(ที่มา : สำนักข่าว The Korea Times ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2567)
สาธารณรัฐเกาหลีตั้งเป้าที่จะผลักดันการส่งออกของประเทศให้สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 โดยคาดว่าการฟื้นตัวของการส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ และจะใช้งบประมาณกว่า 8.39 พันล้านเหรียญสหรัฐในการทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าร้อยละ 3 ในครึ่งปีแรกของปี 2567
จากการแถลงข่าว “ทิศทางนโยบายทางเศรษฐกิจเกาหลีใต้ปี 2567” จัดโดยกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง สาระสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจในปี 2567 คือ กระตุ้นมูลค่าการส่งออก เพิ่มการลงทุนจากต่างชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มการสนับสนุนเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ และเพิ่มสวัสดิการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มขึ้นของประชากร ซึ่งเกาหลีใต้ ที่เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 4 ของเอเชีย และคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.2 ในปี 2567 เพิ่มจากร้อยละ 1.4 ในปีก่อนหน้า
ในส่วนของการส่งออกที่จะเป็นแรงขับดันสำคัญ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.5 (ในปี 2566 การส่งออก ติดลบร้อยละ 7.4) ในขณะเดียวกัน คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศจะเกินดุล 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 3.1 หมื่นล้านเหรียญฯ ในปีก่อนหน้า
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภค คาดการณ์ว่าจะลดลงจากร้อยละ 3.6 ในปี 2566 เหลือร้อยละ 2.6 ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีใต้พบว่า การลดลงของอัตราเงินเฟ้อนั้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่าจะส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง ซึ่งจะเติบโตร้อยละ 1.8 ในปีนี้ เช่นเดียวกับปีที่แล้ว
เพื่อกระตุ้นการส่งออก รัฐบาลจะอัดฉีดสินเชื่อเพื่อการค้าต่างประเทศ มูลค่า 355 ล้านล้านวอน เพิ่มจากปีก่อนหน้าที่ให้ 345 ล้านวอน เพื่อบรรลุเป้าหมายการส่งออกมูลค่า 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และมีแผนที่จะแนะนำระบบการชำระเงินด้วยเงินสกุลวอน แทนเงินเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จะสนับสนุนผู้ประกอบการเกาหลีในภาคธุรกิจโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บริษัทค้าอาวุธให้กับกระทรวงกลาโหม และธุรกิจประเภทอื่นๆ ให้ชนะการประมูลโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศที่มีมูลค่ากว่า 57,000 ล้านวอน และจะทุ่มเงินมากกว่า 150 ล้านล้านวอนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ รวมทั้ง เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ทุติยภูมิ เทคโนโลยีชีวภาพ พาหนะยานยนต์ และพลังงานไฮโดรเจน
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจะจัดสรรเงิน 10.8 ล้านล้านวอนเพื่อต่อสู้กับสภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงโครงการบัตรพลังงานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า แก๊ส น้ำประปา คูปองส่วนลดสำหรับสินค้าผักผลไม้และอาหารสดอื่น ๆ โดยมีแผนที่จะลดหรือยกเลิกภาษีผลไม้ 21 ชนิด ซึ่งมากที่สุดเท่าที่เคยดำเนินการมา ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกจะนำเข้าสินค้าดังกล่าวจำนวน 300,000 ตัน
ในส่วนของการแก้ปัญหาด้านประชากร ที่ปัจจุบันเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านประชากร ซึ่งสามารถลดการเติบโตของ GDP ในระยะยาว รัฐบาลเกาหลีใต้มีนโยบายให้การสนับสนุนชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน นักท่องเที่ยว และแรงงานต่างด้าว โดยรัฐบาลเกาหลีใต้มีแผนดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เป้าหมายมูลค่าการลงทุน 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีการจัดสรรงบประมาณ 2 แสนล้านวอนเพื่อเป็น cash incentives ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงสี่เท่า ในส่วนของการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชา อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในส่วนของแรงงาน มีการเพิ่มโควตาของแรงงานมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมือ รวมทั้งมีการเพิ่มทุนสนับสนุนการศึกษาในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อดึงดูดผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและจะมีการพิจารณาแก้ไขนโยบายด้านการขอสัญชาติอีกด้วย
ทั้งนี้ นาย ชเวซังมก (Choi Sang-mok) รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเศรษฐกิจ สาธารณรัฐเกาหลี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจปี 2567 มุ่งไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีศักยภาพ โดยนโยบายของรัฐบาลได้ถูกกำหนดภายใต้เสาหลัก 4 ประการ ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพความเป็นอยู่ของประชาชน การจัดการความเสี่ยง การกระตุ้นพลวัตทางเศรษฐกิจ และการวางมาตรการสำหรับคนรุ่นต่อไป
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐบาลเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการวางนโยบายเพื่อให้เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเน้นการส่งออก การลดอัตราเงินเฟ้อในประเทศ และการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาด้านโครงสร้างประชากร พร้อมไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ประโยชน์
ในส่วนของประเทศไทย เราสามารถโตไปด้วยกันกับเกาหลีใต้ เช่น การใช้ประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้า ความร่วมมือในการพัฒนาและผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกจากเกาหลีใต้ การส่งออกวัตถุดิบในการผลิตไปยังเกาหลีใต้เพื่อส่งออกไปประเทศที่สาม ความร่วมมือในการประมูลและรับเหมางานโครงการในประเทศที่สาม หรือการจัดส่งแรงงานไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยผู้ประกอบการไทยควรจะที่ต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในเกาหลีใต้อย่างใกล้ชิด และคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินธุรกิจกับเกาหลีใต้
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าส่งออก 7 แสนล้านเหรียญในปี 2567