หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ลิเทียมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหารสหรัฐฯ กับโอกาสของไทย

ลิเทียมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหารสหรัฐฯ กับโอกาสของไทย

ภาพหน้าปก CHIPS for America: A Strategy for the CHIPS for America Fund
จัดทำโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2022

เนื้อหาสาระข่าว: จากที่สัปดาห์ก่อนมีเผยแพร่ข่าวว่ามีการค้นพบปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ (Mineral Resource) กว่า 14 ล้านตัน ซึ่งในจำนวนนี้มีการคาดการณ์กันว่ามี “แร่ลิเทียม” และรวมถึงแร่อื่น ๆ ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีอีกมากมาย ผสมอยู่ในนั้นด้วยปริมาณไม่น้อยที่กำลังรอการตรวจสอบยืนยันปริมาณแร่ที่สามารถดึงศักยภาพมาใช้ประโยชน์ได้จริงอีกครั้ง ทำให้เป็นที่ฮือฮาในประเทศไทย และเป็นข่าวใหญ่ในสื่อระดับโลกชื่อดังหลายสำนักเลยทีเดียว ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สหรัฐฯ ในฐานะหนึ่งในประเทศผู้ผลิตสินค้ามากมายซึ่งมีส่วนประกอบของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ทำมาจากลิเทียมตั้งแต่สมาร์ทโฟนจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ภาคสังคมและนักวิชาการกำลังถกเถียงกันถึงแนวทางนโยบายของสหรัฐฯ ในการแสวงหาความยั่งยืนของ Supply Chain แร่ลิเทียมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง

Ellen Wald ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านกิจการพลังงานแห่ง Atlantic Council สถาบันวิจัยด้านนโยบายระหว่างประเทศอันเก่าแก่ของสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงสภาพปัญหาที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่จากการที่ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบแร่ลิเทียมรวมถึงอุปกรณ์ที่ทำจากลิเทียมจากต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณความต้องการลิเทียมของภาคส่วนต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่บริษัททุนผลิตอุปกรณ์เทคโนโลยี และยานพาหนะซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วนั้น Ellen ยังได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ทางความมั่นคงภายใน (National Security) จากการที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน (Lithium-Ion Battery) ชนิดพิเศษซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า คุณภาพสูงกว่า จ่ายกำลังไฟได้เข้มข้นมากกว่า และถูกออกแบบให้มีความคงทนมากกว่าแบตเตอรี่ทั่วไปเพื่อใช้สำหรับกิจการทางการทหารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในอาวุธยุทโธปกรณ์ อาทิ เครื่องบินรบ F-35 ขีปนาวุธหรือมิสไซล์ โดรน และวิทยุ โดยในปัจจุบันแหล่ง Supply ของแบตเตอรี่ประเภทนี้ยังคงไม่แน่นอนและอุตสาหกรรมในภาคธุรกิจยังคงขาดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนหรือเพิ่มสายการผลิตเป็นการเฉพาะ และสถานการณ์จะลำบากยิ่งขึ้นไปถ้าหากสหรัฐฯ จำต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์ประเภทนี้จากจีนเป็นหลัก ทำให้ในภาพรวมแล้วนักวิเคราะห์เห็นว่าสหรัฐฯอาจเผชิญกับภัยความมั่นคงทางเศรษฐกิจและทางการทหารหากยังอยู่ในสภาวะพึ่งพาจีนเป็นหลักต่อไปอย่างนี้

ในปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีความพยายามที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ในทางนโยบาย โดยนโยบายที่เป็นที่พูดถึงกันมากที่สุดก็คือ Inflation Reduction Act (IRA) ซึ่งมีใจความสำคัญอยู่ที่มาตรการทางเครดิตภาษี (Tax Credit) สำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีส่วนประกอบในแบตเตอรี่ อาทิ ลิเทียม โคบอลท์ และนิเกิล ที่ได้มาจากการผลิตในสหรัฐฯ หรือนำเข้าจากประเทศที่สหรัฐฯมีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ Free Trade Agreement (FTA) ด้วย อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นดาบสองคมเนื่องจากความพยายามที่จะเลี่ยงการนำเข้าอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่าง ๆ จากจีน ในขณะที่สหรัฐฯเองมีประเทศสำรองที่อยู่ใน FTA ซึ่งมีศักยภาพสูงเทียบเท่าในด้านการแปรรูปทรัพยากรแร่ (Refining) และปริมาณที่ยังไม่เพียงพอ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าอาจกระทบต่อความต้องการของตลาด และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการผลิตภายในสหรัฐฯ ต่อไป นักวิเคราะห์จึงสรุปว่านโยบายในการสร้างแรงจูงใจนี้กำลังแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้สหรัฐฯ แต่กำลังก่อปัญหาด้านความมั่นคงภายในอีกทางหนึ่งหรือไม่

ความพยายามในการแสวงหาแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์จากลิเทียมของสหรัฐฯ ยังคงดำเนินต่อไป โดยใน 3 ไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาสหรัฐนำเข้าลิเทียม 55.8% มาจากประเทศที่มี FTA ด้วย ซึ่งชิลีปรากฎความเด่นชัดมากที่สุด ในขณะที่การนำเข้าโคบอลท์จากประเทศที่มี FTA นั้น สหรัฐฯ มีปริมาณเพียง 38.4% ซึ่งก็ชัดเจนว่ายังคงพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศที่สหรัฐฯไม่มี FTA ด้วยมากกว่า

บทวิเคราะห์: ข้อมูลจากรายงานจากการสำรวจข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์สหรัฐฯ (U.S. Geological Survey) โดยกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ในปี 2023 ระบุไว้ว่าปริมาณแหล่งแร่ลีเทียมที่ได้ทำการสำรวจพบแล้วทั่วโลกมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 98 ล้านต้น ซึ่งภายในสหรัฐฯ เองมีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 12 ล้านตัน โดยนับรวมจากแหล่งที่มาทุกประเภท ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่มีสำรองในปริมาณมหาศาล 10 อันดับแรกได้แก่ 1. โบลิเวีย (21 ล้านตัน) 2. อาร์เจนตินา (20 ล้านตัน) 3. ชิลี (11 ล้านตัน) 4. ออสเตรเลีย (7.9 ล้านตัน) 5. จีน (6.8 ล้านตัน) 6. เยอรมัน (3.2 ล้านตัน) 7. คองโก (3 ล้านตัน) 8. แคนาดา (2.9 ล้านตัน) 9. เม็กซิโก (1.8 ล้านตัน) และ 10. สาธารณรัฐเช็ก (1.3 ล้านตัน) อนึ่ง ณ เวลาที่ทำการสืบค้นข้อมูลยังไม่ปรากฎข้อมูลจากประเทศไทย

แผนภาพที่ 1: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้ากลุ่มสินค้าลีเทียมมายังสหรัฐฯ จากประเทศคู่ค้า 10 อันดับแรก เปรียบเทียบกับประเทศไทย โดยนับรวมเฉพาะ 5 อันดับสินค้าที่มีการนำเข้ามายังสหรัฐฯมากที่สุด ได้แก่ 1. Lithium-Ion Storage Batteries, nesoi (HS Code 8507600020) 2. Lithium-Ion Storage Batteries of a kind used as the Primary Source of Electrical Power for Electrically-Powered Vehicles (HS Code 8507600010) 3. Aluminum Alloy Profiles, Heat-Treatable (HS Code 7604291010) 4. Primary Batteries Lithium (HS Code 8506500000) 5. Lithium Carbonates, expect U.S.P. Grade, nesoi (HS Code 2836910050) ปริมาณเรียงตามลำดับ

ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลจาก แผนภาพที่ 1 จะสรุปได้ว่าประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกกลุ่มสินค้าลิเทียมมายังสหรัฐฯนั้นไม่สัมพันธ์ปริมาณสำรองของแร่ลิเทียมที่แต่ละประเทศมีเสมอไป โดยปัจจัยที่ทำให้รูปการณ์เป็นอย่างนั้นอาจเป็นได้หลายประการ อาทิ เทคโนโลยีในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ เทคโนโลยีและองค์ความรู้ในการสำรวจแร่ ในกระบวนการถลุงแร่ แปรรูป และกระบวนการผลิตเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ทั้งหลาย จนถึงความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีกับสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงข้อตกลงทางการค้าพิเศษที่แต่ละประเทศมีไม่เหมือนกัน บางประเทศมี FTA ในขณะที่บางประเทศแม้จะไม่มี FTA แต่ก็สามารถทำข้อตกลงการค้าเฉพาะเรื่อง เช่น Critical Minerals Agreement ซึ่งสหรัฐฯจัดทำขึ้นกับญี่ปุ่นในปี 2023 เป็นต้น

