หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > อย่ารอช้า….ประตูสู่การค้ากับโรมาเนียกับบัลแกเรียเป็นตลาดที่รอนักธุรกิจที่จับตลาดใหม่ได้เร็ว

อย่ารอช้า….ประตูสู่การค้ากับโรมาเนียกับบัลแกเรียเป็นตลาดที่รอนักธุรกิจที่จับตลาดใหม่ได้เร็ว

📰 ข่าวเด่นประจำเดือนมกราคม 2567 โดย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

 

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2566 ที่ประชุมประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่เป็นสมาชิกเขตเชงเก้น (Schengen Area) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกจุดตรวจหนังสือเดินทาง สำหรับการเข้า-ออกทางอากาศและทางทะเล ระหว่างประเทศสมาชิกเขตเชงเก้น กับโรมาเนียและบัลแกเรีย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

 

ก่อนหน้านี้ ออสเตรียและเนเธอร์แลนด์คัดค้านการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย โดยอ้างว่าการลักลอบเข้าเมืองมายังยุโรปตะวันตก มักจะมาจากทางโรมาเนียและบัลแกเรีย แต่แน่นอนว่า ทั้งสองประเทศปฏิเสธ และระบุว่าได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรปในการควบคุมพรมแดนระหว่างประเทศและสกัดกั้นผู้หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด อย่างไรก็ดี ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในออสเตรีย Mr. Gerhard Karner ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเข้าเป็นสมาชิกเชงเก้นของทั้งสองประเทศมาตลอด มีทิศทางอ่อนลง โดยเสนอให้เริ่มนำร่องการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของทั้งสองประเทศ ด้วยการยกเลิกการควบคุมพรมแดนทางอากาศและทางทะเล แลกกับมาตรการรักษาความปลอดภัยชายแดนที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยออสเตรียเสนอตัวช่วยโรมาเนียและบัลแกเรียทางเทคนิค ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่รัฐของออสเตรียที่มีความเชี่ยวชาญกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองและการติดตั้งระบบสารสนเทศ ไปช่วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของทั้งสองประเทศ

 

ในขั้นต่อไป ประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นจะต้องหารือกัน เพื่อยกเลิกการควบคุมพรมแดนเขตเชงเก้นทางบกเพื่อให้โรมาเนียและบัลแกเรียเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นเต็มตัว ด้านคณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่าจะได้ข้อยุติภายในปี 2567 นี้ โดยมองว่าการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย จะส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้มากขึ้น รวมทั้ง เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการกระตุ้นภาคการค้าและการลงทุนในภูมิภาคนี้ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนความพยายามฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่วิกฤตโรคโควิด-19

 

ความตกลงเชงเก้น (Schengen Agreement) เป็นความตกลงระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป มีจำนวนประเทศทั้งหมด 26 ประเทศ โดยภายใน 26 ประเทศนี้ อนุญาตให้พลเมืองของประเทศสมาชิกฯ เดินทางในเขตเชงเก้น โดยไม่ต้องถือหนังสือเดินทาง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้พลเมืองจากประเทศที่สามนอกสหภาพฯ ที่ถือวีซ่าเชงเก้น สามารถพำนักในระยะสั้นไม่เกิน 90 วันได้ ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรพำนักของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป มีสิทธิเดินทางข้ามประเทศได้เสรีภายในเขตเชงเก้น โดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกครั้ง ปัจจุบัน ณ เดือนมกราคม 2567 ประเทศสมาชิกเขตเชงเก้นที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี กรีซ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ลักเซมเบิร์ก มอลต้า เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส สโลวาเกีย สโลวีเนีย สเปน และสวีเดน ทั้งนี้ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ได้ลงนามในข้อตกลงเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นแล้ว แต่มิได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

 

💭 ข้อคิดเห็นของ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ 💭

การยกเลิกจุดตรวจหนังสือเดินทาง สำหรับการเข้า-ออกทางอากาศและทางทะเลของโรมาเนียและบัลแกเรียในการเข้าออกเขตเชงเก้น นับเป็นข่าวดีต้อนรับปีใหม่ทั้งสำหรับชาวโรมาเนีย ชาวบัลแกเรีย และผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตเชงเก้น เพราะสามารถเดินทางท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจระหว่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น รวมถึงชาวไทยด้วย เนื่องจาก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลโรมาเนียและบัลแกเรียทั่วโลก จะสามารถออกวีซ่าเชงเก้นสำหรับการเดินทางระยะสั้นไม่เกิน 90 วัน ให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามนอกสหภาพยุโรป รวมทั้งชาวไทย เพื่อใช้เดินทางเข้าเขตเชงเก้นได้ โดยการเข้าเขตเชงเก้นครั้งแรกนั้น จะต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและตรวจหนังสือเดินทาง ณ ประเทศสมาชิกเชงเก้นที่เดินทางเข้าเป็นประเทศแรก (Member state of first entry) ตามปกติ และเมื่อเดินทางเข้ามาในเขตเชงเก้นแล้ว ก็จะสามารถเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ในเขตเชงเก้นได้โดยไม่ต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอีก

