาลี

เมเปิ้ลไซรัป กากน้ำตาล และอื่นๆ

แอลกอฮอล์น้ำตาลธรรมชาติที่พบในพืช
หวานมากกว่าน้ำตาล 200 – 600 เท่า หวานมากกว่าน้ำตาล 200 – 300 เท่า หวานน้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับน้ำตาล หวานน้อยกว่าหรือเทียบเท่ากับน้ำตาล

 

อย่างไรก็ตาม สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ น้ำตาลสังเคราะห์ ก็ส่งผลกระทบต่อน้ำตาลในเส้นเลือดเช่นกัน โดยการบริโภคน้ำตาลทางเลือกดังกล่าวฯ เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในทางที่ไม่ดี เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ และอื่นๆ เป็นต้น

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ประกาศแนวทางใหม่สำหรับการงดใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพื่อรณรงค์การต่อต้านการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในการควบคุมน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้บริโภคลดการรับประทานหวานอย่างจริงจังเพื่อการรักษาสุขภาพระยะยาว

 

  1. พฤติกรรมผู้บริโภค
    • การรับรู้ของผู้บริโภค

‘You are what you eat’ คือประโยคยอดฮิตที่มีความหมายว่าเราต้องรับประทานอาหารที่สมดุลและมีประโยชน์ต่อร่างกายเพื่อสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอาหารที่เรารับประทานในทุกวัน โดยแสดงความหมายเป็นนัยว่า ร่างกายและสุขภาพของเราสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตและการเลือกรับประทานอาหารของเราเอง และสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของเราได้ ระหว่างช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้คนมีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นและตื่นตัวกับเรื่องสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้ผู้คนมีความต้องการที่จะมีสุขภาพที่ดี นำไปสู่กระแสการลดการบริโภคน้ำตาลในหมู่ผู้บริโภคเกาหลีที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศเกาหลีในปัจจุบันอย่างมาก

  • การรับรู้ของผู้บริโภค

‘A Healthy Pleasure’[2] หรือความสุขที่ดีต่อสุขภาพ เป็นการผสมคำระหว่าง ‘สุขภาพ’ และ ‘ความสุข’ โดยกระแสความนิยมความพึงพอใจในสุขภาพสอดคล้องกับกระแส Zero Calorie ซึ่งเป็นการบริหารสุขภาพที่มีความสุขและแพร่หลายไปทั่วอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก กล่าวคือ หากคุณหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหวานไม่ได้ ก็ลองหาหนทางอื่นที่สามารถรับประทานได้อย่างสุขภาพดี เพื่อชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาดูแลสุขภาพในระยะยาว โดยการลดหรือตัดอาหารที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ ไขมัน ความเค็ม น้ำตาล และอื่นๆ ในขณะที่ความต้องการบริโภคอาหารปราศจากน้ำตาลเพิ่มขึ้น ความต้องการแสวงหาสินค้าทดแทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่กัน

 

  1. อาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล (Zero-sugar)
    • คำนิยามของอาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล

Zero-sugar เป็นคำนิยามที่หมายถึง สิ่งที่ปราศจากน้ำตาล หรือปราศจากความหวาน และนิยามถึงความหวานจากธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างกระบวนการผลิตหรือการเพิ่มสารสังเคราะห์

 

คำนิยาม คำนิยามในภาษาเกาหลี ความหมาย คำอธิบาย น้ำตาล น้ำตาลธรรมชาติ เพิ่มน้ำตาล
Zero-Sugar 무설탕

(Moo Sultang)

무당

(Moo Dang)

ปราศจากน้ำตาล, ไม่มีน้ำตาล ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล และอาจเกิดความหวานจากธรรมชาติระหว่างกระบวนการผลิต หรือมีส่วนผสมของความหวานที่ได้จากการสังเคราะห์

(0.5g  ต่อ 100g)

X O O
No sugar Added 무가당

(Moo Ga Dang)

ไม่เพิ่มน้ำตาล กระบวนการผลิตอาหารโดยการย่อยเอนไซม์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำตาลสูงอย่างเดียว (ไม่ใช้น้ำตาลหรือสารให้ความหวานใดๆ มีเพียงน้ำตาลจากธรรมชาติเท่านั้น) X O X

 

