เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาบริษัท Volkswagen (VW) ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเยอรมนีได้ออกมาประกาศถึงความร่วมมือกับบริษัท Xpeng ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นว่า VW ตั้งใจที่จะผลักดันยุทธศาสตร์ด้านซอฟต์แวร์ ที่ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาหลักของ VW และในฐานะที่ VW เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีผลต่อดัชนีหุ้นเยอรมัน (DAX) จึงพบว่า ภายในปี 2026 ผู้ผลิตรถยนต์ทั้งสองราย (VW และ Xpeng) ตั้งเป้าจะพัฒนาสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Architecture) บนระบบปฏิบัติการใหม่ร่วมกัน ซึ่งระบบดังกล่าวจะเข้ามาแทนที่ระบบปฏิบัติการของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีอยู่เดิมในรถยนต์ Volkswagen ในจีน สำหรับ ซอฟต์แวร์ใหม่นี้จะนำมาใช้กับ EV ที่ VW และ Xpeng ร่วมกันผลิต ซึ่งมีแผนจะเปิดตัวในปี 2026 นี้ โดยนาย Ralf Brandstätter ผู้บริหารของ VW ในจีนรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลโครงการดังกล่าวได้ออกมาเปิดเผยว่า ระบบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเข้ามาเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของ VW ในตลาดจีนเท่านั้น แต่ Volkswagen ยังต้องการใช้ความร่วมมือกับ Xpeng ลดเวลา 1 ใน 3 ของการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และลดต้นทุนให้ได้สูงสุดถึง 40% อีกด้วย
จากการที่หนังสือพิมพ์ Handelsblatt ได้รับทราบข้อมูลมาจากวงใน พบว่า VW มีแนวทางที่อาจจะพัฒนาสถาปัตยกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์กับพันธมิตรรายอื่น ๆ ในซีกโลกตะวันตกอีกด้วย ผู้จัดการระดับสูงคนหนึ่งของ VW กล่าวว่า “ข้อตกลงกับ Xpeng อาจจะกลายมาเป็นแบบพิมพ์เขียวสำหรับยุทธศาสตร์ด้านซอฟต์แวร์ทั้งหมดของกลุ่มบริษัท Volkswagen” ทั้งนี้ เพื่อให้ VW สามารถก้าวทันคู่แข่งและไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือการเป็นผู้นำ นาย Oliver Blume, CEO ผู้ซึ่งเรียกได้ว่ามีรูปแบบการบริหารบริษัทแตกต่างจากนาย Herbert Diess อดีต CEO เขาให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนมากขึ้น โดยในจีนนอกจาก Xpeng แล้ว พันธมิตรในปัจจุบันของ VW ยังมีบริษัท Horizon Robotics ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขับขี่อัตโนมัติ และบริษัท Thundersoft ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสันทนาการ ในขณะที่ ฝั่งตะวันตกกลุ่ม VW ก็เพิ่งประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture) มูลค่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับบริษัท Rivian ผู้ผลิตรถกระบะไฟฟ้าของสหรัฐฯ โดยจะเน้นการพัฒนาสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปร่วมกัน ซึ่งสถาปัตยกรรมฯ ใหม่สำหรับตลาดจีนกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ของกลุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเหอเฟย โครงการนี้นำโดยบริษัท Cariad ซึ่งเป็นหน่วยซอฟต์แวร์เจ้าปัญหาภายใต้เครือ Volkswagen โดย VW ยังเป็นผู้คุมบังเหียนควบคุมโค๊ดโปรแกรมหลักในการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ดังกล่าว แต่ในเวลาเดียวกัน VW ก็ยังได้รับผลประโยชน์จากความรู้ความชำนาญด้านซอฟต์แวร์จากบริษัท Xpeng อีกด้วย โดยเรียกได้ว่า บริษัท Xpeng มีชื่อเสียงในด้านซอฟต์แวร์ในกลุ่มผู้ผลิต EV ของจีน ซึ่งซอฟต์แวร์ยานพาหนะถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับนาย CEO Blume ที่ต้องเร่งแก้ไข จนถึงปัจจุบัน Cariad รับผิดชอบการบูรณาการซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์จากผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ เข้ากับระบบปฏิบัติการของ Volkswagen Group แต่เนื่องจากมีความล่าช้าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้การเริ่มผลิตรถยนต์หลาย ๆ รุ่นที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์จึงต้องถูกเลื่อนออกไปแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตัวอย่างเช่น รถรุ่น Macan EV ที่บริษัท Porsche ผู้ผลิตรถสปอร์ตต้องการนำรถดังกล่าวพึ่งจะสามารถส่งออกสู่ตลาดในปีนี้ เดิมมีกำหนดจะเปิดตัว Macan EV ตั้งแต่ปลายปี 2021 แล้ว นอกจากนี้ Audi ยังต้องเลื่อนการเปิดตัวรถ SUV EV Q6 e-tron สู่ตลาดในปีนี้หลายครั้งแล้ว