 

สำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวไทยที่ต้องการเดินทางมายังโรมาเนียหรือบัลแกเรียจากประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือทางเครื่องบิน สามารถขอวีซ่าเชงเก้นเพื่อเดินทางเข้าโรมาเนียหรือบัลแกเรียได้ โดยจะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองและตรวจหนังสือเดินทางเมื่อเดินทางเข้าเขตเชงเก้นครั้งแรกแค่ครั้งเดียว แต่หากเดินทางเข้าโรมาเนียหรือบัลแกเรียมาจากประเทศเขตเชงเก้นทางบก ยังคงต้องผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอีกครั้ง[1]

 

ในมิติของสหภาพยุโรป การตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับเสาหลักทั้งสามประการของสหภาพยุโรปตามสนธิสัญญามาสทริชท์ ปี 2535 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพยุโรปในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่

 

1) ด้านประชาคมยุโรป การเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนา และร่วมมือกันบูรณาการด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายทุนอันเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้แก่ ประชากร สินค้า บริการ และทุนระหว่างประเทศ เป็นไปอย่างเสรี สอดคล้องกับหลักการของตลาดเดียวของสหภาพยุโรป

 

2) ด้านนโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง การเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย จะทำให้ทั้งสองประเทศเข้ามามีบทบาทในการรักษาความปลอดภัยและสร้างความมั่นคงของพื้นที่ในเขตเชงเก้นมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนที่ติดกับประเทศชายแดนภายนอกของสหภาพยุโรป (EU External Borders) ผ่านการปฏิบัติงานของตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ศุลกากร ให้เป็นไปตามกฎหมายของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัดมากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าออกเขตเชงเก้นกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ผ่านระบบสารสนเทศเชงเก้น Schengen Information System (SIS) ตลอดจนดำเนินการอนุมัติวีซ่าระยะสั้น ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ

 

3) ด้านความร่วมมือด้านกิจการยุติธรรมและกิจการภายใน การเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรีย จะทำให้ทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงของสหภาพฯ ผ่านการปรับปรุงกฎหมายในประเทศและบังคับใช้ให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายสหภาพยุโรป โดยเฉพาะปัญหาที่ยังมีข้อสงสัยจากประเทศยุโรปบางประเทศ ได้แก่ ปัญหาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย บุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายข้ามประเทศ และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น

 

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เห็นว่าความคืบหน้าในการเข้าเป็นสมาชิกเขตเชงเก้นของโรมาเนียและบัลแกเรียในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกภายในสหภาพฯ มากขึ้น โดยเฉพาะด้านความมั่นคงและการค้า ซึ่งปัจจัยนี้ จะช่วยให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจไทยมีโอกาสเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่อาจมีทรัพยากรรอการพัฒนาอยู่ “ใครเข้าตลาดได้ก่อน ก็จะวิ่งนำหน้าผู้อื่น”

 

[1] ผู้ที่ต้องการเดินทางไปยังโรมาเนียและบัลแกเรีย สามารถตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันได้จากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของโรมาเนียและบัลแกเรีย ได้แก่ https://mae.ro/en/node/2040 และ https://www.mfa.bg/en/services-travel/consular-services/travel-bulgaria/visa-bulgaria

 

ที่มาของข้อมูล

    • https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2023/12/30/schengen-area-council-takes-move-towards-lifting-border-controls-with-bulgaria-and-romania/
    • https://www.intellinews.com/austria-proposes-air-schengen-to-romania-and-bulgaria-305045/?source=bulgaria
    • https://www.novinite.com/articles/223433/Austrian+Officers+to+Assist+Document+Checks+at+Bucharest+Airport+Following+Schengen+Entry
    • https://www.politico.eu/article/bulgaria-romania-schengen-area-green-light-partial-entry/
    • https://www.reuters.com/world/europe/romania-bulgaria-agree-partial-schengen-entry-with-austria-ministry-2023-12-28/

 

มอนเตเนโกรระงับการนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสุกรจาก 43 ประเทศทั่วโลก 🐷 เนื่องจากโรค ASF ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเนื้อสุกรจากไทย

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์
มกราคม 2567

อ่านข่าวฉบับเต็ม : อย่ารอช้า….ประตูสู่การค้ากับโรมาเนียกับบัลแกเรียเป็นตลาดที่รอนักธุรกิจที่จับตลาดใหม่ได้เร็ว

Login