ในอดีต ประเทศเกาหลี ก็ใช้มาตรฐานในการจำแนกอาหารที่ปราศจากน้ำตาลและอาหารที่ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน หากสินค้าในขั้นตอนสุดท้ายมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า 0.5g ต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตาม กระทรวงด้านความปลอดภัยอาหารและยาของประเทศเกาหลี หรือ Ministry of Food and Drug Safety (MFDS) ได้ปรับปรุงมาตรฐานฉลากเพื่อให้เกิดสิทธิในการเลือกซื้อแก่ผู้บริโภคด้วยข้อมูลของสินค้าที่ถูกต้องและมาตรฐานของฉลากสินค้าในระดับสากล

 

  • อาหารและเครื่องดื่มปราศจากน้ำตาล หรือน้ำตาลต่ำ

ผู้บริโภคเกาหลีชื่นชอบการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานและมีรสชาติ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ชัดเจนในการเลือกซื้อสินค้าที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพน้อย ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับธรรมชาติในระยะยาว ส่งผลให้ความต้องการอาหารปราศจากน้ำตาลหรือน้ำตาลน้อยเพิ่มขึ้นแม้สินค้าบางยี่ห้อจะมีราคาสูง  จึงทำให้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกระตือรือร้นในการพัฒนาอาหารโดยใช้น้ำตาลทางเลือก

อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศเกาหลี นิยมใช้น้ำตาลอัลลูโลส (Allulose)[3] แทนการใช้น้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia)  ที่มีรสชาติขมเล็กน้อยกว่าสารให้ความหวานประเภทอื่น และบริษัท CJ Cheil Jedang เริ่มผลิตแบบจำนวนมากตั้งแต่ปี 2558

 

 

อัลลูโลส (Allulose) น้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia)
CJ Cheil Jedang Q-One My Normal AL Tist Q-One emart NoBrand
4,900 วอน

/350 กรัม

8,900 วอน

/490 กรัม

9,190 วอน

/485 กรัม

7,980 วอน

/400 กรัม

6,800 วอน

/380 กรัม

3,580 วอน

/180 กรัม

 

ซอสปรุงรส  
ยี่ห้อ: My Normal (KETO Lifestyle)

แนวความคิด: ความอร่อยปราศตากน้ำตาล ปราศจากกลูเตน ลดการปรุงแต่งในอาหารเพื่อชีวิตที่สุขภาพดี

ซอสมะเขือเทศน้ำตาลต่ำ ลดน้ำตาลร้อยละ 25 และใช้น้ำตาลอัลลูโลสและน้ำตาลหญ้าหวานแทน 9,380 วอน

310 กรัม

 

มัสตาร์ด ลดน้ำตาลลงร้อยละ 90 และใช้น้ำตาลอัลลูโลสและน้ำตาลหญ้าหวานแทน 7,760 วอน

310 กรัม

 

มายองเนส ปราศจากน้ำตาล และแคลลอรี่ต่ำ 11,300 วอน

260 กรัม

 

 

เบียร์และโซจูปราศจากน้ำตาลและไม่มีน้ำตาล
บริษัท: Lotte Chilsung

ยี่ห้อ: Saero

บริษัท: Hite-Jinro

ยี่ห้อ: Jinro is back

บริษัท: Daesun Distilling

ยี่ห้อ: Daesun

บริษัท: Muhak

ยี่ห้อ: Jo-eun Day

บริษัท: HITE-Jinro

ยี่ห้อ: hite ZERO 0.00

 

การบริโภคแอลกอฮอล์ในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพที่ดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดย Lotte Chilsung[4] เปิดตัวสินค้าโซจูแบบใหม่เป็นครั้งแรกในเดือนกันยายน 2565 ภายใต้ชื่อ “Saero” เพื่อเป็นผู้นำในตลาดโซจูปราศจากน้ำตาลในปัจจุบัน ตามมาด้วยการประสบความสำเร็จของ Coke Zero  ที่เชื่อว่าจะเป็นผู้นำในกระแส Zero-sugar ซึ่งมียอดการจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 90 พันล้านวอนในปี 2564 เป็น 180 พันล้านวอนในปี 2565 โดย “Saero” ถูกคาดการณ์ว่าจะมียอดการจำหน่ายสูงถึง 100 พันล้านวอน ในช่วงสิ้นปี 2566 และจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงเกินร้อยละ 18 นอกจากนี้ ในบรรดาสินค้าเบียร์ Hite ZERO 0.00 เป็นสินค้าแบบ ALL-FREE กล่าวคือ ปราศจากแอลกอฮอล์ ปราศจากแคลลอรี่ และปราศจากน้ำตาล ซึ่งสามารถรักษารสชาติเดิมของเบียร์ได้ แม้ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลหรือน้ำตาลทางเลือก

