หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในยูกันดามีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในแอฟริกาตะวันออกในปี 2563-2565

การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในยูกันดามีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในแอฟริกาตะวันออกในปี 2563-2565

จากการเปิดเผยตัวเลขด้านการลงทุนจากต่างประเทศในปี 2565 พบว่า ประเทศเคนยา แทนซาเนีย และยูกันดาสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment – FDI คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 13.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ช่วยให้ประเทศเหล่านี้สร้างการจ้างงานใหม่ได้หลายพันตำแหน่ง

 

ข้อมูลจากรายงานการลงทุนล่าสุด โดยบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอย่าง Ernst & Young ได้แสดงให้เห็นว่า ประเทศยูกันดา มีมูลค่าการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงถึง 10.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในแอฟริกาตะวันออก และยังสร้างการจ้างงานให้กับประชาชนในประเทศได้ 6,300 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านพลังงานและเหมืองแร่

 

ในส่วนของเคนยาพบว่า การลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศเคนยาเพิ่มขึ้นร้อยละ +117.0 เมื่อเทียบเป็นกับปี 2564 อันนำมาซึ่งการลงทุนมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงาน 7,819 ตำแหน่ง โดยการลงทุนส่วนใหญ่เข้ามายังภาคธุรกิจบริการ เทคโนโลยี ตลอดจนการขนส่งและคลังสินค้า

 

ส่วนในประเทศแทนซาเนีย การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ +133.0 ก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 โดยมีการลงทุน 21 โครงการ มูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างงาน 4,566 ตำแหน่ง ผู้เข้าลงทุนหลักในแทนซาเนีย ได้แก่การลงทุนของ Intracom ซึ่งมีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศบุรุนดี กำลังวางแผนสร้างโรงงานปูนซีเมนต์ครบวงจร มูลค่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เมือง Kigoma เพื่อจัดหาและผลิตปูนซีเมนต์โดยตั้งอยู่ที่บริเวณ Lake Tanganyika ที่มีชายแดนติดกับหลายประเทศอันประกอบไปด้วย แทนซาเนีย บุรุนดี รวันดา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) โดยมีแนวคิดที่จะกระจายสินค้าไปยังตลาดเหล่านั้น นอกจากนั้น บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้าของเคนยา (KenGen) เองก็กำลังมองหาการลงทุนในแทนซาเนีย โดยเป็นโครงการขุดเจาะเพื่อนำพลังงานความร้อนใต้พิภพหรือ thermos electricity generator (TEG) นอกจากนั้น ยังมีบริษัท Masdar ที่มีฐานการผลิตอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ยังได้ลงนามข้อตกลงกับ Tanzanian Electric Supply Company Ltd. (Tanesco) เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนที่มีกำลังการผลิตถึง 2 KIGAWATT

 

โดยหากพิจารณาจากประเทศที่เข้ามาลงทุนนั้น จะเห็นได้ว่า ประเทศฝรั่งเศสนับเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศเคนยา ด้วยการลงทุนขนาดใหญ่ถึง 2 โครงการ ในด้านการพัฒนาของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี รายงานดังกล่าวไม่มีข้อมูลเข้ามาลงทุนในประเทศรวันดา บุรุนดี และซูดานใต้

 

สำหรับประเทศเอธิโอเปียการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสามปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2563-2565) หลังจากเคยทีเคยเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจในแอฟริกาตะวันออกสูงสุดคือ ก่อนหน้านั้น ได้มีการลงทุนถึง 34 โครงการ ใน พ.ศ. 2562 แต่หากพิจารณาในช่วงที่มีการจัดทำข้อมูลในปี 2563-2565 นั้นมีการลงทุนเพียงแค่ 5 โครงการ เท่านั้นโดยมีสาเหตุสำคัญคือการที่ประเทศถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐ และชาติตะวันตกและปัญหาด้านความไม่สงบในประเทศที่มีสงครามกลางเมืองในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ทำให้ได้รับความสนใจน้อยลง

 

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า แอฟริกากลับมาเป็นศูนย์กลางของจุดหมายปลายทางการลงทุนชั้นนำสำหรับนักลงทุนจากทั่วโลกในปี พ.ศ. 2565 หลังจากพยามดิ้นรนที่จะดึงดูดการลงทุนให้กลับมายังภูมิภาค นับแต่มีการเริ่มระบาดของ Covid-19  และใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากการยอมรับวัคซีนป้องกัน Covid-19 เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าที่อื่น และหลังจากการรณรงค์ให้ประชากรในภูมิภาคเห็นความจำเป็นของการรับวัคซีนแล้วจึงสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจของประเทศทั้ง 54 ประเทศในภูมิภาคได้อีกครั้ง

 

