ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันส่งผลกระทบในวงกว้างหลายประเทศ รวมถึงภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นแหล่งผลิตสินค้าสำคัญของโลก ต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption) และกำลังการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าต่างมองหาหรือพิจารณาการย้ายฐานการผลิตไปประเทศใกล้เคียงหรือในประเทศที่ใกล้กับบริษัทแม่ (Nearshoring) มากขึ้น โดยภูมิภาคลาตินอเมริกาได้รับเลือกให้เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการย้ายฐานการผลิตจากผู้ผลิตสินค้ารายสำคัญของโลก เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและแรงงานที่มีทักษะ
โคลอมเบียเป็นประเทศจุดหมายหนึ่งในภูมิภาคลาตินอเมริกา ที่บริษัทจากต่างประเทศให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นต่อการ Nearshoring เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของการพึ่งพาแหล่งผลิตผลิตสินค้าเพียงไม่กี่แห่งและกระจายการผลิตสินค้าให้สามารถถึงมือผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยโคลอมเบียถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต้นทุนการผลิตสินค้าในระดับต่ำ การพัฒนาของแรงงานทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การจัดทำความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ ทั้งนี้ Nearshoring เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนของรัฐบาลโคลอมเบียตั้งแต่ปี 2562 โดยสามารถเพิ่มปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐจนถึงปี 2566 ที่การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจนเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน จากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในโคลอมเบีย ทั้งนี้ โคลอมเบียยังคงพัฒนาระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน เช่น การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการค้าบริการและอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การขยายการจัดทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่าง ๆ และการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง Nearshoring ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญหนึ่งในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโคลอมเบียในปี 2567 ต่อไป[1]
โคลอมเบียมีการจัดทำความตกลงทางการค้าที่มีผลใช้บังคับแล้วกับกลุ่มเศรษฐกิจ และประเทศต่าง ๆ รวม 17 ฉบับ ซึ่งมีจำนวนประเทศรวมกว่า 60 ประเทศ
ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าที่นำเข้ามายังโคลอมเบีย ประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 19% (สินค้าและบริการบางประเภทถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตรา 5% และ 0%) ทั้งนี้ อัตราการจัดเก็บภาษีศุลกากรมีความแตกต่างตามประเภทของสินค้า ได้แก่ (1) สินค้าทุน สินค้าอุตสาหกรรม และวัตถุดิบที่ไม่ได้ผลิตโคลอมเบีย อัตราภาษีอยู่ที่ 0% – 5% (2) สินค้าสำเร็จรูป อัตราภาษีอยู่ที่ 10% และ (3) สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอ่อนไหว อัตราภาษีอยู่ที่ 15% – 20% เช่น สินค้าเกษตรกรรม ยานพาหนะ เสื้อผ้า เป็นต้น นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าบางชนิด ต้องเสียภาษีอื่นเพิ่มเติม เช่น ภาษีสรรพสามิต (เบียร์ สุรา บุหรี่ รถยนต์บางประเภท น้ำมันเบนซิน) ภาษี คาร์บอน (เชื้อเพลิงฟอสซิล ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว) เป็นต้น ทั้งนี้ รัฐบาลโคลอมเบียยกเว้นภาษีนำเข้ากับสินค้าบางรายการ เช่น วัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่นำเข้าชั่วคราวสำหรับผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกไปยังต่างประเทศ
รัฐบาลโคลอมเบียมีการจัดพื้นที่เขตปลอดอากร หรือ Free Trade Zone เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าที่นำเข้า และพิธีการด้านศุลกากรผู้ประกอบการที่จัดตั้งธุรกิจในพื้นที่เขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การยกเว้นการเก็บภาษีรายได้ (corporate income tax) ภาษีศุลกากรในช่วงที่สินค้ายังคงอยู่ในเขตปลอดอากร โดยอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญในพื้นที่เขตปลอดอากร เช่น เทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณการผลิตในเขตปลอดอากร หรือการเพิ่มขนาดของพื้นที่ปลอดอากรส่งผลประโยชน์ในด้านการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มความประหยัดด้านขนาดของการผลิตสินค้า และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ตลาดส่งออกสินค้าที่สำคัญที่สุดของโคลอมเบีย ในปี 2566 คือ สหรัฐอเมริกา รองลงไปคือ จีน บราซิล ชิลี และตุรกี ตามลำดับ ซึ่ง Nearshoring จะช่วยให้สินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกามีราคาที่ถูกลง หากเปรียบเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในประเทศจีน หรือประเทศในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ โคลอมเบียมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเสริมสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของสินค้าจากโคลอมเบีย