ขนม ZERO จากบริษัท Lotte Well Food

ยี่ห้อ: ZERO

เค้กช็อคโกแลตไม่มีน้ำตาล

9,220 วอน/168 กรัม

เยลลี่ไม่มีน้ำตาล

8,790 วอน/238 กรัม

ไอศกรีมไม่มีน้ำตาล

14,000 วอน/380 มิลลิลิตร

ช๊อคโกบอลไม่มีน้ำตาล

5,400 วอน/140 กรัม

ZERO เป็นแบรนด์สินค้าไม่มีน้ำตาลจากบริษัท Lotte Well Food[5]  ที่เปิดตัวบริษัทฯ เมื่อเดือนเมษายน 2565 และกลายเป็นบริษัทฯ ผู้นำด้านขนมไม่มีน้ำตาลในตลาดเกาหลี โดยได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่หรือ MZ Generation และกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญและไวต่อการบริโภคน้ำตาล แบรนด์ ZERO มียอดการจำหน่ายสูงถึง 30 พันล้านวอน ภายใน 6 เดือนหลังจากเปิดตัวในปี 2565 และมีการคาดการณ์ว่า ยอดการจำหน่ายในปี 2566 จะเพิ่มสูงถึง 50 พันล้านวอนตามลำดับ

 

  1. มาตรฐานและกฏระเบียบ

ปริมาณความหวานที่ประชากรเกาหลีบริโภคในแต่ละวัน อยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับปริมาณที่ทางกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยาแนะนำให้บริโภคต่อวัน โดยตัวเลขที่ปรากฏในตาราง แสดงให้เห็นถึงปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันและต่อน้ำหนักตัว ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคแอสปาร์แตม เราอาจพิจารณาว่าผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม จะต้องดื่มน้ำอัดลมขนาด 355 มิลลิลิตร จำนวน 12 – 36 กระป๋อง ถึงจะเข้าข่ายความเสี่ยง แต่อ้างอิงจากกระทรวงฯ ประชากรเกาหลีโดยเฉลี่ยบริโภคแอสปาร์แตมโดยเปรียบเทียบกับปริมาณที่สามารถบริโภคได้ในแต่ละวันเพียงร้อยละ 0.12 ซึ่งอยู่ในระดับน้อยมาก โดยแอสปาร์แตม เป็นหนึ่งในสารให้ความหวานสังเคราะห์ จากทั้งหมด 22 ชนิด ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงฯ ในปัจจุบัน

 

ปริมาณสารให้ความหวานที่สารมารถบริโภคได้ต่อวันโดยกระทรวงความปลอดภัยด้านอาหารและยา

แอสปาร์แตม (Aspartame) 40 มก./น้ำหนักตัว (กก.) /วัน
ซูคราโลส (Sucralose) 15 มก./น้ำหนักตัว (กก.) /วัน
แอซีซัลเฟมโพแทสเซีม (Acesulfame potassium) 9 มก./ น้ำหนักตัว (กก.) /วัน
แซ็กคาริน โซเดียม (Saccharin sodium) 5 มก./ น้ำหนักตัว (กก.) /วัน
น้ำตาลหญ้าหวาน (Stevia) 5 มก./ น้ำหนักตัว (กก.) /วัน

 

 

 

สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ หรือ The International Agency for Research on Cancer (IARC) ได้คิดค้นระบบหมวดหมู่ เพื่อประเมินหาสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยสารก่อมะเร็งดังกล่าวฯ จะถูกจัดประเภทโดยอ้างอิงจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการศึกษาของมนุษย์และสัตว์ทดลอง ตลอดจนกลไกและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตารางต่อไปนี้แสดงถึงประเภทและคำอธิบายของสารก่อมะเร็ง

 

เอกสารจากสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการระบุความอันตรายของสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์

 

กลุ่ม 1 เป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ 126 ตัว
กลุ่ม 2A อาจเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ 95 ตัว
กลุ่ม 2B มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ 323 ตัว
กลุ่ม 3 ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ 500 ตัว

ที่มา: สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC)

 

หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้แอสปาร์แตม อยู่ในประเภทสารที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ และสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC) ได้จัดให้อยู่ในกลุ่ม 2B กล่าวคือ จากการวิจัยพบหลักฐานจำนวนจำกัดที่แสดงว่าสารดังกล่าวฯ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ แต่ยังปลอดภัยในการบริโภค

