หน้าแรกTrade insight > ชาวรัสเซียใช้จ่ายรายเดือน (ออฟไลน์) ประมาณครึ่งหนึ่งไปกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและการบริการจัดทำอาหาร

ชาวรัสเซียใช้จ่ายรายเดือน (ออฟไลน์) ประมาณครึ่งหนึ่งไปกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและการบริการจัดทำอาหาร

ผลการศึกษาของ Tinkoff Business ระบุว่า ในปี 2023 ชาวรัสเซียซื้อสินค้าในทุกกลุ่มของธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ (Offline Retail Business) ในภาพรวมเพิ่มขึ้น 8% มากกว่าปีก่อนหน้า โดยประมาณครึ่งหนึ่งของการใช้จ่ายรายเดือนของชาวรัสเซียที่ซื้อสินค้าจากสถานที่ต่างๆ (ออฟไลน์) เป็นการใช้จ่ายไปกับซุปเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) และการบริการจัดทำอาหาร ณ ที่สาธารณะ (Public Cater-ing) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้เชื่อมโยงแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวรัสเซีย และพัฒนาการของวัฒนธรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของชาวรัสเซีย ท่ามกลางความนิยมของร้านอาหารและมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ Tinkoff Business ได้ระบุว่า  ในปี 2023 (เมื่อเทียบกับปี 2022) ชาวรัสเซียซื้อสินค้าในร้านขายของชำ (Grocery Stores) เพิ่มขึ้น 9% และในร้านอาหารและคาเฟ่ (Restaurants and Café) เพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่ผลประกอบการ  (Turnover) ของซุปเปอร์มาร์เก็ตเพิ่มขึ้น 4% และการบริการจัดทำอาหาร (Catering) เพิ่มขึ้น 9%  นอกจากนี้ ในปี 2023 ผลประกอบการของธุรกิจค้าปลีกออฟไลน์ทั้งหมดมีสัดส่วนของกลุ่มอาหารคิดเป็น 38% และสัดส่วนของกลุ่มบริการจัดทำอาหาร (Catering Sector) คิดเป็น 13% และหากพิจารณาจากจำนวนธุรกรรม กลุ่มอาหารและการบริการจัดทำอาหารมีสัดส่วนคิดเป็น 79% ของการซื้อทั้งหมด

 

ในส่วนสินค้าอื่นๆ ในปี 2023 เครื่องใช้ในครัวเรือน เฟอร์นิเจอร์ และเสื้อผ้า มีจำนวนการซื้อลดลง 7%  12% และ 2% ตามลำดับ โดยสินค้าดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการถอนตัวออกไปของแบรนด์ต่างประเทศ ประกอบกับอัตราการทดแทนการนำเข้าสินค้าดังกล่าวก็ยังไม่สูงนัก ทั้งนี้  Mr. Vladimir Smirnov ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนา (Development Director) ของ Brandshop ได้อธิบายว่า จำนวนการซื้อเสื้อผ้าที่ลดลงในการค้าปลีกออฟไลน์อาจอธิบายได้ด้วยพัฒนาการของตลาด โดยตลาดซื้อขายสินค้าต่างๆ (Marketplaces) มักจะมีโปรแกรมความภักดีและอำนวยความสะดวกในการขนส่ง (Logistics and Loyalty Programs) ซึ่งผู้ซื้อที่คุ้นเคยกับการจัดส่ง (De-livery) จะไม่เสียเวลาเดินทางไปที่ร้านค้าปลีกออฟไลน์ แต่จะทำการสั่งซื้อ ณ เวลาและสถานที่ที่สะดวกสำหรับตน

 

Mr. Leonid Nazarov หัวหน้าฝ่ายการจัดการผลิตภัณฑ์ (Head of Product Management) ของ Tinkoff Business ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดาบริษัทค้าปลีก บริษัทที่จะประสบความสำเร็จ คือ บริษัทที่มีการขายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยผลประกอบการของบริษัทดังกล่าว จะสูงกว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางค้าปลีก (ออฟไลน์) เพียงอย่างเดียว โดยเฉลี่ยถึง 3 เท่า และสูงกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจผ่านช่องทางการขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า

 

Ms. Olga Lebedinskaya รองศาสตราจารย์ ภาควิชาสถิติ มหาวิทยาลัย Plekhanov Russia University of Economics ได้ระบุว่า มีเหตุผลที่ทำให้การใช้จ่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ต และการบริการจัดทำอาหาร เพิ่มขึ้น เช่น (1) คนจำนวนมากปฏิเสธที่จะเตรียมอาหารที่บ้าน และชอบรับประทานอาหารค่ำในร้านคาเฟ่ต่างๆ และ (2) ความปรารถนาเบื้องต้นของประชาชนในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของตน เป็นต้น นอกจากนี้ Ms. Elena Khlebnikova ที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการรับรองวิทยฐานะโดยกระทรวงการคลัง (Ministry of Finance) ได้ระบุว่า ด้วยพัฒนาการของเศรษฐกิจ ผู้คนจึงหันมาจับจ่ายใช้สอยอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายและการมีเวลาว่างมากขึ้น อีกทั้งยังสนใจข้อเสนอที่หลากหลายในตลาดร้านอาหารด้วย ทั้งนี้ การใช้จ่ายด้านอาหารที่เพิ่มขึ้นสามารถเป็นตัวบ่งชี้ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น และยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของร้านอาหารและอุตสาหกรรมอาหารซึ่งจะส่งผลให้มีการสร้างงานและพัฒนาผู้ประกอบการในด้านนี้ด้วย

 

Mr. Nikolai Pereslavsky หัวหน้าแผนกสนับสนุน  (Head of the “Support” Department) ของ CMS Group  ได้ระบุว่า การลดลงของอุปทานในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงอื่นๆ (อสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ การเดินทาง) ก็น่าจะมีผลต่อเรื่องนี้ เพราะการที่ไม่สามารถสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีราคาแพงดังกล่าว ได้นำไปสู่การทดแทนด้วยอาหารและความปรารถนาที่จะออกไปในที่สาธารณะ (เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน) นอกจากนี้ ข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิดในอดีตก็น่าจะส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะประชาชนไม่ต้องการนั่งอยู่ที่บ้านอีกต่อไป

 

จากผลการศึกษาของ Tinkoff Business และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวข้างต้นสะท้อนให้เห็นแนวโน้มของธุรกิจค้าปลีกอาหารและการบริการจัดทำอาหารในรัสเซียที่เติบโตไปในแนวบวก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอาหารและบริการจัดทำอาหารที่สนใจตลาดรัสเซีย ก็ยังมีโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้

 

ที่มา: They ate it, period: half of Russians’ offline spending went to supermarkets and catering: Why the share of such spending is growing and how the culture of eating out affects the retail business (https://iz.ru/1647235/emma-shchukina/seli-i-tochka-polovina-raskhodov-rossiian-v-oflaine-prishlas-na-supermarkety-i-obshchepit)

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ชาวรัสเซียใช้จ่ายรายเดือน (ออฟไลน์) ประมาณครึ่งหนึ่งไปกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและการบริการจัดทำอาหาร

Login