บทวิเคราะห์ /ข้อคิดเห็นจาก สคต. ณ กรุงซันติอาโก
โคลอมเบียเป็นประเทศหนึ่งที่มีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจจากต่างประเทศ และจากรายงาน Ease of Doing Business ล่าสุดของธนาคารโลกที่เผยแพร่ในปี 2563 โคลอมเบียอยู่ในลำดับที่ 67 จาก 190 ประเทศ ในด้านความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ นำหน้าหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา เช่น บราซิล อาร์เจนตินา และเปรู นอกจากนี้ โคลอมเบียยังเป็นประเทศในลำดับที่ 13 ของโลกที่ให้การคุ้มครองนักลงทุนส่วนน้อยในประเทศ[1] โคลอมเบียยังคงพัฒนาระบบนิเวศน์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุน เช่น การพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการค้าบริการและอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ การขยายการจัดทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่าง ๆ การส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ (เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ลงทุนในการพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการดิจิทัล) การฝึกอบรมและให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทที่มีการจ้างงานผู้มีความสามารถในท้องถิ่น และการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม
หลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกามีความโดดเด่นด้านการผลิต และปัจจัยการผลิต เช่น ต้นทุนแรงงาน แรงงานทักษะ โครงสร้างพื้นฐาน และความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ ได้แก่
- เม็กซิโกมีชื่อเสียงในด้านภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ต้นทุนแรงงานที่ดี และความใกล้ชิดกับตลาดสหรัฐอเมริกา มีแรงงานที่มีทักษะและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาอย่างดี ทำให้เม็กซิโกเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดสำหรับการผลิต เม็กซิโกยังมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ค่อนข้างมั่นคงและมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ
- โคลอมเบียได้รับความสนใจในฐานะศูนย์กลางการผลิตในลาตินอเมริกา โดยมีต้นทุนค่าแรงที่แข่งขันได้ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ์ และเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต โคลอมเบียยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับหลายประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ
- ชิลีมีเศรษฐกิจที่มั่นคง แรงงานที่มีทักษะ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย บริษัทต่างชาติจำนวนมากได้ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาบุคลากรให้มีการศึกษาและทักษะที่ดี นอกจากนี้ ชิลีมุ่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
- เปรูมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เปรูเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการผลิต มีต้นทุนแรงงานที่แข่งขันได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่แข็งแกร่ง รัฐบาลเปรูได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ
- คอสตาริกามีความโดดเด่นในด้านแรงงานที่ได้รับการศึกษาและพูดได้สองภาษา ความมั่นคงทางการเมือง และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ คอสตาริกาวางตำแหน่งตัวเองเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทางการแพทย์
นอกเหนือจากประโยชน์ของกลยุทธ์ Nearshoring ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สคต. ณ กรุงซันติอาโก เห็นว่า กลยุทธ์ Nearshoring ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในด้านความสามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค นอกจากนี้ การพิจารณาใช้โคลอมเบียเป็นฐานการผลิตสินค้ายังเป็นประโยชน์ต่อการกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงโคลอมเบีย อาทิ เอกวาดอร์ ปานามา และคอสตาริกา การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้กลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้ารายสำคัญของโลกย้ายฐานการผลิต เพื่อช่วยให้สามารถจัดการกับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตที่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจะต้องพิจารณาหลายปัจจัย เช่น บรรยากาศทางการเมือง สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ กฎหมายท้องถิ่นและกฎระเบียบทางการค้า โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมการดำเนินงาน ความใกล้ Supplier และตลาดปลายทาง การวิเคราะห์ต้นทุน (ที่รวมถึงสาธารณูปโภคต่าง ๆ และค่าเช่าที่ดิน) แรงงานในมิติของค่าแรง คุณสมบัติด้านการศึกษา และระดับทักษะ และภาษีต่าง ๆ เป็นต้น
____________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
กุมภาพันธ์ 2567
[1] The World Bank- https://archive.doingbusiness.org/en/rankings
[1] E-Commerce and digital marketing company – https://filtaglobal.com/nearshoring-colombia/
Latin American Retail and Mass Consumption news – https://www.america-retail.com/colombia/colombia-como-destino-atractivo-para-el-nearshoring/
อ่านข่าวฉบับเต็ม : กลยุทธ์ Nearshoring ของโคลอมเบีย