หน้าแรกTrade insightข้าว > ราคาสินค้าและความต้องการสินค้าช่วงเดือนรอมฎอนบังกลาเทศ

ราคาสินค้าและความต้องการสินค้าช่วงเดือนรอมฎอนบังกลาเทศ

ราคาสินค้าและความต้องการสินค้าช่วงเดือนรอมฎอนบังกลาเทศ

รายงานข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 กระทรวงพาณิชย์ของบังกลาเทศแสดงความจำนงขอซื้อน้ำตาลปริมาณ 50,000 ตัน และหัวหอมปริมาณ 20,000 ตันจากอินเดีย กำหนดส่งมอบก่อนเดือนรอมฎอน (กลางมีนาคม) ผ่านการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของทั้งสองประเทศ แบบรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศประมาณการว่าในช่วงเดือนรอมฎอนบังกลาเทศมีความต้องการน้ำตาลเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณ 2 เท่า จากเดือนละ 1.5 แสนตัน เป็น 3 แสนตัน

นายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina สั่งการให้ กระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศ บริหารจัดการให้มีสินค้าอาหารพื้นฐานเพียงพอในช่วงการถือศีลอด (รอมฎอน) ได้แก่ น้ำตาล ถั่ว น้ำมันปาล์ม อินทผาลัม และควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศได้ประกาศลดภาษีนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภค เพื่อบีบให้ผู้ประกอบการที่กักตุนสินค้าระบายสินค้าสู่ตลาด อย่างไรก็ดี เพื่อเพิ่มทางเลือกในการจัดหาสินค้าและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาสินค้าเพิ่มขี้น บังกลาเทศ วางแผนนำเข้าสินค้าอาหารจากต่างประเทศในระยะสั้น ได้แก่ น้ำตาลทรายและน้ำมันปาล์ม หอมแขก ในระยะยาวบังกลาเทศต้องการน้ำตาลดิบเพื่อมาป้อนโรงงานน้ำตาลในประเทศเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์

ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในบังกลาเทศกำลังถีบตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในครัวเรือนและเครื่องประกอบอาหารประจำวัน นอกจากเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนแล้ว ยังมาจากสภาพแวดล้อมทางการผลิตที่ไม่เอิ้ออำนวย รวมทั้งการฉวยโอกาสของพ่อค้าคนกลาง

รายงานราคาสินค้าประจำสัปดาห์ในตลาดท้องถิ่น โดยบรรษัทการค้าบังกลาเทศ Trading Corporation of Bangladesh (TCB) เผยว่า ราคาหัวหอมที่ปลูกในประเทศ กิโลกรัมละ  90-100 ตากา  เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10-20 ตากาต่อกิโลกรัม ส่วนราคาหัวหอมนำเข้าอยู่ที่ 85-90 ตากาต่อกิโลกรัม ราคาสินค้าเครื่องประกอบอาหารอื่นๆ เช่น กระเทียม และขิง เพิ่มขึ้น 10 ตากาต่อกิโลกรัม จาก 230-260 ตากา เป็น 240-270 ตากาต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาพืชผักอื่นต่างๆ ขึ้นในระดับราคาเดียวกัน เช่น  ถั่ว มะเขือยาว และมะเขือเทศขายในราคา 60 -100 ตากา มันฝรั่งราคา  50-60 ตากาต่อกิโลกรัม มะระขี้นกราคา 80 ตากาต่อกิโลกรัม กระเจี๊ยบเขียว  80-100 ตากาต่อกิโลกรัม. แตงกวา 80 ตากาต่อกิโลกรัม ตำลึง 80 ตากาต่อกิโลกรัม หัวไชเท้าและแครอท 50-60 ตากาต่อกิโลกรัม มะละกอดิบ 40 ตากาต่อกิโลกรัม ถั่วแขก 100-110 ตากาต่อกิโลกรัม บวบ 70-75 ตากาต่อกิโลกรัม ฟักทอง (ขนาดกลาง) 80-100 ตากาต่อกิโลกรัม ดอกกะหล่ำและบรอกโคลี 50-70 ตากา/ชิ้น ฟักเขียว ราคา 50-60 ตากาต่อชิ้น ผักชีราคา 200 ตากาต่อกิโลกรัม พริกแดง ราคา 300-370 ตากาต่อกิโลกรัม โดยขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ

ในส่วนราคาสินค้าเนื้อสัตว์ ราคาสินค้ายังคงสูง  ราคาสินค้าไก่เนื้อ 200–220 ตากาต่อกิโลกรัม ไก่ Sonaly (พันธุ์พื้นบ้าน)  ราคา 320–340 ตากาต่อกิโลกรัม ส่วนเนื้อวัวราคา 700 ตากาต่อกิโลกรัม ราคาไข่เพิ่มขึ้นโหลละ 5-7 ตากา  โดยไข่ไก่ ราคาจำหน่ายต่อโหลอยู่ที่ 140-145 ตากา  ไข่เป็ดขายในราคาโหลละ 180-190 ตากา ในขณะที่ไข่ไก่เลี้ยงพื้นเมืองขายในราคา 210 ตากาต่อโหล

ราคาปลาที่จำหน่ายในสัปดาห์นี้ ปลาขนาดเล็ก เช่น ปลานิล ปลาสวาย และปลาตะเพียน ขายในราคา 220 -260 ตากาต่อกิโลกรัม ส่วนปลาอื่นๆ ขนาดกลางที่มีน้ำหนัก 1.5 – 2 กิโลกรัม ได้แก่ ปลา ยี่สก, ปลากระโห้เทศและปลานวลจันทร์เทศขายอยู่ที่ 300-400 ตากาต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ ปลากด ปลากราย และปลาตะลุมพุก ราคาไม่ต่ำกว่า 600 ตากาต่อกิโลกรัม ปลาประเภทเดียวกันนี้ที่มีขนาดใหญ่กว่า หรือ ตัวละ 2 กิโลกรัมขึ้นไป ราคา 700-1,100 ตากาต่อกิโลกรัม

ความเห็นสำนักงาน

ปัญหาสินค้าราคาแพงของบังกลาเทศ สะท้อนความเปราะบางด้านความมั่นคงทางอาหารและปัญหาในการตรวจสอบควบคุมผู้ประกอบการ แม้ว่าบังกลาเทศ ผลิตสินค้าเกษตรได้มากขึ้นโดยเฉพาะข้าวจนสามารถลดการนำเข้าลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังต้องสั่งซื้อสินค้าบางรายการจากต่างประเทศ เช่น หอมหัวใหญ่ หอมแขก และถั่วเลนทิล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารในชีวิตประจำวัน โดยเชื่อกันว่าบริษัทผู้นำเข้ารายใหญ่มักร่วมมือกันกักตุนสินค้าเพื่อให้ราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลบังกลาเทศจะใช้มาตรการป้องปราม และไม่ใช้มาตรการเด็ดขาด ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมรายใหญ่ มักจะมีเครือข่ายเป็นนักการเมืองหรือมีอำนาจหน้าที่ในคณะรัฐบาล ดังนั้น เมื่อใดที่เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอาหาร บังกลาเทศมักจะลดภาษีนำเข้าสินค้า โดยหวังว่าจะมีการนำเข้าสินค้าในราคาต้นทุนที่ต่ำลง และจะมีสินค้าในตลาดมากขึ้น จะทำให้ผู้ค้ารายใหญ่ต้องลดราคาสินค้าลงตามไปด้วย รวมทั้งบังกลาเทศมักขอความช่วยเหลือจากอินเดีย ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียตอบสนองได้รวดเร็วและการขนส่งทำได้โดยสะดวกสะดวกผ่านจุดผ่านแดนทางบก

——————

สคต. ณ กรุงธากา
กุมภาพันธ์ 2567

ที่มา ข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น/TCB

ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท = 3.06 ตากา

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ราคาสินค้าและความต้องการสินค้าช่วงเดือนรอมฎอนบังกลาเทศ

Login