เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ธนาคารโลก (Worl Bank) ได้เผยแพร่รายงานดัชนีขีดความสามารถของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ ปี 2566 (Container Port Performance Index 2023 : A Comparable Assessment of Performance based on Vessel Time in Port) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารโลก กับ S&P Global Market Intelligence โดยปี 2566 มีเรือเทียบท่ามากกว่า 182,000 ลำ และ มีเรือผ่านท่ามากกว่า 238.20 ล้านครั้ง และมีตู้คอนเทนเนอร์ผ่านท่าประมาณ 381 ล้าน ทีอียู
ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 80 ของการค้า(เชิงปริมาณ)ถูกขนส่งทางทะเล โดยที่ประมาณร้อยละ 35 ของการค้า (เชิงปริมาณ) และ มากกว่าร้อยละ 60 ของการค้า (เชิงมูลค่า) ถูกขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ ดังนั้น ความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพโดยรวมของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ จึงมีความสำคัญต่อตลาดโลกและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยดัชนี CPPI (เริ่มจัดทำครั้งแรกเมื่อปี 2563 และเผยแพร่เมื่อปี 2564) พิจารณาประสิทธิภาพของท่าเรือ ซึ่งให้ความสำคัญกับระยะเวลาที่เทียบท่า โดย CPPI มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับการพัฒนา และเพื่อประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่ายในระบบการค้าและซัพพลายเชนโลก อาทิ ท่าเรือ สายการเดินเรือ รัฐบาล ผู้บริโภค
ปี 2566 แม้ว่าความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ได้คลี่คลายลง แต่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ยังคงคาดเดาไม่ได้และผันผวน ดังนั้น ท่าเรือหลักจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัย โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดโลกและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเดินเรือ ปัจจุบันมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของท่าเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจาก หากการบริหารจัดการท่าเรือไม่มีประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลกระทบต่อการขนส่งไปสินค้าไปยังพื้นที่หลังท่า และกระทบต่อตารางเวลาการขนส่งทั้งระบบ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนการนำเข้าและส่งออก ลดขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศและการบรรเทาความยากจน
ปี 2566 ผลการประเมินท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 405 ท่าเรือ พบว่า ท่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด คือ ท่าเรือ Yangshan ประเทศจีน (ได้อันดับที่ 1 ติดต่อกันสองปีแล้ว) อันดับที่ 2 ท่าเรือ Salalah ประเทศโอมาน อันดับที่ 3 ท่าเรือ Cartagena ประเทศโคลัมเบีย อับดับที่ 4 ท่าเรือ Tanger-Mediterranean ประเทศโมร็อกโก และ อันดับที่ 5 ท่าเรือ Tanjung Pelepas ประเทศมาเลเซีย
สำหรับประเทศในทวีปแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาร่า (Sub-Saharan Africa) (ประเมิน 40 ท่าเรือ) พบว่าท่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ท่าเรือ Berbera ประเทศโซมาเลีย (อันดับที่ 103) รองลงมาคือ ท่าเรือ Mogadiscio ประเทศโซมาเลีย (อันดับที่ 176) ท่าเรือ Conakry ประเทศกินี (อันดับที่ 208) ท่าเรือ Malabo ประเทศอิเควทอเรียลกินี (อันดับที่ 237) และท่าเรือ Freetown ประเทศเซียร์ราลีโอน (อันดับที่ 252) ตามลำดับ
ข้อมูลเพิ่มเติมและความเห็นของสำนักงานฯ : ดัชนี CPPI ประจำปี 2566 ที่จัดทำโดยธนาคารโลก และ S&P Global Market Intelligence ได้ประเมินขีดความสามารถของท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ 405 ท่าเรือ โดยท่าเรือที่ขาดประสิทธิภาพ ย่อมมีผลกระทบต่อความล่าช้าในการขนส่ง การหยุดชะงักของซัพพลายเชน ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า ลดขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
ในรายงานฉบับนี้ พบว่า ท่าเรือ 4 ท่าเรือของประเทศแอฟริกาใต้ถูกจัดอันดับในปี 2566 ดังนี้ ท่าเรือ Port Elizabeth (อันดับที่ 391) ท่าเรือ Durban (อันดับที่ 399) ท่าเรือ Ngqura (อันดับที่ 404) และท่าเรือ Cape Town (อันดับที่ 405 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้าย) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ท่าเรือ 4 แห่งดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับพัฒนาและยกระดับการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆนี้ Transnet (รัฐวิสาหกิจที่บริหารท่าเรือในประเทศแอฟริกาใต้) ใด้หารือกับผู้แทนธนาคารโลก กรณีท่าเรือในประเทศแอฟริกาใต้ เนื่องจาก Transnet เห็นว่าธนาคารโลกใช้ระยะเวลาที่เรือจอดเทียบท่า เพื่อวัดผลประสิทธิภาพของการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ เป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อเรือเทียบท่า มีบริการที่เกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายก่อนดำเนินการขนถ่ายสินค้า ซึ่งบริการเหล่านี้ล้วนมีผลต่อระยะเวลาที่เรือจอดเทียบท่า ประกอบกับการที่ธนาคารโลกใช้ข้อมูลตัวอย่างจากฝ่ายที่สาม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริง นอกจากนี้ Transnet ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ได้เริ่มดำเนินการปรับปรุงท่าเรือและรางรถไฟ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า โครงการสำคัญ อาทิ การจัดหาอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าใหม่ การจัดทำแผนรองรับภาวะฉุกเฉิน การนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์
อนึ่ง ปี 2566 ท่าเรือของประเทศไทยถูกจัดอันดับ ดังนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง อันดับที่ 46 ท่าเรือสยาม ซีพอร์ต อันดับที่ 124 และท่าเรือกรุงเทพ อันดับที่ 278
ที่มาข่าวและภาพ www.worldbank.org
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพริทอเรีย
มิถุนายน 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : World Bank จัดอันดับท่าเรือตู้คอนเทนเนอร์ ปี 2566 : ส่องท่าเรือแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายซาฮาร่า