ในส่วนของประเทศไทยนั้น แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่ใช่คู่ค้ารายสำคัญสำหรับกลุ่มสินค้าลิเทียมกับสหรัฐฯ และยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าเสรีต่อกัน (อยู่ระหว่างการเจรจา) แต่ข่าวความเป็นไปได้ในค้นพบแหล่งแร่ลิเทียมแหล่งใหม่ในไทยทำให้ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเช่นกัน โดยสหรัฐฯยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อแสวงหาและพัฒนาแหล่งวัตถุดิบและการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ตลอด อย่างในล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศการลงทุนเพิ่มเติมกว่า 160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการ CHIPS for America ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พรบ. CHIP and Science Act เพื่อการพัฒนาด้านนี้โดยเฉพาะ

      

แผนภาพที่ 2: แสดงข้อมูลมูลค่าการนำเข้ากลุ่มสินค้าลีเทียมจากประเทศไทยมายังสหรัฐโดยนับรวมเฉพาะ 5 อันดับสินค้าที่มีการนำเข้ามายังสหรัฐฯมากที่สุดตามข้อมูลในแผนภาพที่ 1

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: จากข้อมูลทั้งหมดคงจะทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าแร่ลิเทียมจะมีความสำคัญสำหรับโลกในอนาคตต่อไป (จากการประเมินในปัจจุบัน) ในฐานะที่เป็นแร่สำคัญสำหรับแหล่งพลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ได้กับยานพาหนะ อุปกรณ์สื่อสาร จนถึงอาวุธทางการทหารเลยทีเดียว สหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในสถานะประเทศผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของสินค้าที่ได้กล่าวไปนั้น แม้ในสภาวะที่ปราศจากการแข่งขันหรือความขัดแย้งก็มีความต้องการสูงอยู่แล้ว ดังนั้น การที่ประเทศไทยประกาศความเป็นไปได้ในการกลายเป็นแหล่งแร่ลิเทียมแห่งใหม่ แหล่งใหญ่ของโลก จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเตรียมตัวด้านต่อไปนี้

  1. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อการส่งออกสินค้าลิเทียมมายังสหรัฐฯ
    อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแม้ในปัจจุบันไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าเสรี หรือเฉพาะสำหรับกลุ่มสินค้าเหล่านี้กับสหรัฐฯ แต่ในระหว่างกระบวนการผู้ประกอบการไทยควรแสวงหาบริษัทคู่ค้าในสหรัฐฯ เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่าบริษัทเอกชนรายใหญ่บางเจ้าในสหรัฐฯ สามารถทำข้อตกลงเฉพาะระหว่างบริษัทส่งออก – นำเข้าเพื่อพันธมิตรทางการค้าได้ เช่นในกรณีของบริษัท Albemarle’s Chile กับ Ford ในสหรัฐฯ
  1. ศึกษาการผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มเพื่อเป็นทางเลือกในการส่งออก
    ในตอนต้นที่ได้กล่าวถึงอุปกรณ์เฉพาะบางประเภท ที่สหรัฐฯ ยังหาแหล่งนำเข้าที่ผลิตได้ และไว้ใจได้ยาก เช่น แบตเตอรี่ชนิดพิเศษ (Specialized Batteries) สำหรับการทหารซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างสูง โดยผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพควรหาโอกาสเข้าร่วมงานในงานแสดงยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีด้านการทหารและความปลอดภัย เช่น Defense and Security Expo / Conference ในไทยและในสหรัฐฯ โดยในเบื้องต้นสามารถติดตามรายละเอียดกำหนดการของงานได้ทาง https://www.militaryexpos.com/

*********************************************************
ที่มา: Atlantic Council
เรื่อง: “The US wants to end its reliance on Chinese lithium. Its policies are doing the opposite.”
โดย: Ellen Wald
สคต. ไมอามี /วันที่ 24 มกราคม 2567

แหล่งข้อมูลประกอบการจัดทำเพิ่มเติม:
1. เรื่อง: US EV policy likely to give free trade agreement nations a lift
    ที่มา: S&P Global Commodity Insights
2. เรื่อง: Biden-Harris Administration Announces CHIPS Preliminary Terms with Microchip Technology to Strengthen Supply Chain
Resilience for America’s Automotive, Defense, and Aerospace Industries

    ที่มา: U.S Department of Commerce และ National Institute of Standards and Technology
3. เรื่อง: MINERAL COMMODITY SUMMARIES 2023
    ที่มา: U.S. Department of the Interior

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ลิเทียมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการทหารสหรัฐฯ กับโอกาสของไทย

Login