สถานการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ (Consumer Spending)
การใช้จ่ายของผู้บริโภค สำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis)[1] รายงานว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค ณ เดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 138.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีก่อนหน้า
สำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office)[2] คาดว่า Consumer Spending จะมีความผันผวนเล็กน้อย โดยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ในปี 2566 ร้อยละ 1.1 ในปี 2567 และร้อยละ 2.0 ในปี 2568 ตามลำดับ ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงปลายปี 2566 ไปจนถึงปี 2567 จะชะลอตัว เนื่องจาก 1) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 2) การเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน 3) มาตรการช่วยเหลือโควิด-19 เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนหมดระยะเวลาลง และคาดการณ์ว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะเริ่มแข็งแรงขึ้นในช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราการว่างงานที่ลดลง
สำหรับหนี้ครัวเรือน Federal Reserve Bank of New York[3] รายงานหนี้ครัวเรือนและบัตรเครดิตรายไตรมาส พบว่า หนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ 17.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย 12.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สินเชื่อบัตรเครดิต 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สินเชื่อเพื่อการศึกษา 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินเชื่อรถยนต์ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินเชื่ออื่น ๆ ทรงตัวอยู่ที่ 0.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การผิดนัดชำระเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อหลายประเภท ยกเว้นสินเชื่อเพื่อการศึกษาที่มีการผิดนัดชำระลดลง ส่วนหนึ่งอาจมาจากสินเชื่อเพื่อการศึกษาของรัฐที่ผิดนัดชำระจะไม่ถูกรายงานไปยังเครดิตบูโรจนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2567 ทำให้อัตราการผิดนัดชำระ ณ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3 ของหนี้คงค้างทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจุดร้อยละ 0.4 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการผิดนัดชำระสินเชื่อบัตรเครดิตมีการเพิ่มขึ้นสูงในกลุ่มผู้กู้ยืมที่มีอายุ 30 ถึง 39 ปี ที่มีสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อเพื่อการศึกษา
อัตราการว่างงาน สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics) กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (U.S. Department of Labor)[4] รายงานอัตราการว่างงาน ณ เดือนตุลาคม 2566 ที่อัตราร้อยละ 3.9 หรือ มีจำนวนผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจทั้งหมด 6.5 ล้านคน โดยมีผู้โดนเลิกว่าจ้างถาวร (Permanent Job Loser) เพิ่มขึ้น 164,000 คน รวมเป็น 1.6 ล้านคน และมีการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payroll Employment) เพิ่มขึ้น 150,000 ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี สำนักงานงบประมาณแห่งชาติสหรัฐฯ (Congressional Budget Office)[5] คาดว่าอัตราการว่างงานจะสูงขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 4.1 ในปี 2566 เป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2567 และชะลอตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2568
สถานการณ์การค้าปลีกโลกและสหรัฐฯ
ด้านการค้าปลีกโลก Economist Intelligence Unit[6] รายงานการคาดการณ์มูลค่าการค้าปลีกทั่วโลก (Retail Sale) ในปี 2567 จะเติบโตร้อยละ 6.7 และปริมาณการค้าปลีก (Retail Volume) จะเติบโตร้อยละ 2 โดยเป็นการซื้อจากหน้าร้าน (Brick-and-Mortar) คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของยอดขายทั้งหมด อย่างไรก็ดี ปี 2567 จะเป็นปีที่มีการเติบโตการค้าปลีกแบบออฟไลน์ที่แข็งแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 จากการฟื้นตัวของสถานการณ์โควิด-19
สำหรับสถานการณ์การค้าปลีกในสหรัฐฯ สำนักงานสถิติสหรัฐฯ (U.S. Census Bureau)[7] รายงานภาวะการค้าปลีก ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 612 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลงร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 จากปีก่อนหน้า สำหรับการค้าปลีกที่รวมอาหาร ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 705 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยลดลงร้อยละ 0.1 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากปีก่อนหน้า สำหรับการค้าปลีกของผู้ประกอบการที่ไม่มีห้างร้าน (Nonstore Retailer) ณ เดือนตุลาคม 2566 มีมูลค่า 118 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 จากปีก่อนหน้า
สถานการณ์การค้าปลีกออนไลน์ของโลก ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศ (U.S. International Trade Administration) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (U.S. Department of Commerce) คาดการณ์ว่ายอดขายค้าปลีกทั่วโลกปี 2567 อยู่ที่ 6,388 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากปีก่อนหน้า[8] สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของการค้าปลีกออนไลน์ของโลกในปี 2567 จะมีส่วนแบ่งการตลาด คิดเป็นร้อยละ 21.8 ต่อยอดค้าปลีกของโลกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 21.1 ในปี 2566[9]
การค้าปลีกออนไลน์ของสหรัฐฯ eMarketer[10] คาดการณ์ว่า ยอดขายการค้าออนไลน์ของสหรัฐฯ จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีจากปี 2567 ถึงปี 2570 ซึ่งคาดการณ์ว่ายอดขายการค้าออนไลน์ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2566 เป็นอยู่ที่ 1,256 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 และคาดว่าส่วนแบ่งการตลาดของการค้าออนไลน์จะคิดเป็นร้อยละ 16.6 ของการค้าปลีกของสหรัฐฯ ทั้งหมด โดยประเภทสินค้าที่คาดว่าจะเติบโตจากการค้าออนไลน์ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และสินค้าเพื่อสุขภาพและของใช้ส่วนตัวจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 อย่างไรก็ดี การเติบโตของยอดขายค้าปลีกหลายประเภทอาจเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อราคาสินค้ามากกว่าการเพิ่มขึ้นในเชิงของปริมาณสินค้า นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริโภคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายได้หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการเปรียบเทียบราคาและในการเข้าถึงส่วนลดมากขึ้นด้วย
eMarketer[11] ยังรายงานว่าแม้ว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 จะจบลงแล้ว แต่การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ (Digital Grocery) จะเป็นพฤติกรรมที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ ยอดขายของ Digital Grocery จึงมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากความนิยมของผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อ โดยคาดการณ์ว่ายอดขายของ Online Grocery ในปี 2567 จะอยู่ที่ 187.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่ 160.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 16.3 และคาดว่า Digital Grocery จะมีส่วนแบ่งการตลาด คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของตลาดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด
ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก
ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นโยบายการเงินแบบตึงตัว มาตรการช่วยเหลือโควิด-19 เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของประชาชนกำลังจะหมดระยะเวลาลง และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและอาจส่งผลต่อการใช้จ่ายและการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามแนวโน้มและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนทางธุรกิจให้ปรับตัวได้ทันตามการเปลี่ยนแปลง
ข้อมูลอ้างอิง
[1] https://www.bea.gov/data/consumer-spending/main
[2] https://www.cbo.gov/system/files/2023-07/59258-econ-outlook.pdf
[3] https://www.newyorkfed.org/microeconomics/hhdc.html
[4] https://www.bls.gov/news.release/empsit.nr0.htm
[5] https://www.cbo.gov/system/files/2023-07/59258-econ-outlook.pdf
[6] https://www.eiu.com/n/campaigns/consumer-in-2024/
[7] https://www.census.gov/retail/sales.html
[8] https://www.trade.gov/ecommerce-sales-size-forecast
[9] https://www.trade.gov/impact-covid-pandemic-ecommerce
[10] https://www.insiderintelligence.com/content/us-retail-ecommerce-sales-growth-2027
[11] https://www.insiderintelligence.com/content/spotlight-us-digital-grocery-forecast-2022
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)