ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรเริ่มให้ความสนใจเรื่องอาหารแปรรูปสูง (Ultra-processed food – UPF) มากขึ้นหลังจากมีรายงานว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว แต่ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าอาหารที่ผ่านการแปรรูปสูงเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายอย่างแพร่หลายในตลาดและมีการบริโภคมาอย่างยาวนาน โดยจะพบอาหาร UPF ได้ในอาหารทั้งที่เป็นอาหารแปรรูปและอาหารสดที่มีการเพิ่มสารเคมีในผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบสีผสมอาหาร สารเติมความหวาน สารกันบูด วัตถุกันเสีย รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารอื่นๆ ที่ใส่เพื่อปรับปรุงรสชาติ หรือยืดอายุอาหาร เช่น เครื่องดื่มอัดลม ไอศกรีม บิสกิต เค้กหรือขนมอบ ไส้กรอก เบอร์เกอร์ นักเก็ตไก่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำว่าผู้บริโภคหลายคนที่มีความกังวลต่อการเลือกซื้ออาหารอาจพิจารณาเลือกอาหารได้จากการสังเกตฉลากที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ โดยสังเกตจากฉลากสีไฟจราจร (traffic light) ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ของอาหารและเครื่องดื่มที่วางจำหน่ายในห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตในสหราชอาณาจักร โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้ โดยสินค้ากว่า 2 ใน 3 ที่วางจำหน่ายในห้างค้าปลีกจะมีฉลากนี้แสดงอยู่บนบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ฉลากสีไฟจราจร
ข้อมูลที่แสดงบนฉลาก Traffic light เป็นการแสดงข้อมูลพลังงานจากอาหาร ไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล และเกลือ รวมถึงปริมาณอ้างอิงต่อการบริโภค โดยปรากฏหน่วยเป็นกรัม และกิโลจุล (KJ) หรือกิโลแคลอรี่ (kcal) ต่อ 100 กรัม หรือ 100 มิลลิกรัม โดยการใช้สีกำกับความเข้มข้นของสารอาหารหลักต่างๆ ว่าอยู่ในระดับใด ได้แก่ สีแดงคือระดับสูง สีเหลืองคือระดับปานกลาง และสีเขียวคือระดับต่ำ โดยสินค้าที่มีฉลากสีเขียวมากจะแสดงให้เห็นว่ายังอยู่ในระดับที่ดีต่อสุขภาพ และหากเป็นสีแดงมากจะเป็นระดับที่ต้องระมัดระวังในการบริโภค
บริษัท Nestle ได้ทำการสำรวจในปี 2022 พบว่าผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร 34% ไม่เข้าใจข้อมูลบนฉลาก traffic light แต่ 51% เห็นว่าฉลากมีผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและการบริโภค อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประกาศใช้ฉลาก traffic light ในปี 2018 ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียลได้รับผลกระทบจากระบบสีบนฉลาก ซึ่งซีเรียลอาหารเช้าส่วนใหญ่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง
ที่มา: The Guardia, NHS, New Food Magazine และ BBC News
ข้อมูลเพิ่มเติม/ ความเห็น สคต.
ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อ และบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่สินค้าที่วางจำหน่ายมีส่วนผสมของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อปรับปรุงรสชาติและยืดอายุอาหารมากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารอาจให้ฉลาก Traffic light เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น โดยผู้ผลิตไทยอาจศึกษาแนวทางในการจัดทำฉลาก Traffic light เพื่อเตรียมความพร้อมการส่งออก ได้ที่ https://www.food.gov.uk/sites/default/files/media/document/fop-guidance_0.pdf
อ่านข่าวฉบับเต็ม : Traffic Light Labels ในสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม