ข้าวไทยในตลาดแคนาดา
- ตลาดข้าวในแคนาดา
1.1 การผลิตข้าวในประเทศแคนาดา
ประเทศแคนาดามีการผลิตข้าวในประเทศปริมาณที่จำกัด โดยข้าวที่ผลิตได้เป็นพันธุ์ที่เรียกว่า Wild Rice ซึ่งถือกันว่าเป็นอาหารชนิดพิเศษที่มีราคาสูง มีปริมาณไฟเบอร์สูง และปลูกได้ในเมืองหนาวเท่านั้น โดยมีพื้นที่การเพาะปลูกในรัฐ Manitoba, Saskatchewan และ Ontario เป็นหลัก ซึ่งแคนาดาไม่สามารถเพาะปลูกข้าวเมล็ดยาว (Long Grain Rice) ได้เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ
1.2 นโยบายการค้าข้าวของแคนาดา
แคนาดามีอากาศที่หนาวเย็นบางพื้นที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี ทำให้มีพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกข้าวค่อนข้างจำกัด และผลผลิตข้าวภายในประเทศมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค แคนาดาจึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากทั่วโลก ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยภาคเอกชนเท่านั้น ภาครัฐไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการเก็บสต็อกสินค้าข้าวในประเทศ และไม่มีนโยบายการควบคุมหรือจำกัดการผลิตและการนำเข้า นอกจากนี้ ประชากรของประเทศส่วนใหญ่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
1.3 การบริโภค
กลุ่มผู้บริโภคข้าวเป็นหลักในแคนาดา ได้แก่กลุ่มผู้บริโภคชาวเอเชีย และคนผิวขาว (Caucasian) ในเมืองสำคัญๆ ของประเทศ โดยกลุ่มผู้บริโภคข้าวที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา คือ ชาวแคนาดาเอเชียเชื้อสายจีน กลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา รองลงมาได้แก่ผู้บริโภคจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา แนวโน้มการบริโภคข้าวในแคนาดาเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการหลั่งไหลของชาวเอเชียที่ย้ายถิ่นฐานมายังแคนาดาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายเปิดรับคนต่างชาติของแคนาดา (Immigration Policy) ที่มีประมาณ 500,000 คน/ปี และมุมมองของชาวแคนาดาที่มีต่อสินค้าข้าวว่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับขนมปัง พาสต้า (ที่ผลิตจากข้าวสาลี) อีกทั้งข้าวยังมีคุณสมบัติตามธรรมชาติที่ปลอดสารกลูเตน (Gluten Free) ซึ่งเป็นกระแสที่นิยมที่ชาวแคนาดาให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพ
ประเภทของข้าวที่บริโภคในประเทศ แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
- ข้าวหอมมะลิ (Hom Mali Rice) มีเมล็ดความยาวระดับกลาง มีกลิ่นหอม โดยกลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ ชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชีย จีน ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา ฯลฯ
- ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ข้าวขาวที่ได้ผ่านกระบวนการทำข้าวนึ่งและขัดเอารำออกแล้ว สะดวกในการปรุงอาหาร โดยกลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ ชาวแคนาดาคอเคเซียนผิวขาว (Caucasian) ที่เป็นตลาดหลักในแคนาดา (Mainstream Market) รวมถึงกลุ่มแคริบเบียน และแอฟริกา
- ข้าวขาวสั้น (Short Grain Rice) มีลักษณะเหมือนข้าวเหนียว มีเมล็ดสั้นและใช้ตะเกียบในการบริโภค โดยกลุ่มผู้บริโภค ได้แก่ ชาวเอเชียเชื้อสายญี่ปุ่น เกาหลี
- ข้าวขาว (Long Grain Rice) ที่มีลักษณะคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ไม่มีกลิ่นหอม ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ กลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ ชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชีย
- ข้าวบาสมาติ (Basmati Rice) มีเมล็ดยาว และร่วน มีกลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ ชาวแคนาดาเชื้อสาย เอเซียใต้ อินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ฯลฯ
- ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ข้าวธัญพืช ข้าวอินทรีย์ เป็นข้าวประเภทที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ราคาสูง กลุ่มผู้บริโภคหลัก ได้แก่ ชาวแคนาดาผิวขาว รวมถึงกลุ่มผู้มีรายได้สูงที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพ
ปริมาณการบริโภค แคนาดามีประชากรรวม 40.52 ล้านคน (ตุลาคม 2566[1]) โดยการบริโภคข้าวในปี 2565 ประมาณ 531,005 ตัน หรือประมาณ 13.51 กิโลกรัมต่อคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.03 จากปี 2560
ที่มา: http://www40.statcan.gc.ca/l01/cst01/demo02a-eng.htm
รสนิยมในการบริโภค แบ่งตามกลุ่มผู้บริโภคหลัก 2 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื้อสายเอเชีย
กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มชาติพันธุ์ (ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรแคนาดา) มีอัตราการบริโภคต่อคนค่อนข้างสูง จึงนิยมซื้อข้าวหอมมะลิที่บรรจุถุงขนาดใหญ่ คือขนาด 8 กิโลกรัม, 8.17 กิโลกรัม (18 ปอนด์), 9.07 กิโลกรัม (20 ปอนด์) และขนาด 16.36 กิโลกรัม (36 ปอนด์) ซึ่งมักใช้ในร้านอาหาร และข้าวเหนียว ข้าวซ้อมมือ ขนาด 2 กิโลกรัม (4.40 ปอนด์) บรรจุในถุงพลาสติกหรือกระสอบป่าน ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเน้นคุณภาพและราคาเป็นหลัก โดยข้าวหอมมะลิของไทยจัดได้ว่าเป็นข้าวยอดนิยม เป็นข้าวพรีเมี่ยม คุณภาพดีและมีความนุ่มนวล มีกลิ่นหอม ผู้บริโภคจะสังเกตคำว่า Thai Jasmine Rice เป็นหลัก (มากกว่าคำว่า Thai Hom Mali เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่จะคุ้นเคยและรู้จัก Thai Jasmine Rice) และผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกซื้อตามแบรนด์สินค้าที่ชอบนิยม (Brand Preference) เนื่องจากแบรนด์ข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายในแคนาดาส่วนใหญ่จะมีความแตกต่างกัน จากสูตรผสมของข้าวที่แตกต่างกันระหว่างข้าวใหม่และข้าวเก่า โดยข้าวใหม่จะความนุ่มและกลิ่นหอมมากกว่าข้าวเก่า ขณะที่ข้าวเก่าเมื่อหุงแล้วจะเรียงเม็ดสวย เม็ดข้าวไม่เกาะติดกัน เนื่องจากมียางข้าวน้อย และแข็งกว่าข้าวใหม่ ซึ่งผู้บริโภคจะมีความรสนิยมที่แตกต่างกันตามแบรนด์ที่จำหน่ายในตลาดแคนาดา และราคาในแต่ละยี่ห้อเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อข้าว
เกณฑ์การพิจารณาคุณภาพข้าวของผู้ซื้อกลุ่มนี้ จะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
- ผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื้อสายเอเซีย (จีนและฟิลิปปินส์) จะชอบข้าวหอมมะลิ 100% มากกว่าข้าวที่ปนข้าวพันธุ์อื่นๆ หรือมีส่วนผสมปนน้อยที่สุด
- คุณภาพของข้าวต้องไม่มีสิ่งอื่นเจือปน ได้แก่ แมลง หญ้าเมล็ดพืช ข้าวเปลือก ฝุ่น สิ่งสกปรก และกรวดหิน
- เม็ดข้าวมีขนาดยาว รูปทรงสม่ำเสมอแบบเดียวกัน ไม่แตกหัก
- ข้าวหอมมะลิจะมีกลิ่นหอมที่สามารถทดสอบได้ โดยกลิ่นจะแตกต่างจากข้าวขาวธรรมดา
- ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเลือกซื้อข้าวตามยี่ห้อ/แบรนด์ที่คุ้นเคย โดยข้าวแต่ละยี่ห้อจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป อาทิ อัตราการผสมสูตรของข้าวเก่าและข้าวใหม่ (ข้าวใหม่จะมีความนุ่มมากกว่าข้าวเก่าเมื่อหุงเสร็จ ในขณะที่ข้าวเก่าจะมีคุณสมบัติเรียงเม็ดสวยเมื่อหุงเสร็จ เหมาะนำไปปรุงอาหารประเภท ข้าวผัด ข้าวจะไม่แฉะ)
2) กลุ่มผู้บริโภคชาวแคนาดาเชื้อสายคอเคเชียน (Mainstream Market)
กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ ได้แก่ กลุ่มชาวแคนาดาผิวขาว ชาวตะวันตกผิวขาวซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ และตลาดค่อนข้างใหญ่ กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ชอบข้าวชนิด Long grain ขนาดบรรจุไม่ใหญ่นัก ประมาณ 350 กรัม – 2 กิโลกรัม เป็นขนาดที่เหมาะสมที่สุด พฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเน้นถึงสุขภาพเป็นสำคัญ จึงบริโภคข้าวแบบต่างๆ เช่น ข้าวเมล็ดยาว ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวป่า (wild rice) ไม่นิยมการบริโภคข้าวสวยเปล่าๆ ร่วมกับอาหารอื่น แต่มักจะผสมรสชาติอื่นๆ ได้แก่ เนยและซอสปรุงรสต่างๆ ลงไปในข้าว ชาวคอเคเซียนหรือกลุ่มคนผิวขาวมีพฤติกรรมต้องการความรวดเร็วและทันสมัย จึงชอบอาหารที่เตรียมแบบง่ายๆ และรวดเร็ว และไม่นิยมหุงข้าวแบบคนเอเชียหรือใช้หม้อหุงข้าว แต่จะประกอบอาหารโดยใช้หม้อหรือถาดสำหรับเตาอบ และเตาไมโครเวฟ ข้าวที่นิยมจึงเป็นข้าวพร้อมบริโภค ที่ไม่ต้องทำความสะอาด(ซาวข้าว) ก่อนการปรุงอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์ข้าวของ Uncle Ben’s Minute Rice ที่มีขนาดบรรจุระหว่าง 130-250 กรัม บางกล่องจะมีส่วนผสมรสชาติต่างๆ เรียกว่า “special rice” โดยใช้เวลาปรุงสั้นมาก ประมาณ 5-10 นาที เครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งสำคัญเพราะผู้บริโภคจะเน้นคุณภาพและราคา ถ้าพอใจยี่ห้อใดก็จะประทับใจและเชื่อถือยี่ห้อนั้น และมีความจงรักภักดีต่อยี่ห้อที่เชื่อถือโดยตลอด
- การนำเข้า
- สินค้าข้าวที่บริโภคในแคนาดาเกือบทั้งหมดนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ไทย อินเดีย เวียดนามปากีสถาน เป็นหลัก โดยในปี 2565 มีมูลค่าการนำเข้า 42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.23 โดยในเชิงปริมาณมีการนำเข้า 531,055 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.97 จากในปี 2564
- การนำเข้าข้าวจากไทย ปี 2565 ปริมาณ 147,944 ตัน (ขยายตัวร้อยละ 74.53) มูลค่า 120.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 63.44) ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 218 (คิดจากมูลค่าการนำเข้า) และร้อยละ 27.86 (คิดจากปริมาณการนำเข้า)
2.1 ปริมาณการนำเข้าระหว่างปี 2561-2565
2.2 มูลค่าการนำเข้าระหว่างปี 2561-2565
2.3 ส่วนแบ่งตลาดข้าวในแคนาดาปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.)
2.4 ประเภทของข้าวที่นำเข้ามาในแคนาดาปี 2565 (มค-ธค)
2.5 ภาวะการนำเข้า มค.-ตค. 66
- แคนาดามีการนำเข้าข้าวจากทั่วโลกระหว่าง ม.ค.-ต.ค. 66 มูลค่า 400.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 2.22 โดยมีปริมาณ 867,779 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.28 โดยมีการนำเข้าหลักจากสหรัฐฯ (สัดส่วนตลาดตามมูลค่าร้อยละ 41.41) อินเดีย (ร้อยละ 23.84) ไทย (ร้อยละ 21.85) ปากีสถาน (ร้อยละ 3.59) เวียดนาม (ร้อยละ 48) ตามลำดับ
- ชาวแคนาดาส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับข้าวหอมมะลิของไทยเป็นหลัก เนื่องจากมีลักษณะพิเศษต่างจากข้าวประเทศอื่นๆ เนื่องจากมีความหอมนุ่ม โดยกลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ ตลาดกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnics) ชาวแคนาดาเชื้อสายจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย ลาว มาเลเซีย กัมพูชา และไทย
- มูลค่าการนำเข้าจากไทยล่าสุด ม.ค.-ต.ค. 66 จากสถิติของ Statistics Canada อยู่ที่ระดับ 87.62 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 8.63 โดยมีปริมาณ 156,232 ตัน ขยายตัวร้อยละ 29.27
มูลค่าการนำเข้าระหว่างปี ม.ค.- ต.ค. 66
- การจัดจำหน่ายในประเทศแคนาดา
ช่องทางการจัดจำหน่ายในแคนาดาจะผ่านผู้นำเข้ารายใหญ่รายสำคัญในประเทศ โดยส่วนใหญ่ จะมีการนำเข้าตลอดทั้งปี (มีการนำเข้าทุกสัปดาห์ โดยไม่นิยมสต็อกสินค้าหรือสั่งสินค้าครั้งละมากๆ ยกเว้นในช่วงปี 2565 ซึ่งเกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เกิดประสบการณ์สินค้าขาดตลาด ความไม่แน่นอนนี้จึงทำให้ผู้นำเข้าสั่งนำเข้าข้าวมาสต็อกจำนวนมาก) และไม่มีการแยกประเภทข้าวใหม่ (New Crop) หรือข้าวเก่า (Old Crop) ทั้งนี้ ร้านอาหารไทย/จีน ส่วนใหญ่นิยมซื้อข้าวเก่า เนื่องจากเป็นข้าวที่จะหุงขึ้นหม้อและเม็ดสวยเหมาะกับการไปทำข้าวผัด (ผู้นำเข้าจะสั่งนำเข้าข้าวเก่าในเดือน มิ.ย. – ก.ค. ของแต่ละปี) ทั้งนี้ ช่องทางการจัดจำหน่ายในแคนาดามี ดังนี้
- ผู้นำเข้า -> ผู้ค้าส่ง –> ผู้ค้าปลีก –> ผู้บริโภค
- ผู้นำเข้า -> ค้าปลีก (ห้างสรรพสินค้า Chain Store อาทิ Loblaw, Walmart) -> ผู้บริโภค
- ห้างค้าปลีกเป็นผู้นำเข้าเอง -> ผู้บริโภค
ผู้นำเข้าแคนาดาส่วนใหญ่ต้องการทำการค้ากับผู้ส่งออกเดิมที่รักษาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และการส่งมอบสินค้าตรงเวลาที่กำหนด ที่ผู้ส่งออกรายใหม่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความสัมพันธ์ ความน่าเชื่อถือ เนื่องจากผู้นำเข้าจะมีความกังวลถึงคุณภาพสินค้าไม่ต่อเนื่อง (Quality Consistency Issue) ที่เป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจ ถึงแม้ว่าผู้ส่งออกรายใหม่ๆ ส่วนใหญ่จะตัดราคาเมื่อเทียบกับซัพพลายเออร์รายเดิม ซึ่งการเจาะตลาดจะต้องเริ่มจากสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านการใช้เวลาติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือการเยี่ยมพบเจรจาหลายครั้งเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) และความเชื่อมั่น
- กฎระเบียบการนำเข้าและการส่งออก
- ไม่มีกฎระเบียบพิเศษเฉพาะและไม่มีข้อจำกัดหรือโควตาในการนำเข้า
- ไม่มีภาษีนำเข้า (ร้อยละ 0)
- หลักเกณฑ์เรื่องบรรจุภัณฑ์และข้อความกำกับ ส่วนประกอบและความปลอดภัย เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎระเบียบว่าด้วยอาหารและยา กฎระเบียบว่าด้วยการบรรจุ และข้อความกำกับสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/label-etiquet/index-eng.php
- ในกรณีที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายปลีก ต้องมีฉลากภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสกำกับทั้งสองภาษา พร้อมกับข้อมูลโภชนาการ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/label-etiquet/nutrition/reg/index-eng.php
กฎระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและผลิตภัณฑ์
- กฎระเบียบ การระบุข้อมูล Food Allergies and Intolerances ควบคุมโดยหน่วยงาน Health Canada สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.hc-sc.gc.ca/fn-an/securit/allerg/index-eng.php
- กฎระเบียบสินค้าเกษตรอินทรีย์ (Organic Product) ควบคุมโดยหน่วยงาน CFIA (Canadian Food Inspection Agency) สามารถค้นหาข้อมูลได้ที่ http://www.inspection.gc.ca/english/fssa/orgbio/orgbioe.shtml
- ปัญหา/อุปสรรคการจำหน่ายข้าวไทย
- ข้าวไทยมีราคาสูงกว่าคู่แข่งจากสหรัฐอเมริกาเนื่องจากระยะทางและค่าขนส่งที่เป็นส่วนต่าง
- มีการปลอมปนข้าวไทย ทำให้ความเชื่อถือในคุณภาพของข้าวไทยลดลง และข้าวหอมมะลิที่จำหน่ายในแคนาดาบางยี่ห้อไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
- ผู้ส่งออกไทยบางรายไม่ทำการค้าแบบยั่งยืน อาทิ ไม่รักษาคุณภาพข้าว ไม่รักษาสัญญาส่งมอบข้าว
- ตราสัญลักษณ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย (ตรารวงข้าว) ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภค (End User) ที่จะต้องมีการทำประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในการสร้างความรับรู้ (Awareness) และความเชื่อมั่น
- กลยุทธ์การตลาดข้าวไทยในแคนาดา
- การใช้แบรนด์ของผู้ส่งออกไทย ข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในแคนาดา ส่วนใหญ่จะใช้แบรนด์หรือตรายี่ห้อของผู้นำเข้า อาทิ Oxhead, Rose Brand, Rooster โดยเป็นตราสัญลักษณ์ที่ผู้นำเข้าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน หากข้าวไทยมีราคาสูงขึ้นหรือผลผลิตน้อย หรือผู้นำเข้าต้องการลดต้นทุน อาจเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่ง โดยยังคงใช้แบรนด์สินค้าเดิม ซึ่งคุณภาพข้าวด้านในอาจเปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของข้าวไทย ดังนั้น หากเป็นไปได้ ผู้ส่งออกไทยจึงผลักดันการส่งออกสินค้าข้าวภายใต้แบรนด์ของตนเองเพื่อรักษาคุณภาพและส่วนแบ่งตลาดของข้าวไทยไว้
- การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ตราสัญลักษณ์ข้าวหอมมะลิ ของกรมการค้าต่างประเทศ และการส่งเสริมให้ผู้นำเข้าใช้ตราดังกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ข้าวหอมมะลิเพื่อรับรองมาตรฐานและคุณภาพข้าวหอมมะลิ และสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้าข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ตราสัญลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตสื่อต่างๆ เผยแพร่ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลายช่องทาง การจัดกิจกรรมร่วมกับห้างค้าปลีก รวมถึงร้านอาหารทั้งอาหารไทยและอาหารนานาชาติ และการเข้าร่วมเทศกาลอาหารไทย ประกอบการใช้กลยุทธ์สร้างความแตกต่าง (Differentiation Strategy) ระหว่างข้าวไทยกับข้าวขาวหรือข้าวหอมของคู่แข่ง (Long Grain Rice) จากเวียดนาม กัมพูชา และสหรัฐฯ
- การติดตามและตรวจสอบข้าวไทยที่มีการประทับตราสัญลักษณ์ข้าวหอมมะลิไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการละเมิดเครื่องหมายการค้า “Thai Hom Mali” ที่มีจดทะเบียนไว้ในแคนาดา และป้องกันการปลอมแปลงการใช้ตราประทับสำหรับข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานหรือข้าวที่ไม่ใช่ข้าวของไทย ผ่านการสำรวจตลาดค้าปลีก รวมถึงการสุ่มตรวจสินค้าที่ปลายทาง โดยเฉพาะในช่วงที่ข้าวหอมมะลิราคาสูง ที่อาจทำให้มีโอกาสการปลอมปนสูงมากกว่าช่วงราคาปกติ
- การนำเสนอสายพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ในตลาดแคนาดา ด้วยกระแสความห่วงใยสุขภาพทำให้ชาวแคนาดาหันมาบริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยข้าว Riceberry ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด ข้าวซ้อมมือ มีศักยภาพสูงในตลาด และสามารถจำหน่ายในราคาพรีเมียมได้ อีกทั้งข้าวมีคุณสมบัติเป็นสินค้า Gluten Free อีกด้วย เหมาะกับผู้บริโภคที่ไม่สามารถบริโภคกลูเตน ที่มีในข้าวสาลีและขนมปังได้
- ข้าวออร์แกนิก (Organic Rice) กระแสการห่วงใยสุขภาพ ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์มากขึ้น โดยเน้นจุดขายการเป็นสินค้าปลอดสารเคมี ยาฆ่าแมลง ทุกวันนี้จึงมีการวางจำหน่ายข้าวออร์แกนิก
มากขึ้นในแคนาดาทั้งในห้างค้าปลีกและช่องทางออนไลน์ - การทำตลาดเชิงรุกร่วมกับผู้นำเข้า (Marketing Leader/Partnering) โดยผู้ส่งออกไทยทำตลาดสินค้าเชิงรุก (อาทิ การจัดทำ In-Store Promotion, การโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ) ร่วมกับผู้นำเข้า/ห้างร้าน Chain Store เพื่อสร้างความต้องการบริโภคข้าว (Demand Pull) ขยายและครองส่วนแบ่งตลาดอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดกิจกรรมการตลาดของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต เพื่อส่งเสริมการขายข้าวในห้างค้าปลีกด้วย ได้แก่ สาธิตแจกชิมข้าวหอมมะลิและข้าว Riceberry ในซุปเปอร์มาเก็ตเอเชีย และซุปเปอร์มาเก็ต mainstream การสาธิตแจกชิมข้าวในเทศกาลอาหาร และการแจกชิมอาหารไทยที่ทำจากข้าวในร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT
- การพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์ ผู้ส่งออกไทยควรพัฒนาการบรรจุหีบห่อให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภคในตลาดหลัก (Mainstream Market) ที่เป็นชาวแคนาดาเชื้อสาย Caucasian ที่ไม่นิยมซื้อข้าวในถุงขนาดใหญ่ แต่นิยมซื้อข้าวถุงขนาด 500 กรัม, 1,000 กรัม หรือขนาดที่ใช้หุงเป็นครั้งๆ (ไม่นิยมเก็บข้าวสาร เนื่องจากมีการบริโภคไม่บ่อยครั้งต่อสัปดาห์) และข้าวไม่ใช่อาหารหลักแต่เป็นอาหารเครื่องเคียง (Side dishes) เช่นเดียวกับ มันฝรั่ง สลัดผัก เป็นต้น
- การเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าว โดยการพัฒนาสินค้าข้าวใหม่ (Innovative Product) อาทิ ข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวซ้อมมือ (Thai Hom Mali with Brown Rice) ข้าวที่พร้อมรับประทาน (Ready to Eat Rice) ข้าวที่สามารถหุงได้โดยไมโครเวฟ (ที่ไม่ต้องใช้หม้อหุงข้าว) ข้าวที่ผสมธัญพืช ขนมหรือของทานเล่นที่ทำจากข้าว เส้นก๋วยเตี๋ยวสูตรใหม่ๆ เป็นต้น
- การส่งออกข้าวที่หลากหลาย นอกจากข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายแพร่หลายและเป็นที่รู้จักในแคนาดาแล้ว ผู้ส่งออกไทยอาจส่งออกข้าวประเภทอื่นมาลองตลาด เพื่อให้เกิดความหลากหลายของทางเลือกและราคาแก่ผู้บริโภค เช่น ข้าวขาวประเภทเมล็ดยาว (Long Grain) หรือข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ซึ่งเป็นสินค้าที่ศักยภาพในแคนาดา เนื่องจากมีผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาจำนวนมากในแต่ละปีและมีความหลากหลายของชาติพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลในการขยายตลาดไปยังกลุ่มใหม่ๆ ด้วย
- การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค การให้ความรู้ต่อผู้บริโภคถึงวิธีการหุง โดยเฉพาะการหุงโดยไม่ต้องใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า หรือการหุงข้าวด้วยไมโครเวฟ จะช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมายตลาด mainstream ที่ไม่ได้บริโภคข้าวเป็นประจำและไม่ชอบความยุ่งยากให้กันมาสนใจการบริโภคข้าวได้
- การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำเข้าข้าวแคนาดา โดยการรักษาคุณภาพ การรักษาสัญญา (Commitment) การสร้างความเชื่อถือไว้วางใจ (reliability) การพัฒนาคุณภาพและผลิตภัณฑ์ใหม่ (Adaptability) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถครองตลาด และขยายตลาดส่งออกได้อย่างยั่งยืน
- เจาะกระแสความห่วงใยและรักสุขภาพ ชาวแคนาดาทุกวันนี้เริ่มหันมาศึกษาและบริโภคข้าวเพื่อสุขภาพ อาทิข้าวสีมากขึ้น ในอดีต ข้าวสี ข้าวกล้องเป็นเพียงสินค้ากลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) เท่านั้น แต่ทุกวันนี้ ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องของสำนักงานฯ ซึ่งทำทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ประกอบไปด้วย ผู้นำเข้า ห้างค้าปลีก และผู้บริโภค รวมถึงสื่อแขนงต่างๆ ทั้งสื่อดั้งเดิม และการใช้ influencer สร้าง content ผ่านสื่อ social media เน้นสร้างการรับรู้ (Awareness) ส่งเสริมภาพพจน์ข้าวสีไทยเพื่อสร้างและและกระตุ้นความต้องการการบริโภคข้าวสีไทยให้มากขึ้น ทำให้มีการวางจำหน่ายข้าวสีของไทยแพร่หลายมากขึ้นในตลาดแคนาดา
สถานการณ์ตลาดล่าสุดไตรมาส 4 ปี 2566 (เชิงลึก)
- ปี 2566 เป็นปีที่ตลาดสินค้าข้าวในแคนาดามีความผันผวนเนื่องจาก ปี 2565 เป็นปีที่ผู้นำเข้าต้องเผชิญกับปัญหา Supply Chain ค่าขนส่งทางเรือที่สูง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทำให้มีการเร่งการนำเข้ามากกว่าปกติในปี 2565 ทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 แคนาดานำเข้าข้าวลดลง เนื่องจากผู้นำเข้ามีข้าวอยู่ล้นสต็อกและแคนาดาเริ่มประสบปัญหาเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้มีการบริโภคชะลอตัว
- อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวมาแคนาดาในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้นำเข้าส่วนใหญ่สามารถระบายสต็อกสินค้าออกมาและเริ่มทยอยสั่งนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวในปี 2567 จะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติได้
- นโยบาย Immigration ของรัฐบาลแคนาดาที่เปิดรับคนต่างชาติย้ายถิ่นฐานมาแคนาดาที่เพิ่มขึ้นจาก 485,000 คนในปี 2566 ไปเป็น 500,000 คนในปี 2567 และมีแนวโน้มเปิดรับคนมากขึ้นทุกปี จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมาแคนาดาเนื่องจากข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารพื้นฐานที่สำคัญ และข้าวที่บริโภคในแคนาดาเกือบทั้งหมดมาจากการนำเข้าจากทั่วโลก รวมถึงไทย
- สถานการณ์โควิด ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้หันมาห่วงใยสุขภาพมากขึ้น เลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยข้าวสี โดยเฉพาะข้าวไรซ์เบอร์รี่และข้าวกล้องของไทย เป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับถึงคุณประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น
**************************************
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโทรอนโต
มกราคม 2567
อ่านข่าวฉบับเต็ม : รายงานตลาดข้าวในแคนาดา