แม้ว่าในปี พ.ศ. 2565 จะเป็นสัญญาณแรก ที่มองเห็นได้ชัดเจนของการกลับมาของทวีปสู่เวทีในด้านการลงทุนต่างๆนั้น แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเร่งทำและพัฒนาเพื่อให้แน่ใจว่าความน่าดึงดูดใจในการลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ สิ่งที่ทวีปแอฟริกาได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญก็คือนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นและการแข็งค่าของเงินดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกต่างต่อสู้ดิ้นรนเพื่อรักษาอัตราเงินเฟ้อของประเทศตัวเอง ทำให้เกิดการขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น จนเป็นสาเหตุให้การเติบโตของเศรษฐกิจต่างๆในแอฟริกาก็ชะลอตัวลงด้วยเช่นกัน และยังมีความกังวลว่าบางประเทศอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหลังจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ดังจะเห็นได้จากจำนวนหนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ ในแอฟริกาเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่สูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ

 

อัตราหนี้สาธารณะของแอฟริกาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 77 ของ GDP ใน 6 ประเทศสำคัญของแอฟริกา ได้แก่ ไนจีเรีย กานา เอธิโอเปีย เคนยา แซมเบีย และโมซัมบิก โดยมีแอฟริกาใต้ตามหลังอยู่ไม่ไกลนัก นอกจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นแล้วหลายๆ ประเทศยังต้องเผชิญกับค่าเงินท้องถิ่นที่อ่อนลงอีกด้วย และแน่นอนว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อการลงทุนทั้งในและนอกทวีป ทำให้ต้นทุนการจัดหาเงินมาลงทุนสำหรับโครงการใหม่สูงขึ้น สร้างความตึงเครียดทางการลงทุน และในท้ายที่สุด การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากแอฟริกาเพิ่มเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุน

 

โดยตัวอย่างในการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของหลายประเทศ เช่น ไนจีเรียและอียิปต์ ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงมากขึ้นนั้น ทั้งหมดนี้ออกแบบมาเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จัดการตลาดการเงินและการซื้อ-ขาย สกุลเงินท้องถิ่นกับ USD เพื่อเป้าหมายที่จะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั่นเอง

 

ความเห็นของ สคต.

 

การที่แอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในการเข้ามาพัฒนาในด้านต่างๆนั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในแอฟริกาอย่างยิ่งยวด ซึ่งแต่ละประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการผลิต ทำให้ประเทศนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น เคนยา แทนซาเนีย หรือ ยูกานดา ต่างได้รับความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆมากขึ้น อย่างไรก็ดี จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก และปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก็ทำให้การขับเคลือนหรือดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนนั้น มีความเสี่ยงในหลายด้านมากขึ้น จึงขึ้นกับว่า ประเทศเหล่านี้จะบริหารจัดการ ตลาดด้านการเงิน หรือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้มากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

 

สคต. เห็นว่า แม้จะมีความเสี่ยงในหลายด้านเพิ่มขึ้นในการลงทุนในแอฟริกา แต่เราจะปฎิเสธไม่ได้ว่า ความน่าสนใจในด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรของแอฟริกา และจำนวนฐานประชากรจำนวนมาก ตลอดจนการจัดตั้งเขตการค้าเสรีของประเทศในแอฟริกาที่เรียกว่า AFCFTA ในปี 2021 ที่ผ่านมานั้น ต่างทำให้แอฟริกายังเป็นภูมิภาคที่มีความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนต่อไปในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยเองควรเร่งทำการศึกษาข้อมูลและหาโอกาสในด้านที่ไทยเองมีความเชียวชาญและสามารถเข้ามาลงทุนได้ เช่น อุตสาหกรรมเกษตร การท่องเที่ยว ร้านอาหารไทย ร้านสปา เป็นต้น ซึ่งทำให้ไทยควรเร่งเจรจาการค้า หรือ FTA กับประเทศในแอฟริกาให้เร็วยิ่งขึ้นต่อไป เพราะนอกจากจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ทางด้านการค้าแล้ว ความมั่นใจในด้านการลงทุนก็เป็นเรื่องที่หน่วยงานภาครัฐของไทยควรให้ความสำคัญในการเจรจา FTA ในอนาคตอันใกล้ และในส่วนของผู้ประกอบการก็ควรหาข้อมูล และมองหาโอกาสเข้ามาลงทุนในแอฟริกาโดยเร็วต่อไป ไม่เช่นนั้น แล้วหากเราช้าเกินไปโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาก็จะยิ่งทำได้ยากขึ้น และมีต้นทุนสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke

 

ที่มา : The EastAfrican

อ่านข่าวฉบับเต็ม : การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในยูกันดามีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในแอฟริกาตะวันออกในปี 2563-2565

Login