แอสปาร์แตม เป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และใช้ในสินค้าอาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลายในฐานะสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลตั้งแต่ในช่วงปีพ.ศ. 2523 โดยใช้ทั้งในเครื่องดื่มไดเอทต่างๆ ขนมขบเคี้ยวรสหวาน มักกอลลี (สาโท) ของประเทศเกาหลีบางยี่ห้อ ตลอดจนยาสีฟันและยาลดไข้สำหรับเด็กบางยี่ห้อ นอกจากนี้ มักกอลลีที่จำหน่ายในตลาดประเทศเกาหลีกว่าร้อยละ 85 ใช้แอสปาร์แตมเป็นส่วนผสมเช่นกัน โดยหลังจากองค์การอนามัยโลกประกาศเรื่องการจัดอันดับดังกล่าวฯ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตมักกอลลี มีแนวโน้มที่จะหันไปใช้สารให้ความหวานสังเคราะห์ประเภทอื่นแทน อาทิ เอซีซัลเฟมโพแทสเซียม แซ็กคาริน ซูคราโลส และหญ้าหวาน แทนการใช้แอสปาร์แตมหรือผลิตสินค้าใหม่ที่ปราศจากสารให้ความหวานสังเคราะห์

กระทรวงความปลอดภัยอาหารและยาของประเทศเกาหลี (MFDS) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ว่าจะคงระดับการบริโภคแอสปาร์แตมและสารให้ความหวานสังเคราะห์ในแต่ละวัน ตลอดจนรักษาระดับการบริโภครายวันของประเทศที่ 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยพิจารณาจากการรับประทานแอสปาร์แตมของผู้บริโภคเกาหลี ตามคำแนะนำของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุเจือปนอาหารร่วม (JECFA) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้องค์การอนามัยโลก เนื่องจากอาหารบางชนิดถูกจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งกลุ่ม B รวมถึง สารสกัดว่านหางจรเข้ ต้นเฟิร์น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ผักดองสไตล์เอเชีย ซึ่งรวมถึงเครื่องเคียงชื่อดังของประเทศเกาหลีอย่างกิมจิ

ไม่ว่า WHO จะจัดให้แอสปาร์แตมเป็นสารในกลุ่ม 2B หรือไม่ หรือแอสปาร์แตมจะปลอดภัยต่อการบริโภค แต่รัฐบาลเกาหลี ได้เน้นย้ำการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและการสังเกตการเคลื่อนไหวของประเทศอื่น เพื่อติดตามสถานการณ์ล่าสุด นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มก็ยังติดตามกระแสตอบรับของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด บริษัทด้านอาหารหลักและผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ระหว่างการตัดสินใจสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล อาทิ หญ้าหวาน ซูคราโลส และอื่นๆ เพื่อช่วยบรรเทาความกังวลของผู้บริโภคเกาหลี

 

  1. การคาดการณ์และข้อคิดเห็น

จากที่กล่าวมาข้างต้น แม้ในปัจจุบันการบริโภคแอสปาร์แตมยังไม่ได้อยู่ในระดับอันตราย แต่ก็มีภาพลักษณ์ในด้านลบในฐานะสารให้ความหวานสังเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ในกลุ่มผู้บริโภคเกาหลีแล้ว ในกลุ่มสินค้าหลายสินค้า แม้ว่าจะไม่ได้มีการใช้แอสปาร์แตม แต่การรับรู้ในด้านลบของสารให้ความหวานสังเคราะห์ได้แพร่กระจายไปสู่เครื่องดื่มปราศจากน้ำตาลต่างๆ และส่งผลกระทบต่อความกังวลของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่แอสปาร์แตม แต่ความกังวลในสารให้ความหวานสังเคราะห์อื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย บริษัทด้านอาหารและเครื่องดื่มส่วนใหญ่ในเกาหลี อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะยังคงใช้สารให้ความหวานสังเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็งต่อมนุษย์ต่อไป หรือจะหาสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลทางเลือก เนื่องจากผู้บริโภคอาจรู้สึกไม่สบายใจที่จะบริโภคแม้เพียงปริมาณเล็กน้อยตามข้อสรุปของ WHO

