(ที่มา : สำนักข่าว Yonhap News ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567)
กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้ เปิดเผยเป้าหมายเชิงนโยบายสำหรับปี 2567 โดยตั้งเป้าทำให้เกาหลีใต้เป็นผู้นำด้านวัฒนธรรมระดับโลก และส่งเสริมความสุขของประชาชนผ่านการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม
นาย ยูอินชอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว สาธารณรัฐเกาหลี ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ว่า กระทรวงฯ จะจัดสรรงบประมาณ 1.74 ล้านล้านวอน (1.31 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเกาหลีใต้ในตลาดคอนเทนต์โลก โดยเงินจำนวนดังกล่าวจะครอบคลุม “กองทุน K-content” มูลค่า 6 แสนล้านวอน ที่จะสนับสนุนการสร้างทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งงบประมาณนี้จะถูกนำไปบ่มเพาะกลุ่มธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น เกม หนังสือการ์ตูน และเว็บตูน เป็นต้น
ในปี 2565 การส่งออกของกลุ่มธุรกิจวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ สร้างสถิติที่ 1.324 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.3 (มูลค่าส่งออกในปี 2564 อยู่ที่ 1.245 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) สูงกว่าการส่งออกแบตเตอรี่ทุติยภูมิและเครื่องใช้ในบ้าน ทั้งนี้ รัฐบาลจะเพิ่มการสนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อก้าวสู่ตลาดโลก โดยคาดหวังว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลีที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น K-pop ซีรีส์ ภาพยนตร์ และเว็บตูน จะช่วยต่อยอดให้กับวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลจะเพิ่มการสนับสนุนการเผยแพร่ โอเปร่า บัลเล่ต์ ละครเพลง วิจิตรศิลป์ วรรณกรรม และงานหัตถกรรมของเกาหลีในต่างประเทศ ผ่านเครือข่ายสถาบันและกลุ่มศิลปวัฒนธรรมทั้งในเกาหลีและต่างประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีสที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นเวทีสำหรับการส่งเสริม วัฒนธรรมเกาหลีในเวทีระดับโลก โดยจะเริ่มตั้งแต่การแสดงเต้นเบรกแดนซ์ในเดือนพฤษภาคม และการแสดง โดยกลุ่มศิลปะระดับชาติ ที่จะช่วยสร้างสีสันให้แก่การแข่งขันกีฬานานาชาติในเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส
ไม่เพียงเท่านั้น ในเดือนกรกฎาคมจะมีนิทรรศการที่นำเสนอความเป็นศิลปะของเกาหลี ตามด้วยงานแสดง สินค้าในธีม “ฮันรยู” หรือกระแสความนิยมเกาหลี และคอนเสิร์ต K-pop ซึ่งจัดโดยหน่วยงานรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องใน เดือนกันยายน นอกจากนี้ รัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการหนังสือ และการท่องเที่ยวเกาหลีแบบสัญจร รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศ
สำหรับการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการของประชาชน รัฐบาลจะเริ่มทดลองใช้ “youth culture and arts pass” ช่วงปลายเดือนมีนาคม โดยจะให้เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 19 ปี สามารถเข้าชมการแสดง และนิทรรศการวัฒนธรรมและศิลปะโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายในวงเงินสูงสุด 150,000 วอนต่อคน นอกจากนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนการลาพักร้อนของคนทำงานกว่า 150,000 คน และมอบบัตรส่วนลดค่าที่พักจำนวนสูงสุด 450,000 ใบ ทั้งนี้ ในแผนทั้งหมดที่รัฐบาลประกาศ จะรวมถึงแผนการส่งเสริมการเล่นกีฬาประจำวัน ของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกีฬาให้ก้าวไปข้างหน้า
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า เกาหลีใต้นับเป็นประเทศแบบอย่างในการริเริ่มนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสื่อและวัฒนธรรม โดยรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนและมีการดำเนินการสนับสนุนนโยบายอย่างต่อเนื่อง จนสร้างอิทธิพลไปทั่วโลก ในปีนี้ รัฐบาลพร้อมที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวนมากที่ในประวัติศาสตร์ สำหรับการส่งเสริมแวดวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทย ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในเกาหลีใต้และเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนเกาหลีคือ อาหารไทย เช่น ผัดไทย ปูผัดผงกะหรี่ นวดแผนไทย มวยไทย กางเกงช้าง ซึ่ง สคต. โซล ได้ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในทุกโอกาส เพื่อที่จะให้ชาวเกาหลีบริโภคสินค้าและบริการไทยมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยในตลาดโลก จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วนและควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพัฒนาทักษะและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการธุรกิจก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดโลก
อ่านข่าวฉบับเต็ม : กระทรวงวัฒนธรรมฯ ตั้งเป้าผลักดันให้เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้นำด้านวัฒนธรรม