(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2566)
ผู้บริโภคเกาหลีใต้มีแนวโน้มต้องเผชิญกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นหลังวันหยุดเทศกาลชูซอก ท่ามกลางราคาน้ำมันดิบ และวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก
องค์การส่งเสริมอุตสาหกรรมโคนมและผลิตภัณฑ์นมของเกาหลีใต้ ได้ประกาศขึ้นราคานมร้อยละ 8.8 หรือประมาณ 88 วอน (0.06 ดอลลาร์) ต่อลิตร ส่งผลให้บริษัทผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่ เช่น Seoul Milk, Maeil และ Namyang ปรับราคานมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3-13 โดยหน่วยงานด้านโคนม เน้นย้ำว่า การขึ้นราคาดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำมัน น้ำตาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวน การผลิต การบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่สูงขึ้น ซึ่งการขึ้นราคาดังกล่าว จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้นมเป็นส่วนผสม เป็นหลัก เช่น ขนมปัง กาแฟสำเร็จรูป และไอศกรีม จะมีราคาสูงขึ้นตามมาด้วย
ไม่เพียงเฉพาะสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่หลายเมืองใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้ มีแผนที่จะขึ้นอัตราค่า โดยสารรถสาธารณะด้วยเช่นกัน โดยค่าโดยสารรถประจำทางของปูซาน จะปรับเพิ่มขึ้น 350 วอน เริ่มวันศุกร์นี้ ค่าโดยสารรถไฟใต้ดินของกรุงโซล จะเพิ่มขึ้นจาก 1,250 วอน เป็น 1,400 วอน ในขณะที่เมืองอินชอนมีแผน ปรับค่าโดยสารทั้งรถไฟใต้ดิน และรถประจำทางขึ้นอีก 150 วอน และ 250 วอน ตามลำดับ โดยจะเริ่มตั้งแต่วัน เสาร์ที่ 7 ตุลาคม ที่จะถึงนี้
ในส่วนของค่าไฟฟ้า รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณาขึ้นราคาค่าไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ซึ่งบริษัทผลิต ไฟฟ้าของรัฐบาลเกาหลี (KEPCO) ได้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี ที่แล้ว ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการขาดทุน และทำให้อัตราค่าไฟกลับมาเป็นราคาปกติที่ สมควรจะเป็น
นาย ฮวาง อินอุค นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันบริการด้านการวิจัยแห่งรัฐสภาเกาหลีใต้ (National Assembly Research Service: NARS) กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์เงินเฟ้อในเกาหลีกำลังอยู่ระหว่างขาลง หลังจากแตะจุดสูงสุดที่ร้อยละ 6.3 เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัว และให้ความ เห็นว่า สภาพอากาศที่แปรปรวน ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง และการลดงบประมาณของประเทศผู้ ผลิตน้ำมัน เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต
นาย ฮวาง ยังให้ความเห็นว่า จากการที่ประเทศสำคัญๆ ได้นำเสนอตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในแนวทางที่แตกต่างกัน และกำหนดนโยบายตอบสนองที่แตกต่างกัน ก่อให้เกิดแรงกดดันในการปรับราคาสินค้าทั้งในด้านขึ้นและลง นอกจากนี้ จากการที่น้ำมัน วัตถุดิบ และสินค้าทางการเกษตร มีราคาผันผวนในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้การคาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้ออย่างเป็นเอกฉันท์เป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาสำคัญในการพยายามเพื่อให้ราคาสินค้ามีเสถียรภาพ และสอดคล้องกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงวงจรธุรกิจ เงื่อนไขด้านทางการเงิน และ นโยบายการคลังด้วย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องด้วยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และค่าโดยสารรถสาธารณะ และค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเกาหลีใต้ ที่อาจจะต้องคำนึงและวางแผนในการจับจ่ายใช้สอยอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของผู้ประกอบการไทย อาจจะต้องเร่งพัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่เหมาะสม โดยควรต้องติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และต้องลดค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่น การลดบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น เพื่อให้ผู้บริโภคสนใจและเลือกบริโภคสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง
********************************************************************
ที่มา :
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)