ประเทศเกาหลี ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผู้บริโภคละเอียดอ่อนและให้ความสำคัญกับสุขภาพมากที่สุด สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีแผนในการส่งออกสินค้าอาหารมายังตลาดเกาหลี โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่ม ควรจะต้องติดตามกระแสที่เปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างใกล้ชิด ตลอดจนกระแสการรับประทานอาหารปราศจากน้ำตาลควบคู่กับสารให้ความหวานสังเคราะห์ชนิดใหม่ๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจพิจารณาพัฒนาและปรับปรุงสินค้าขนมขบเคี้ยวหรือเครื่องดื่มโดยไม่ใช้แอสปาร์แตมเป็นส่วนผสม หรือลดปริมาณน้ำตาลลง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคเกาหลีมากขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น การใช้น้ำตาลจากธรรมชาติที่ประเทศไทยผลิตได้อยู่แล้วและเป็นภูมิปัญญาของไทยมาแต่โบราณ อาทิ น้ำตาลหรือน้ำเชื่อมดอกมะพร้าว อาจทำให้สินค้าไทยได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเป็นทางเลือกที่ดีกว่าน้ำตาลสังเคราะห์ และเป็นการสร้างความแตกต่าง นอกจากนี้ ในสินค้าประเภทซอสและเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นสินค้าไทยที่ได้รับความนิยมในตลาดเกาหลี ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าดังกล่าวฯ อาจพิจารณาพัฒนาซอส เครื่องปรุง หรือซอสสำหรับจิ้ม ที่มีปริมาณน้ำตาลลดลง ปราศจากน้ำตาล หรือใช้น้ำตาลธรรมชาติ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มจุดแข็งในการแข่งขันในตลาดเกาหลีได้ดียิ่งขึ้น

*************************************

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

กันยายน 2566

 

 

 

 

ที่มา :

World Health Organization: https://monographs.iarc.who.int/agents-classified-by-the-iarc/

Arirang News: https://www.arirang.com/news/view?id=256399

Consumer News: http://www.consumernews.co.kr/news/articleView.html?idxno=686220

Korea Times: https://www.koreatimes.co.kr/www/tech/2023/07/419_355014.html?utm_source=na

Money Today: https://news.mt.co.kr/mtview.php?no=2023072411252379393

Yonhap News: https://www.yna.co.kr/view/AKR20230714067000003?section=search

 

[1] MtCO22e: เมตริกตันคาร์บอนไดออกไซด์สมมูล (หรือเทียบเท่า)

[2]  Healthy Pleasure อาทิ การนอนกลางวัน เล่นกับสัตว์เลี้ยง คุยกับเพื่อน ชมธรรมชาติ ดมกลิ่นหอมหวาน หัวเราะไปกับภาพยนตร์ตลก และความสุขที่ดีต่อสุขภาพอื่นๆ มากมาย อาจช่วยปรับปรุงชีวิตและสุขภาพของคุณให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด – ”Healthy Pleasures” โดย Robert Ornstein และ David Sobel/ อ้างอิงจาก “Human Journal”

[3] น้ำตาลอัลลูโลส (Allulose) คือน้ำตาลที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ สามารถพบได้ในลูกมะเดื่อ ลูกเกด ข้าวสาลี เมเปิ้ลไซรัป และกากน้ำตาล ซึ่งมีความหวานประมาณร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับน้ำตาลปกติ แต่ร้อยละ 98 ไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายและขับออกทางปัสสาวะ

[4] Lotte Chilsung ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม Pepsi Zero  ในประเทศเกาหลี หลังจากได้รับหัวเชื้อเข้มข้นจากสำนักงานใหญ่ของ PepsiCo ซึ่งใช้สารให้ความหวาน แตกต่างจากประเทศอื่นทั่วโลกที่ Coca-Cola ไม่ใช้สารให้ความหวานในเครื่องดื่มโคล่าปราศจากน้ำตาลทุกประเภทที่พบเห็นได้ในประเทศเกาหลี อาทิ Coca-Cola Zero

[5] Lotte Well Food เป็นบริษัทด้านอาหารครบวงจรระดับโลก ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะบริษัทแบบบูรณาการของ Lotte Confectionary และ Lotte Food  เมื่อเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น Lotte Well Food  ได้จัดตั้งให้ “Health & Wellness” เป็นวิสัยทัศน์สำคัญของบริษัทฯ และปรับใช้กับกลยุทธ์เพื่อพัฒนาแบรนด์สินค้าและการขยายยอดการจำหน่าย โดยให้ความสำคัญกับกระแสการให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ในปี 2566 บริษัทฯ ประกาศว่าได้คัดเลือกให้โปรตีนจากแมลง เป็นกลุ่มสินค้าเป้าหมายถัดไปของบริษัทฯ ในฐานะอาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login