ปัจจุบัน Volkswagen Group ลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กับบริษัทสตาร์ทอัพ Xpeng และเข้ามาถือหุ้น 6.85% โดยทั้งสองบริษัทร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์สำหรับตลาดจีน และในชั้นนี้จะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก โดย Xpeng และ VW ได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้งานระบบปฏิบัติการฯ สำหรับจีนตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2026 เป็นต้นไป แต่ก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียดใด ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี และการออกแบบระบบดังกล่าว ซึ่งสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่นี้มีชื่อว่า “China Electronic Architecture” (CEA) คาดการณ์ว่า ระบบดังกล่าวน่าจะใช้อุปกรณ์ควบคุมน้อยกว่าสถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การติดตั้งการอัปเดตระบบแบบไร้สาย “ผ่านทางอากาศ” (Over the Air) ง่ายกว่าที่เคย นอกจากนี้ ยังทำให้สถาปัตยกรรมดังกล่าว และแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องมีโอกาสเกิดข้อผิดพลาดน้อยลงเพราะมีการติดตั้งคอมพิวเตอร์จำนวนน้อยลงนั้นเอง โดย Volkswagen ในขณะนี้ที่กำลังทำงานร่วมกับบริษัท Rivian ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในประเทศสหรัฐฯ ในด้านซอฟต์แวร์ก็ใช้หลักการเดียวกัน นาย Blume, CEO ประกาศกับนักลงทุนว่า จะส่งยานพาหนะคันแรกจากการร่วมงานดังกล่าวในช่วง “กลางครึ่งหลังของทศวรรษนี้” ในแวดวงในองค์กรมีการพูดกันว่า น่าจะใช้เวลาขั้นต่ำ 36 เดือน ในการปรับระบบปฏิบัติการทั่วไปเข้าหากัน
จากข้อมูลของ Volkswagen Group ปัจจุบันได้ส่งมอบรถยนต์จำนวน 1.35 ล้านคัน ให้แก่ลูกค้า ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนหน้า 7% โดยประมาณ แม้ว่า Volkswagen Group สามารถเพิ่มปริมาณการส่งมอบ EV ได้อย่างมีนัยสำคัญเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 คัน โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม Volkswagen Group มีส่วนแบ่งการตลาดรถ EV ในประเทศจีนประมาณ 3% เท่านั้น ในช่วงต้นปี 2023 รถยี่ห้อ Volkswagen สูญเสียความเป็นผู้นำในตลาดจีนเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ให้กับ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นในประเทศจีน เพื่อที่จะเชื่อมเวลาจนกระทั่งซอฟต์แวร์รุ่นถัดไป และสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดกลับคืนมา VW ได้เปิดตัวรถรุ่น ID.Unyx ในตลาดในเมืองเหอเฟยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รถรุ่นนี่ก็ยังไม่ได้ใช้สถาปัตยกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นในประเทศจีน แน่นอนที่ไม่ใช่แค่รถยี่ห้อ VW เท่านั้นที่กำลังดิ้นรนกับปัญหายอดจำหน่ายตกในจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัท ยอดจำหน่ายของรถยนต์ในเครือหรูของ Volkswagen Group อย่าง Porsche ก็ลดลงหนึ่งในสามในช่วงครึ่งแรกของปี แน่นอนทำให้เกิดความไม่พอใจต่อฝ่ายบริหารเพิ่มขึ้นในหมู่ตัวแทนจำหน่ายในประเทศจีนเนื่องจากยอดจำหน่ายที่ตกต่ำ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีการแจ้งให้ทราบว่า นาย Michael Kirsch ผู้บริหารในประเทศจีนจะถูกแทนที่โดยนาย Alexander Pollich หัวหน้าทีม Porsche Germany คนปัจจุบัน
จาก Handelsblatt 19 สิงหาคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : VW ปรับกลยุทธ์ใหม่รุกตลาดจีนอีกครั้ง