กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ได้กำหนด 3 งานสำคัญ ได้แก่ การกำหนดที่ดินสำหรับการเกษตร การสร้างกำลังการผลิต และ การลงทุนด้านเกษตรกรรมและป่าไม้ การเจรจาด้านสุขอนามัยและการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อทำให้การผลิตสินค้าเกษตรในลาวนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเพียงพอกับการสนองสินค้าให้กับตลาดภายในและส่งออก
นายเพ็ด พมพิพัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ได้ชี้แจงในที่ประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 5 ของสภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 ผ่านมาว่า สำหรับงานสำคัญในอนาคตมี 3 งานได้แก่ 1) การกำหนดที่ดินสำหรับการเกษตร ร่วมมือประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น กำหนดพื้นที่สำหรับการทำการเกษตรในพื้นที่ 3 แขวง และนครหลวงเวียงจันทน์ ที่ยังไม่เสร็จ และสร้างเครือข่าย แก้ไขกลไกการประสานงานให้มีความเอกภาพระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น จัดสรรทุน เพื่อเน้นการสำรวจจัดสรรที่ดินเกษตรระดับแขวง เมือง หมู่บ้าน และจัดซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานอย่างเหมาะสมและทันสมัย ช่วยให้เจ้าหน้าท้องถิ่นใช้งานได้สะดวก ได้รับผลดี 2) การสร้างกำลังการผลิต สร้างและปรับปรุงกำลังการผลิตให้มีขนาด มาตรฐาน เทคนิค-วิทยาศาสตร์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ให้แก่กลุ่มการผลิตและสหกรณ์ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนที่มีดอกเบี้ยที่เหมาะสม มีนโยบายยกเว้นหรือลดหย่อนอัตราภาษี ราคาพลังงานไฟฟ้าเพื่อเป็นการส่งเสริมให้สหกรณ์ขยายตัวและมีความเข้มแข็ง 3) การลงทุนด้านเกษตรกรรมและป่าไม้ การเจรจาด้านสุขอนามัยและการส่งออกสินค้าเกษตร ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนภายในและต่างประเทศให้มากขึ้นด้วยวิธีการหรือรูปแบบต่างๆ เช่น การลงทุนของภาครัฐ-เอกชน เอกชนลาวกับเอกชนต่างประเทศหรือการผลิตการเกษตรแบบสัญญาสองฝ่าย รูปแบบ 2+3 รูปแบบเช่าหรือสัมปทานที่ดินของรัฐบาลและอื่นๆ เร่งให้การส่งเสริมและสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่การผลิตการเกษตรเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล้วย มันสำปะหลัง ส่งเสริมการเตรียมพื้นที่การผลิตพืชเป็นสินค้าตามฤดูกาล เช่น แตงโม ข้าวโพด ฟักทอง และพืชตระกูลถั่ว เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายของมูลค่าการส่งออกที่กำหนดให้มีมูลค่า 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตามมติของสภาแห่งชาติรับรอง
ดำเนินการจัดตั้งปฏิบัตินโยบายแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และการปลูกพืช สร้างแผนการผลิตสินค้าส่งออก แผนการ โครงการผลิตสินค้าที่มีสัญญา เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ ปัจจัยและสภาพแวดล้อมที่อำนวยความสะดวกให้แก่การผลิต เช่น การเข้าถึงแห่งทุนที่มีดอกเบี้ยเหมาะสม เป็นต้นแบบให้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ ฟาร์ม กลุ่มผู้ผลิต ร่วมเจรจากกับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีนในรายการสินค้าเกษตรที่สปป.ลาว มีศักยภาพ มีผลผลิตเยอะและกำหนดสินค้าสำคัญ เช่น กาแฟ ยางพารา ขนุน อ้อย ถั่วลิสง
ที่มา หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เวียงจันทน์