สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9-13 ตุลาคม 2566
มุมมองนักวิเคราะห์ Shrinkflation อาจไม่ได้แย่อย่างที่คิด
ห้างค้าปลีกอาหารในแคนาดาถูกจับตาจากภาครัฐและผู้บริโภคว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อของสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปีผ่านมา เนื่องจากห้างค้าปลีกส่วนใหญ่มียอดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นและผลกำไรเพิ่มมากเป็นประวัติการณ์อีกด้วย แต่สาเหตุที่แท้จริงส่วนใหญ่มาจากต้นทุนการผลิตสินค้าตั้งแต่วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ผู้ผลิตสินค้าได้ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ในการลดขนาดของสินค้าในขณะที่ไม่ปรับขึ้นราคา หรือบางสินค้ามีทั้งการลดขนาด (สินค้า) และเพิ่มราคาสินค้าอีกด้วย
ทุกวันนี้ ผู้บริโภคในแคนาดาส่วนใหญ่ยังคงต้องดิ้นรนกับ
ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ขณะที่อัตราค่าจ้างไม่ได้เพิ่มในสัดส่วนเดียวกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น อาทิ ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย (Shelter Cost) ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องปรับพฤติกรรมการจับจ่าย
ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ Shrinkflation ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับห้างค้าปลีกอาหาร แต่เมื่อมีแรงกดดันจากต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริหารของผู้ผลิตหรือห้างค้าปลีกมีทางเลือกแค่ 2 ทาง ระหว่าง Shrinkflation หรือปรับขึ้นราคาสินค้า
จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่เริ่มยอมรับกับสภาพ Shrinkflation มากกว่ายอมรับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการทดลองวางจำหน่ายสินค้าภายในห้างโดยมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบอย่างชัดเจนว่าสินค้าดังกล่าวมีราคาเท่าเดิมแต่มีขนาดที่เล็กลง/ปริมาณที่ลดลง เปรียบเทียบกับสินค้าที่มีลักษณะเดียวกันที่ขนาด/ปริมาณเท่าเดิมแต่ราคาปรับสูงขึ้น พบว่าสินค้าที่ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation กลับมียอดขายที่ดีกว่าสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ได้สรุปว่า ราคาที่สูงขึ้นมีผลกระทบทางลบ (Negative Effect) ต่อจิตวิทยาผู้บริโภคที่ทำให้รู้สึกว่าสินค้าเหล่านั้นมีราคาแพงไม่น่าสนใจ และแม้ Shrinkflation ทำให้เพิ่มของเสียในแง่บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้น เพราะบรรจุสินค้าน้อยลง แต่นักวิเคราะห์มองว่าสินค้าที่ขนาด/ปริมาณลดลงอาจมีผลดีต่อสินค้าและผู้บริโภคได้ด้วย เช่นกรณีคุกกี้ชิ้นแรกที่รับประทานนั้นอาจสร้างความพอใจสูงสุด แต่เมื่อรับประทานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงชิ้นสุดท้ายความพอใจของสินค้าจะลดลงตามลำดับ ที่เป็นไปตามทฤษฎี Diminishing Returns ในมุมมองของจิตวิทยา การลดขนาดสินค้า Serving Size อาจเหมาะกับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการควบคุม Calories Intake (พลังงานสารอาหาร) เหมือนกับการบังคับทางอ้อมทำให้ลดการบริโภค โดยเฉพาะกับสินค้าขนมขบเคี้ยวหรืออาหารประเภท Junk Food
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เห็นว่าการใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ถ้าไม่มีการแสดงข้อมูลที่โปร่งใสที่ชัดเจน (Data Transparency) อาจส่งผลเสียให้กับแบรนด์สินค้า ผู้ผลิตและห้างค้าปลีกได้ ที่จะถูกมองว่าเป็น “Sneakflation” (แอบลดขนาด/ปริมาณแบบไม่แจ้ง ทำให้ผู้บริโภคเหมือนถูกหลอก) ดังตัวอย่างสินค้าซีเรียลอาหารเช้า ที่บรรจภุภัณฑ์ส่วนใหญ่จะใช้กล่องกระดาษ ที่กล่อง (บรรจุภัณฑ์) จะขนาดเดิมแต่สินค้าด้านในมีปริมาณลดลง รวมไปถึงสินค้ายาสีฟันที่ปริมาณด้านในลดลงแต่หลอดยาสีฟันยังคงขนาดเดิม หรือกล่องชา (Tea Box) ที่แต่เดิมจะมีถุงบรรจุ 240 ชิ้นแต่ลดเหลือ 200 ชิ้น
ผู้ผลิตบางสินค้า อาทิ ไอศกรีมยี่ห้อ Tillamook เลือกที่จะแจ้งกับผู้บริโภคล่วงหน้าและมีการทำโฆษณาโดยบอกว่า สินค้าจะมีขนาดที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เป็นการสื่อสารและแสดงความจริงใจไปกับผู้บริโภคที่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค
ในมุมมองของผู้บริโภค จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้บริโภคกว่าร้อยละ 75 รู้สึกและรับรู้ได้ว่าผู้ผลิตสินค้าอาหารส่วนใหญ่ได้ใช้กลยุทธ์ Shrinkflation และกว่าร้อยละ 50 หันไปซื้อสินค้ายี่ห้ออื่นทดแทน นักวิเคราะห์สรุปได้ว่า ถึงแม้ว่ากลยุทธ์ Shrinkflation จะมีผลเสียต่อภาพพจน์สินค้าบ้าง แต่นับว่ามีผลกระทบด้านลบน้อยสุด เมื่อเทียบกับกลยุทธ์อื่นๆ ในยุคที่เงินเฟ้อได้ส่งกระทบในวงกว้างต่อค่าครองชีพ และพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน
ความเห็นของ สคต.
สภาพเศรษฐกิจแคนาดาในปัจจุบันยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของคนส่วนใหญ่ ตั้งแต่ราคาสินค้าอาหาร ราคาพลังงาน และค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัย โดยปัจจัยราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิต วัตถุดิบ ค่าแรงงานที่สูงขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ผู้ผลิตสินค้าและห้างค้าปลีกใช้กลยุทธ์ Shrinkflation ลดขนาดสินค้าแต่ไม่ขึ้นราคา แต่มีบางกรณีผู้ผลิตทั้งปรับลดขนาดสินค้าและขึ้นราคาสินค้าอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของ Shrinkflation ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้หันซื้อสินค้าหรือแบรนด์อื่นทดแทนๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจส่งผลประโยชน์ด้านบวกให้กับสินค้าไทย ที่ทำให้เกิด Brand Switching (การปรับเปลี่ยนเลือกซื้อสินค้ายี่ห้ออื่น) หรือ Product Replacement (หาสินค้าอื่นทดแทน) เป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยนำเสนอสินค้าทางเลือกใหม่จากไทยมาทดแทนสินค้าที่การปรับราคาสูงขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคแคนาดาในยุค Shrinkflation
โปรดติดตามความเคลื่อนไหวในการค้าระหว่างประเทศผ่าน ช่องทางต่างๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ www.ditp.go.th และ www.thaitrade.com หรือโทรปรึกษาเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 (หากโทรจากต่างประเทศ โปรดติดต่อที่ โทร. +66 2792 6900)
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)